ธรรมะเปิดโลก วันที่ 2 มิถุนายน 2558
ตอนที่ 46 **ผู้บารมีเต็ม**
ในเช้าของวันนี้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้เข้าเฝ้านอบน้อมต่อองค์พระบิดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านแล้วนั้น พระองค์ท่านได้ทรงเมตตาแสดงธรรมกลับมา กับพวกเราทั้งหลาย ดังนี้ว่า
- - - -
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การรวมความดีทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนครบ
-- สามารถทำให้พ้นทุกข์ ดับการเกิดได้ --
การที่เรารวบรวมตั้งแต่การมีเมตตา มีศีล มีการออกบวช ทำให้เรานั้นมีความอดทน อดกลั้น สิ่งต่างๆทั้งหลาย
ได้กล่าวมาในบารมีต่างๆทุกๆข้อ ที่รวมๆกันมาทั้งหมด เป็น 10 บารมีด้วยกัน
บุคคลผู้ใดที่มีจนครบถ้วน ตั้งแต่ การทำทาน การรักษาศีล การออกบวช การมีปัญญา มีความเพียร มีความอดทน มีสัจจะ มีอธิษฐาน มีเมตตา และมีอุเบกขา
ใครที่มีจนครบถ้วนทั้ง 10 ข้อนี้ จิตของคนผู้นั้นเขาย่อมมีพลังอยู่ในตัวของเขา สามารถนำพาจิตนั้น ขึ้นสู่จุดที่สูง ด้วยความดีทั้ง 10 อย่าง ที่เขานั้นได้สร้าง/ ได้สั่งสม/ ทำมา ย่อมสามารถทำให้เขานั้น > พ้นจากการเกิดได้
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. และการที่เราจะมีบารมี ทั้ง 10 ข้อที่กล่าวมา รวมมาเป็นข้อที่ 10 คือ รวมบารมีทั้ง 10 อย่าง มาจนครบ เป็นความดี ที่มาเป็นความดีที่เติมเต็มในจิตของเรานั้น-- เราสามารถสร้างสั่งสมข้ามภพข้ามชาติได้
ฉะนั้น จงอย่าตัดทอนกำลังของตนเอง โดยคิดว่า เราคงทำไม่ได้หรอก เรากระจอกขนาดนี้ ทุกยากลำบากขนาดนี้ > เราคงจะเป็นไปไม่ได้หรอก เราคงจะสั่งสมไม่ได้มากขนาดหรอก ...
บางครั้ง บางที การสั่งสมบารมีต่างๆมาในภพในชาติอาจจะมากแล้ว เพียงแต่ลูกนั้นยังต้องกลับมาเกิดในชาตินี้ เพื่อการชดใช้วิบากในบางส่วน และเพื่อการแสวงหาทางพ้นทุกข์ใน*ชาติสุดท้าย* ก็ได้
ฉะนั้น ลูกทั้งหลาย.. เราจะเป็นใคร เราจะอยู่ในฐานะอะไร เราจะเป็นคนรวย จะเป็นคนจน จะเป็นคนทุกข์ยากลำบากเพียงใดก็ตาม-- เราไม่อาจรู้ได้ว่า ภูมิจิตของเรานั้นสั่งสมอะไรมาไว้แล้วบ้าง
บางทีคนเรา ก็ไม่สามารถตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกได้.. เพราะมีสิ่งที่ละเอียดอ่อน และซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งที่มองเห็นนั้น
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. **การจะพ้นทุกข์ได้นั้น ต้องเจอกับความทุกข์ **
การที่เราเกิดมาและไม่เจอกับความทุกข์เลยนั้น อาจทำให้เรานั้นไม่เข้าใจในเหตุของทุกข์
หรือทุกข์อยู่ แต่ยังไม่สุด -- จึงไม่รู้จักทุกข์ จึงยังไม่เดินออกจากกองทุกข์นั้น
จงเปิดโอกาสให้แก่ตนเอง โดยการสั่งสมทาน รักษาศีล ภาวนา ทำจิตให้ตั้งมั่นในบารมีทั้งหมดนี้เถิด
ถึงแม้ว่าจะทำได้มาก /ได้น้อย ก็หมั่นทำ ฝึกฝนตนให้อยู่ในบารมีทั้งหมดนั้น
การที่ลูกทำความดี สั่งสมความเพียร สร้างสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันไป โดยไม่ย่อท้อนั้น.. อาจทำให้ลูกไปเชื่อมต่อบุญเก่า บารมีเก่าที่เคยได้ทำสั่งสมเอาไว้แล้วนั้น เพื่อมาค้ำหนุนจิตของลูก ให้พ้นจากความทุกข์จนได้
แต่การที่ลูกนั้นยังท้อใจอยู่ และตัดสินตนเองไป ตัดทอนกำลังตนเองไป -- โดยที่ตนเองนั้นคิดเอาเอง
และก็ยังไม่รู้เลยว่า มันเป็นแบบไหนกันแน่ในการมาเกิดคราวครั้งนี้
มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในจิต มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในชีวิตก่อนมาเกิด และหลังการตาย ...
