วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การนอนหลับ กับ การทำสมาธิ คลื่นสมองต่างกันอย่างไร


การนอนหลับ กับ การทำสมาธิ  คลื่นสมองต่างกันอย่างไร


ในเอ็นทรี่ที่ผ่านมา ได้เคยเสนอเรื่อง "การพักผ่อนที่ดีกว่าการนอนหลับ  
และการหาความสุขทันใจนึก"  นั้น  เป็นการนำเสนอในแง่ธรรมะ ในครั้งนี้  
ลองมามองในแง่วิทยาศาสตร์ดูบ้าง  เพื่อให้มองในแง่สมดุล  ส่วนจะต่าง
กันไปบ้าง ก็ไม่มีปัญหาอะไร  

การพักผ่อนที่ดีกว่าการนอนหลับ และการหาความสุขทันใจนึกนั้น  สรุป
โดยย่อที่สุด  ก็คือ  การทำอานาปานสติ หรือสติกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก
นั่นเอง

***

ในแง่วิทยาศาสตร์ จะมีการวัดคลื่นสมองเปรียบเทียบ ระหว่างการนอนหลับ
และการทำสมาธิ   แต่ก่อนที่จะมีการวัดคลื่นสมอง  มาทำความเข้าใจ
เรื่องคลื่นสมองกันก่อนสักเล็กน้อย  ดังนี้  


คลื่นสมองของคนเราจะอยู่ในรูปของความถี่แบบผสม  ปกติจะมีอยู่ 4 คลื่น

ด้วยกัน คือ คลื่นเบต้า (Beta wave), คลื่นอัลฟา (Alpha wave), 
คลื่นธีต้า (Theta wave) และคลื่น เดลต้า (Delta wave)  ซึ่งคลื่น
เหล่านี้มีการทำงานที่แตกต่างกัน


1.  คลื่นเบต้า (Beta wave)

เป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้นในสภาวะปกติทั่วไป ในสภาวะปกติสมองจะรับ
ข้อมูลต่าง ๆ จากภายนอกเป็นจำนวนมาก จนถึงก่อให้เกิดความสับสน 
วุ่นวาย คลื่นสมองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะมีความถี่สูง เรียกคลื่นสมอง
ช่วงนี้ว่า "คลื่นเบต้า" (Beta Wave)  ซึ่งมีความถี่ประมาณ 13-40 รอบ
ต่อวินาที ยิ่งความถี่ของคลื่นสมองสูงขึ้นไปมากเท่าไร จิตใจของเราก็
จะวุ่นวายสับสนมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น รูปร่างของคลื่นเบต้ามีลักษณะคล้าย
เส้นกราฟที่ขยุกขยิกขึ้น-ลง ขึ้น-ลง สลับกัน คล้าย ๆ เวลาเราลากเส้น
สลับฟันปลานั่นเอง 

ถ้าสมองมีเรื่องต้องคิดวุ่นวายมาก เส้นกราฟจะขยุกขยิกมากด้วย ภาวะ
เช่นนี้จะรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ประสิทธิภาพในการคิดตัดสินใจไม่ดี 
ยิ่งคลื่นสมองยิ่งสูง ยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบได้มากเท่านั้น คนที่ไม่ฝึก
สมาธิ จะมีคลื่นสมองเบต้า (Beta wave) มากกว่าคนที่ฝึกสมาธิ

2.  คลื่นอัลฟา (Alpha wave)

เป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้นในสภาวะของคนที่มีจิตใจสงบเยือกเย็น เรียกว่า 
"คลื่นอัลฟา" (Alpha Wave) ซึ่งมีความถี่ประมาณ 8-13 รอบต่อวินาที 
มีจังหวะที่ช้ากว่า มีขนาดใหญ่กว่าและมีพลังงานมากกว่าคลื่นเบต้า 
(Beta wave)  รูปร่างของคลื่นอัลฟามีลักษณะคล้ายรูปลูกคลื่น ไม่ขยุกขยิก
เหมือนคลื่นเบต้า คลื่นอัลฟานี้ช่วยทำให้ความสับสนวุ่นวายในสมองลดลง 
จิตใจจึงสงบและเยือกเย็นขึ้น ซึ่งพร้อมทีจะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมี
ประสิทธิภาพ

3.  คลื่นธีต้า (Theta wave)

เมื่อคลื่นอัลฟาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นคลื่นที่มีจังหวะช้าลง ๆ แต่กลับมีพลังงาน 
สูงขึ้นๆ ถ้าคลื่นสมองของคนเรามีความถี่ 5-7 รอบต่อวินาที จะส่งคลื่น
ธีต้า (Theta wave)  ออกมา  คลื่นธีต้า เป็นคลื่นสมองชนิดหนึ่งซึ่งจะ 
ปรากฏตัวขึ้นมาเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแว่บเดียวเท่านั้น เป็นแว่บสุดท้าย 
อยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น  และเมื่อหลับแล้วจริงๆ คลื่นสมองจะ
ปรากฏไปอีกแบบหนึ่งซึ่งจะแตกต่างจากคลื่นธีต้า (Theta wave)

4.  คลื่นเดลต้า (Delta wave)

เป็นคลื่นที่เกิดขึ้น ในสภาวะของคนนอนหลับ เป็นคลื่นสมองที่มีความถี่
ของสมองที่ต่ำที่สุด แต่มีพลังงานสูง จะอยู่ระหว่าง 4 รอบต่อวินาที 
จนถึงนิ่งเป็นเส้นตรง ระหว่างนี้ สมองของคนเรา จะส่งคลื่นเดลต้า 
(Delta wave) ออกมา


ภาพกราฟคลื่นสมอง



ที่มา :  เว็บไซต์  http://www.expert2you.com/view_article.php?
art_id=2594  เรื่อง : คลื่นสมอง 4 ชนิด ในสมองซีกซ้ายและขวา ก่อเกิด
การเพิ่มพลังจิตให้มีระดับสูงขึ้น  บทความโดย  mikayu  เมื่อวันที่ 5 ก.ย.
2548

***

คลื่นสมองของคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิและคนที่ฝึกสมาธิ    


พระธรรมวิสุทธิกวี  ได้บรรยายไว้ในหนังสือ "รู้ตัว รู้ใจ ก็ไปนิพพาน
ทางแห่งความสุข"  ว่า  

ในการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าสมาธิขั้นต่างๆนั้น ปรากฏ
ออกมาเป็นคลื่นสมอง เขาเปรียบเทียบคลื่นสมองไว้เป็น 5 คลื่นใหญ่  
คือ

1. คลื่นเบต้า คือ คลื่นสมองของคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิ
2. คลื่นอัลฟา คือ คลื่นสมองของคนที่เริ่มฝึกสมาธิ
3. คลื่นเธต้า คือ คลื่นสมองของคนที่จิตสงบเข้าไปมากจนถึงขั้น
    เกือบจะเป็นอุปจารสมาธิ
4. คลื่นเดลต้า คือ คลื่นสมองของคนที่มีจิตสงบมากขึ้น และ
5. คลื่นคอสมิก คือ คลื่นสมองของคนที่มีจิตใจสงบมากเป็นสมาธิ ขั้นสูง      
    ซึ่งบางท่านบอกว่าถึงขั้นอัปปนาสมาธิทีเดียว

***

อาจารย์เกียรติวรรณ  อมาตยกุล ได้ให้ความรู้ไว้ในหนังสือ "คิด-ทำ ด้าน
บวก" เป็นแนวคิดนีโอฮิวแมนนิส  ไว้อย่างน่าสนใจ  ว่าจะต้องพยายาม
มีคลื่นสมองต่ำอยู่เสมอ  

“ต้องมีคลื่นสมองต่ำอยู่เสมอ” เป็นมุมมองตามพื้นฐานความเชื่อบนแนวคิด
นีโอฮิวแมนนิส กล่าวว่า คนเราแตกต่างจากการทำงานของเครื่องจักร เนื่อง
จากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นผลมาจากความสุขและความรักในการที่
จะกระทำต่อสิ่งนั้น โดยขณะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสมองของคนเราจะมีการส่ง
คลื่นสมองที่แตกต่างกันตาม อารมณ์ ความรู้สึก ความทุกข์ ความสุขของเรา 
แนวคิดนีโอฮิวแมนนีสจึงให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับคลื่นสมอง 
โดยคลื่นอัลฟาหรือช่วงคลื่นสมองต่ำจะมีประโยชน์ต่อคนเรา เพราะสมอง
จะ ส่งคลื่นที่มีพลังสูง กว้าง ลึก ช้า สงบ ออกมา ส่งผลให้สมองซีกซ้าย 
และซีกขวาทำงานอย่างสมดุล ร่างกายและจิตใจจะมีความผ่อนคลายสูง 
ไม่มีความวิตกกังวลหรือความเครียด ระบบการทำงานของอวัยวะภายใน
ของร่างกายทำงานได้ดีที่สุด   การกระทำภารกิจของคนเราก็จะมี
ประสิทธิภาพสูงสุด ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดด้านบวก
จะสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากเข้าสู่สภาวะอัลฟาหรือคลื่นสมองต่ำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรา
เข้าสู่สภาวะอัลฟาหรือคลื่นสมองต่ำได้ง่ายขึ้นหรือเคยชินมากขึ้นการผ่อนคลาย (Relaxed) ที่จะทำให้เราสามารถเข้าสู่สภาวะอัลฟาหรือ
คลื่นสมองต่ำได้ง่าย ประกอบด้วย 