> เราจงอย่าตัดทอนกำลังของตนเอง โดยการไม่สร้างเพิ่ม ไม่ทำต่อเลย..ลูกเอ๋ย
จงสร้าง สั่งสมเถิดลูก เพราะการทำต่อไปเรื่อยๆนั้น ไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรกับลูกเลย
หากเรามีของเก่าที่ได้สร้าง/ ได้ทำอยู่แล้ว ก็จะได้นำเอาสิ่งที่ทำไว้นี้ไปต่อจนเต็ม-- จนจิตของเราพ้นทุกข์ได้
หากว่าเราไม่ได้มีสิ่งที่ทำเอาไว้อยู่แล้ว เราก็จะได้ทำ ได้สร้างไว้ในชาตินี้เป็น”ครั้งแรก”
แม้เราอาจจะสั่งสมไม่พอ อาจจะสั่งสมไม่ครบ แต่เราก็สามารถเก็บเอาความดี เก็บเอาสิ่งที่สร้างสม /ทำไว้ในชาตินี้ ไม่ค้ำหนุนในชาติหน้า ภพต่อไป..
> ชีวิตของเราย่อมเจอกับความพ้นทุกข์ ในสักวัน…
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. ถ้าลูกเป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ต้องการพบกับความพ้นทุกข์.. ลูกจงเริ่มทำเถอะลูก
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพเป็นแบบไหนก็ตาม ให้ลูกนั้น >
เริ่มจากการทำทานเล็กๆ น้อยๆ ตามกำลังแห่งตน
เริ่มจากการรักษาศีล เล็กๆน้อยๆ ตามกำลังของตน
เริ่มจากการออกบวช เพื่อฝึกจิตแห่งตน ให้ห่างไกลจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย
ให้มองเห็นอีกโลกหนึ่ง คือ *โลกแห่งธรรม*
ฝึกเช่นนี้บ่อยๆเท่าที่จะมีเวลา อย่ามัวแต่ไปบอกว่า ”ไม่มีเวลา” เลย..ลูกเอ๋ย
เพราะการเกิดมา และไม่มีเวลาในการออกบวช //ในการฝึกฝนจิตแห่งตนนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ชีวิตเกิดมาครั้งหนึ่ง ให้แบ่งเวลาออกบวชบ้างเถิด ลูกเอ๋ย.. จะได้ไม่เสียชาติเกิดในการเกิดมา
เพราะการออกบวชเป็นสิ่งที่จะดับความทุกข์ในเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ หรือชีวิตหลังความตาย
ฝึกมีปัญญา รู้เท่าทันสรรพสิ่งที่มี/ ตั้งขึ้นอยู่ / และดับไป เห็นความไม่ดีไม่งาม ที่ซ่อนอยู่ ซ้อนอยู่ เบื้องหลังสิ่งหลอกลวงทั้งหลาย เพื่อเรานี้จะได้มีสติปัญญา รู้ทัน และจะได้ไม่หลง -- ไม่เป็นทุกข์กับมัน
มีความเพียร ความเพียรทำให้เรานั้นขยันขันแข็ง ในการทำสิ่งต่างๆทั้งหลาย