1) เสียงเพลงที่มีคลื่นสมองต่ำ เพื่อสร้างบรรยากาศและปล่อยจิตใจให้
    ล่องลอยไปตามเสียงเพลง 
2) หลับตา 
3) การหายใจลึก ๆ ช้า ๆ ให้เต็มปอด 
4) การสั่งให้ทุกส่วนของร่างกายผ่อนคลาย และ 
5) การอยู่ใกล้กับธรรมชาติหรือการจินตนาการถึงธรรมชาติ 


ดังนั้นเราสามารถนำแนวคิดนีโอฮิวแมนนิสเกี่ยวกับการมีคลื่นสมองต่ำ
ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยที่ผลต่อคลื่นสมองต่ำของคนเรา 
คือ การนั่งสมาธิ การทำโยคะ  อาหาร  คำพูด และคนรอบข้าง 

จากพื้นฐานความเชื่อบนแนวคิดนีโอฮิวแมนนิส เป็นการนำประโยชน์ของ
สิ่งที่มีอยู่ภายในตนของเรามาเป็นตัวช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันให้มี
ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่วนของสมองของเราที่จะมีการส่งคลื่นสมอง
ออกมาขณะที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามอารมณ์ ความรู้สึก ความทุกข์ 
และความสุขของเรา มากำหนดตัวเราเองหรือควบคุมตัวเราเอง ถือเป็น
แนวคิดที่ถูกต้องตามสำนวนไทยที่กล่าวว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”
สมองหรือจิตเป็นตัวกำหนดหรือควบคุมการแสดงออกของอารมณ์และ
ร่างกาย เช่น เมื่อใดที่เรามีอารมณ์โกรธ มักจะแสดงออกมาทางสีหน้า
ท่าทาง อันเป็นผลมาจากการตอบสนองที่จิตใจและสั่งการสมองให้ออก
แสดงพฤติกรรมออกมา 

การทำให้คลื่นสมองต่ำอยู่เสมอ จะทำให้เรารับรู้ตัวตนของเราให้มีสติ
อยู่ตลอดเวลา และมีความผ่อนคลายจากสภาวะแวดล้อมอันเกิดจากการ
ดำรงชีวิตประจำวันของตัวเรา 

ประโยชน์จากการมีคลื่นสมองต่ำอยู่เสมอ จะทำให้ตัวเราสามารถผ่อน
คลาย จิตใจและร่างกายอันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและการ
ดำรงอยู่ของชีวิต การฝึกจิตให้มีสมาธิจนเกิดจากคลื่นสมองต่ำ เป็นวิธี
ที่ง่ายที่สุดที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา และชนะอุปสรรคในการดำเนิน
ชีวิตแต่ละวันของบุคคล เมื่อเราปฏิบัติบ่อย ๆ สม่ำเสมอ จะส่งผลต่อ
คลื่นสมองของตัวเราและส่งคลื่นสมองต่ำให้บุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น
พ่อแม่ พี่น้อง แฟน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน โดยช่วยให้บุคคลรอบข้าง
ค่อย ๆ พัฒนาให้มีคลื่นสมองต่ำเช่นเดียวกับเรา จะทำให้บุคคลรอบข้าง
เหล่านั้นสามารถผ่อนคลายและหาความสุขในชีวิตประจำวันด้วยวิธี
ประหยัดง่าย ๆ ที่สามารถทำได้เอง ซึ่งส่งผลยิ่งใหญ่ต่อการอยู่ร่วมกัน
ในสังคม ที่จะมีแต่ความสุข โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากตัวเราและคน
รอบข้างที่ส่งผ่านความสุขและความดีต่อสังคม

***

คราวนี้  เราลองมาเปรียบเทียบระหว่าง  การนอนหลับ กับ การทำสมาธิ
คลื่นสมองต่างกันอย่างไร    กรุณาดูตารางแสดงระดับคลื่นความถี่สมอง   


ตารางแสดงระดับคลื่นความถี่สมอง


ที่มา :  เว็บไซต์ศูนย์พัฒนาพลังชีวิต  http://www.powerlifecenter.com/
          เรื่อง ศิลปะการบำบัดชั้นสูงจากยุคโบราณ  

จะเห็นได้จากตารางข้างต้น ว่า    การนอนหลับลึก  (Deep Sleep)
คลื่นสมองเป็นคลื่นเดลต้า  ส่วนการทำสมาธิ  (Meditation)  คลื่นสมอง
เป็นคลื่นเธต้า   