ฝึกฝนความอดทน ความอดทน เป็นสิ่งที่ทำให้เรา สามารถฟันฝ่า ผ่านพ้นทุกสิ่งทุกอย่างไปได้ด้วยดี
สัจจะ เป็นสิ่งที่ทำให้เรานั้น เป็นคนน่าเชื่อถือ
อธิษฐาน เป็นจุดมุ่งหมายที่เราได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ว่าจะไปให้ถึงยังจุดนั้น
เมตตา เป็นสิ่งที่เราได้ทำความดี และจะมีความดีเกิดขึ้นกับเรา คือ ได้รับความเมตตาจากสิ่งอื่น// จากผู้อื่น
ด้วยความมีเมตตาของเรา
อุเบกขา คือ สิ่งที่ทำให้เรารู้จักการวางเฉย มีขอบเขตของการที่จะทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีการวางเฉย จะได้ไม่มากเกินไป และจะได้อยู่ในกรอบของการเดิน *ทางสายกลาง*
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. คนเราเกิดมา ถ้าเราพยายามรักษาบารมีทั้ง 10 ข้อนี้ ..
ไม่ว่าจะรักษามาก หรือจะรักษาน้อย
ไม่ว่าจะเพิ่งหัดรักษา หรือเพิ่งศึกษา
ก็ขอให้เริ่มต้นในการทำเถิด ลูกเอ๋ย .. เพราะว่าหากเราสามารถมีทั้ง 10 อย่างนี้ อยู่ในตัวของเรา
.. ย่อมสามารถทำให้เรานั้น เป็นคนที่ “อยู่เหนือคนได้”
.. ย่อมสามารถทำให้เรานั้นเป็นคนที่ “ดับการเกิดได้”
และการที่เราจะทำบารมีเหล่านี้ให้เต็ม ไม่ใช่จะต้องทำทานมากมาย
แต่ให้จิตของเราน้อมถึง
**การทำทาน**อยู่ตลอดเวลา
ให้จิตของเรารู้จักการให้ทานเล็กๆน้อยๆ สม่ำเสมอ ให้การทำทานอยู่ในจิตของเราเสมอ
-- อันนั้น คือ การทำทาน หรือบารมีในการทำทานนั้นเต็ม-- เต็มอยู่ในจิตของเราอยู่ตลอดเวลา --
เมื่อเรามีอะไร เราก็ทำทาน เท่าที่เราพอจะทำได้ / พอจะทำไหว
แต่ไม่ใช่ จะต้องไปแบกของมาทั้งภูเขา เพื่อให้เราได้ทำทานมากๆให้เต็ม ไม่ใช่เช่นนั้น อย่างนั้น.. ลูกเอ๋ย
การทำทานให้เต็มบารมีนั้น คือ ฝึกฝนจิตของเราให้รู้จักการทำทาน และการทำทานนั้นก็อยู่ในจิตในใจของเราตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสก็จะทำตลอด
-- นั่นคือ บารมีเต็มในการทำทาน --
** การรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นศีลข้อไหนก็ตาม ถ้าเกิดเราได้สมาทานไปแล้ว
เรามีจิตใจที่ตั้งมั่นในศีลข้อนั้น..ไม่ละเมิด
.. ตั้งใจ คือ เจตนาทำผิด ในศีลข้อนั้น..