ที่จริงแล้ว  การนอนหลับก็มีหลายระดับ  เช่น  การนอนหลับ ขั้นตอนที่ 1,
การนอนหลับ ขั้นตอนที่ 2,  การนอนหลับ ขั้นตอนที่ 3  (Delta Sleep) 
หรือหลับลึก  และขั้นตอนที่ 4  (Rem Sleep)  
ส่วนการทำสมาธิ ก็มีหลายระดับ  เช่น  ขณิกสมาธิ  อุปจารสมาธิ  และ
อัปนาสมาธิ  
(ตามตารางข้างต้น  ไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าเป็นสมาธิในระดับใด แต่ระบุ
การนอนหลับ เป็นการนอนหลับลึก)

จึงเพียงให้ทราบข้อมูลตามตารางในเบื้องต้นก่อนเท่านั้น

***

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิระ  บุณยะรัตเวช  ศัลยกรรมประสาท
โรงพยาบาลรามคำแหง  ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับที่ปกติ
ที่น่าสนใจ ไว้ดังนี้

การนอนหลับที่ปกตินั้น หมายถึงการนอนหลับรวดเดียวตลอดทั้งคืน และ
เมื่อตื่นขึ้นจะแจ่มใส สดชื่น พร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ ระยะ
เวลาของการนอนหลับในหนึ่งคืนนั้น โดยเฉลี่ยประมาณ 6-9 ชั่วโมง ซึ่งจะ
แตกต่างไป แล้วแต่ตัวบุคคล บางคนนอนเพียง 6 ชั่วโมงก็เพียงพอ บางคน
อาจจะต้องการ การนอนหลับถึง 9 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำ
วิจัยเรื่องการนอนหลับเห็นพ้องต้องกันว่า ระยะเวลาของการนอนหลับนั้น
ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการนอนหลับ ซึ่งโดยปกติจะประกอบขึ้นด้วย
สองระยะที่สลับกันไปมาทั้งคืน คือ rem sleep และ non-rem sleep ถ้า
หากระยะทั้งสองอย่างนี้มีอัตราส่วนที่เหมาะสมก็นับว่าเป็นการนอนหลับที่ปกติ
Rem (เร็ม) นั้นย่อมาจาก rapid eye movement ซึ่งหมายถึง การกลอกตา
ทั้งสองข้างไปมาอย่างรวดเร็วในขณะนอนหลับ ส่วน non-rem sleep นั้นคือ 
การนอนหลับในระยะที่ลูกตาสองข้างไม่กลอกไปมา ทั้งสองระยะนี้จะสลับ
กันไปมาคืนละหลายครั้ง เรายังไม่ทราบว่าหน้าที่ที่แท้จริงของ rem นั้นคือ
อะไร แต่พบว่ามันมีความสำคัญมากต่อสุขภาพของสมอง    

คนเราต้องการการนอนหลับทั้งสองชนิดด้วยอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกาย 
และสมองได้พัก ได้จัดระบบใหม่ เตรียมพร้อมที่จะทำงานวันรุ่งขึ้นต่อไป
การนอนไม่หลับนั้น อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวได้กับทุกคน แต่ถ้า
เกิดนอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอ เป็นระยะเวลานานแล้วไม่แก้ไข อาจจะทำ
ให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ภายหลัง

ผู้ที่นอนไม่หลับ หรือหลับไม่ปกติที่เป็นเรื้อรังมานาน จะมีหน้าตาไม่แจ่มใส 
ดูแก่กว่าอายุจริง ไม่มีสมาธิต่อการปฏิบัติหน้าที่ หงุดหงิด สัมพันธภาพต่อ
คนทั่วไปไม่ดี ซึมเศร้า เบื่อชีวิต เบื่อการดำเนินชีวิต

***

จึงสรุปได้ว่า  คนเราควรที่จะนอนหลับพักผ่อนให้ได้เพียงพอ  และควรจะ
นอนอย่างมีคุณภาพ  คือ  นอนหลับลึก  ในจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอด้วย
หากนอนน้อย  ก็ควรหาเวลานอนชดเชย  หรือชดเชยด้วยการทำสมาธิ  
การนอนงีบ ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ  ก็ตาม  เป็นต้น  

ในโอกาสปกติ  ก็ควรทำสมาธิเป็นประจำ  หรือการหาวิธีทำให้คลื่นสมอง
ต่ำอยู่เสมอ  ก็จะเป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมประสิทธิภาพในการดำเนิน
ชีวิตได้เป็นอย่างดี  ตามวิธีดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
     

--------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง :  1. พระธรรมวิสุทธิกวี. รู้ตัว รู้ใจ ก็ไปนิพพาน ทางแห่งความสุข.      
                 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณ, 2551   
             2. เกียรติวรรณ  อมาตยกุล. คิด-ทำ ด้านบวก. กรุงเทพฯ : 
                 ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, 2545.

ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/surasakc/2009/05/17/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น