-- อันนั้นก็ คือ บารมีจากการรักษาศีลของเราเต็ม--
การออกบวชที่จะทำให้เรามีบารมีในข้อนี้จนเต็มนั้น เราก็สามารถฝึกได้ตั้งแต่ อธิษฐานจิตไปถือศีลแปด
3 วัน 7 วัน 9 วัน-- และเราก็ทำเต็มนั้น
เมื่อครั้งไหนๆที่เราต้องการออกบวช เราก็ทำเต็มที่ เต็มกำลัง..ในกิจของนักบวชทุกอย่าง
เราทำความเพียร และปฏิบัติตามนั้น จนกว่าเราจะเข้าถึงการออกบวชอย่างแท้จริง
นั่นก็คือ การที่เรามีจิตใจที่นึกถึงการออกบวช และรักษาการออกบวชไว้ในจิตของเราเสมอ
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เราจะระลึกนึกถึง ว่าการออกบวช เป็นเช่นนี้ เป็นอย่างนั้น
เมื่อถึงเวลา ฉันจะต้องออกบวชให้ได้
-- และนั่นก็คือ บารมีในการออกบวช เติมเต็มอยู่ในจิตของเราเอง --
การมีปัญญา.. มีปัญญานั้น ต้องฉลาด ต้องรู้แจ้งสรรพสิ่งนั้นหรือ.. จึงจะเป็นบารมีของการมีปัญญาเติมเต็ม ?
** การมีปัญญา ก็คือ การมีสติ “การมีสติ ในทุกอย่างที่ทำ” ก็คือ การมีปัญญา
การที่เราจะมีปัญญาเติมเต็มในตัวของเรา และบารมีข้อนี้จะเต็ม
ก็ต่อเมื่อเราทำอะไรก็ตาม เราจะมีสติอยู่ตลอดเวลา …
ว่าทำสิ่งนี้ไปดีหรือไม่ พูดคำพูดนี้ออกไปดีหรือไม่
... กระทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องใช้สติ ใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาทุกครั้งเสมอไป
-- นั่นคือ การมีปัญญา และปัญญาเต็มในตัวของบุคคลผู้นั้น--
แต่ไม่ใช่ต้องฉลาด รู้รอบโลก ไม่ใช่เช่นนั้นเลย
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การที่เราจะมีปัญญานั้น เราแค่มีสติ อยู่ในทุกการกระทำ
-- แค่นั้น คือ *มีปัญญา* --
และเราก็จะ..
> ไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาด
> ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี
>ไม่ทำในสิ่งที่เป็นความหลง
-- นั่นคือ *มีปัญญา*--
** ความเพียร เราต้องเป็นคนขยันทำงานตลอดเวลา อย่างนั้นหรือ ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก.. ลูกเอ๋ย
การที่ความเพียรของเราจะสมบูรณ์นั้น ความเพียรของเรานั้นจะเต็ม คือในใจของเรามีความพยายามพากเพียรในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราได้ตั้งมั่นเอาไว้แล้ว เราก็ทำไปตามเหตุ ตามปัจจัย และก็ทำไปตามกำลังที่เราพอไหว ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดหายไปไหน
จิตของเรามีความเพียรอยู่ตลอดเวลา
ถ้าไม่ทำด้วยกาย ก็ทำด้วยใจ เช่นหลับตาภาวนา นึกถึงความดี
ลืมตาขึ้นมา อาจจะไปประกอบกิจทำงานอย่างอื่น แต่ในใจของเรามีความเพียรอยู่ตลอดเวลา
-- อันนั้น คือ บารมีแห่งความเพียรนั้นเติมเต็ม --
** ความอดทน เราต้องอดทนทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างนั้นหรือ ? ความอดทน ถึงจะเติมเต็มหรือ ?
ความอดทนนั้น ไม่จำเป็นหรอกลูกที่เราจะต้องไปสู้ ไปทน ไปลำบากแค่ไหนก็ต้องทน-- ไม่ใช่เช่นนั้นหรอกลูก
การที่เราจะมีบารมีในความอดทนนั้น.. ให้เราสามารถที่จะเต็มในบารมีของความอดทนนั้น
.. เพียงแค่ให้เรารู้จักอดทนในสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ตามชะตากรรมของเราต่างหาก
แต่ไม่ใช่อดข้าว 10 วัน เราก็อดทน .. ไม่ใช่เดินขึ้นดอย 10 ลูก เราก็อดทน
ไม่ใช่เช่นนั้น..ลูกเอ๋ย
ความอดทน คือ การที่เรามีความหนักแน่น อดทน
/ กับเสียงที่โดนว่า
/ กับสิ่งที่โดนด่า
/ กับสิ่งที่ถูกกระทำกับชีวิตของตน ที่ต้องผ่านพ้นเผชิญไป
/ กับความทุกข์ยากลำบากที่เข้ามาในชีวิตของตนต่างหาก
-- นั่นคือ ความอดทน บารมีของความอดทนนั้น เต็มเปี่ยม --
** สัจจะ.. การรักษาสัจจะนั้น จะเต็มได้อย่างไร
การรักษาสัจจะเต็มนั้น >
.. ขึ้นอยู่ว่ากับใจของเรา เคยคิดที่จะผิดสัจจะกับใครหรือเปล่า
.. ขึ้นอยู่กับว่า ในใจของเราตั้งมั่นในการมีสัจจะหรือเปล่า
.. ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เราระลึกนึกถึงการมีสัจจะอยู่เสมอหรือเปล่า
.. ก่อนที่จะไปรับปากใคร เรานึกหรือเปล่าว่าเราจะเสียสัจจะไหม ถ้าทำไม่ได้
ก่อนที่เราจะทำอะไรไป ตั้งสัจจะอะไร-- เราควรมีความคำนึงถึงอยู่ตลอดว่า มันจะเป็นไปได้ไหม เราจะทำได้หรือเปล่า และตั้งสัจจะอยู่ในใจของเรา --ไม่เคยเจตนาที่จะผิดพลาดในสัจจะนั้น
และไม่ปล่อยให้การผิดสัจจะเกิดขึ้นกับเราบ่อยๆ โดยการไม่พิจารณาของเรา
-- อันนั้น คือ การรักษาสัจจะของเราให้เต็มครบบริบูรณ์ อยู่ในตัวของเรา --
**อธิษฐาน-- บารมีของการอธิษฐานนั้น จะเต็มได้อย่างไร ?
บารมีของการอธิษฐานจะเต็มได้ ก็ต่อเมือเรานั้นได้ตั้งใจว่า
- จะทำสิ่งนั้น และเราก็ทำได้
- จะทำสิ่งนี้ และเราก็ทำได้
-- นั่นคือ การอธิษฐานจะสมบูรณ์ --
และการตั้งจิตอธิษฐาน ขอบเขตที่เราวางเอาไว้ว่าจะไปให้ถึง
แต่เราก็จะพยายามทำทุกอย่าง เพื่อที่เราจะไปถึงในสัจจะ ในอธิษฐานที่ได้ตั้งจิตเอาไว้
พยายามสร้าง และทำความเพียร ทำความดี ให้ไปถึงยังจุดที่เราอธิษฐานไว้นั้น
เป็นสิ่งที่เราจะสามารถเข้าไปถึง การเต็มในบารมีของการอธิษฐานได้
และการอธิษฐานนั้น--ไม่ใช่แต่เพียงชาติใดชาติหนึ่ง และต้องไปให้ถึง
คือ การที่เราตั้งอธิษฐานไว้แล้ว และเราสามารถสั่งสมความดี จนกว่าจะไปถึง
> ไม่มีเวลาในการจำกัดขอบเขตของการอธิษฐานนั้น
.. เพียงแค่ให้เราสร้างสิ่งที่ดีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ...
และอธิษฐานจากเรื่องเล็กๆ จนแน่ใจแล้วว่าสำเร็จได้ในบารมีของการอธิษฐานนั้น
แล้วจึงอธิษฐานในสิ่งที่ใหญ่มากเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ
ในจิตของเรายังหนักแน่นในคำอธิษฐานของเรานั้นอยู่เสมอ
-- นั่นคือ บารมีของการอธิษฐานนั้น เติมเต็ม --
** เมตตา -- การมีเมตตา จะเต็มได้อย่างไร ?
ดูที่จิตของเรา ลูกเอ๋ย.. อย่าไปดูที่การช่วยเหลือผู้อื่น !
* ในใจของเรามีความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกหรือเปล่า ?
* มีความเมตตา อิ่มล้นอยู่ในจิตของเราสม่ำเสมอหรือเปล่า ?
* ช่วยเหลือทุกคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ตามกำลังที่จะช่วยได้แล้วหรือเปล่า ?
* เห็นใครรู้จักสงสารมีเมตตาช่วยเหลือเขาหรือเปล่า ?
* แม้แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย เรามีความเมตตาต่อเขาหรือเปล่า ?
และจิตของเรามีความเมตตาอย่างล้นเหลือ และยินดีที่จะยื่นมือเข้าช่วยเขาเหล่านั้น ตามกำลังแห่งตน
-- อันนั้น คือ การมี*เมตตา* --
แต่ไม่ใช่การที่เราจะต้องไปวิ่งช่วยคนที่ทุกข์ยากลำบากทั่วโลก ให้ได้ทุกคน.. ไม่ใช่อย่างนั้น
< แต่เป็นการที่เรามีความเมตตาอยู่ในเรา อย่างสม่ำเสมอ >
.. ต่อไป ..
การมี **อุเบกขา-- การมีความวางเฉย
คนเรา หากว่าเราทำบารมีทั้งหมดนี้ จนเติมเต็มในจิตของเราแล้ว
เราก็ควรจะวางเฉยในบางครั้ง-- คือปล่อยให้เป็นตามเหตุ ตามปัจจัย
ไม่ใช่ไปทำเกินขอบเขต หน้าที่ จนทำให้เราเป็นทุกข์
หรือไม่ใช่ว่าเราจะวางเฉย นิ่งกับทุกสิ่งทุกอย่าง..โดยการไม่ทำอะไรเลย
เราควรปล่อยใจไว้เป็นกลางๆ พิจารณาตามเหตุ ตามปัจจัย มีเมตตา แต่อยู่ในกรอบของ”ความพอดี”
มีความช่วยเหลือผู้อื่น มีความเพียร ความอดทน มีทุกอย่างเลย การทำทาน รักษาศีล
... แต่ท้ายที่สุด เราก็ต้องมีการ *อุเบกขา* คือ วางเฉย ตามเหตุ ตามปัจจัย ของมัน ...
การที่เรารักษาอุเบกขา ให้เติมเต็มอยู่ในจิตของเรานั้น-- ที่จะทำให้เราไม่ทำสิ่งใด จนเกินคำว่า “ทางสายกลาง”
เมื่อเรารักษาคำว่า *อุเบกขา* ได้ เราก็จะสามารถอยู่ในของความกลางๆ
ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยการมีเบรก..
> เมื่อมีเบรกแล้วย่อมสามารถทำให้เป็นไปเช่นนั้น เช่นนี้ ตามใจตนได้
-- ไม่พาให้ร่วงขอบถนน
-- ไม่พาให้ตกทุกข์ได้ยาก
ฉะนั้น การมีอุเบกขา ควรมีอยู่ในจิตของเราด้วย นั่นคือ การที่เรามีอุเบกขา
บารมีนั้นเกิดขึ้น/ มีอยู่ในเรา
บารมีทุกข้อที่เราจะรักษาทั้งหมดนั้น “อยู่ที่เรา” ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งภายนอก
- ให้จิตของเรา มีอยู่ในเราเสมอ
- ให้จิตของเรารู้ นึก คิด ปลูกฝังเอาไว้ในเรา
< นั่นแหละ คือการมีบารมีทั้งหมดที่กล่าวมา >
-- เมื่อรวมบารมีทั้งหมดนี้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ก็จะได้รับความพ้นทุกข์.. พ้นการเกิด --
สาธุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น