การรักษาที่จิตใจอาจเป็นวิธีรักษาโรคร้ายทางกาย อย่างโรคหัวใจหรือมะเร็งที่ได้ผลชะงัด
Bill Valvo รู้สึกได้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติมากๆ กำลังเกิดขึ้นกับสุขภาพของเขา เขาทำงานอยู่ในบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ใน Fairfax, Virginia มา 10 ปี หลังจาก รับราชการในกองทัพอากาศสหรัฐฯ มาถึง 22 ปี และรู้สึกว่าทนรับแรงกดดัน ต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว "ผมเลยลาออกมาทำธุรกิจของตัวเอง" Valvo ซึ่งขณะนี้อายุ 55 ปีเล่า
"แต่ผมยังคงรู้สึกได้ว่า ความเครียด ทั้งหมดที่ผมผจญมานานหาได้หมดไปไม่ แต่กลับกำลังส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายผม" เขาคิดถูก Valvo เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และต้องเข้ารับการผ่าตัด bypass เมื่อปี 1999 หลังจากการผ่าตัด เขาก็เริ่มมีอาการซึมเศร้า จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด บางครั้งอาการก็จะหายไป แต่แล้วก็จะกลับมาเป็นใหม่อีก สุดท้ายแพทย์ได้ให้ยาต้านอาการซึมเศร้า แก่เขา ซึ่งไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าของเขาได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ Valvo สามารถเปลี่ยนวิธีคิด และมุมมองต่อ ความเจ็บป่วย และสุขภาพเสียใหม่ "การผ่าตัดหัวใจทำให้ผมกลายเป็นโรคซึมเศร้าอย่างนั้นหรือ?"
เขาเขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารของ Mended Hearts ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนไข้โรคหัวใจและครอบครัว "หรือว่าโรคซึมเศร้าต่างหากที่ทำให้ผมเป็นโรคหัวใจ?" คำตอบอาจเป็นใช่ทั้งสองคำถาม
เพียง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ แพทย์อาจลงความเห็นว่ากรณี ของ Valvo เป็นเคสพิเศษของอาการเจ็บป่วยในยุค New Age เท่านั้น แต่มาถึงวันนี้ ความเจ็บป่วยแบบ Valvo ได้กลายเป็นสิ่งที่ วงการแพทย์ให้ความสำคัญเป็นกระแสหลัก
ขณะนี้ทั้งแพทย์และคนไข้ต่างเริ่มตระหนัก กันแล้วว่า สภาพของจิตใจกับการอยู่ดีมีสุขของร่างกาย มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด มาก ร่างกายที่ไม่แข็งแรง อาจทำให้จิตใจ เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาได้ และเช่นเดียวกัน จิตใจที่เจ็บป่วยก็อาจ ก่อให้เกิดโรคทางกาย หรือซ้ำเติมโรคทางกาย ที่เป็นอยู่ให้เลวร้ายลงได้ และการรักษาจากด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจสามารถส่งผลดีต่ออีกด้านหนึ่งได้
ร่างกายและจิตใจของเรา เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น สิ่งที่เราเรียกว่า เป็นความรู้สึกแท้จริงแล้ว เป็นปฏิกิริยาทางชีวเคมี ที่เกิดขึ้น ในสมองของเรา กล่าวคือ เกิดจากการทำปฏิกิริยาต่อกันที่ซับซ้อนในระดับเซลล์ระหว่างสารเคมีกับไฟฟ้าในร่างกายของเรา โรคซึม เศร้า เกิดขึ้นเมื่อเกิดความไม่สมดุลของการทำปฏิกิริยาต่อกันดังกล่าวนี้เอง แม้โรคซึมเศร้าจะเป็น การเจ็บป่วยของจิตใจ ไม่เหมือนโรคร้ายทางกาย อย่างมะเร็งหรือโรคหัวใจที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้โดยตรง แต่โรคซึมเศร้า อาจเป็นสาเหตุโดยตรง ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้ไม่ต่างอะไรจากมะเร็งหรือโรคหัวใจเลย
ชาวอเมริกันประมาณ 30,000 คนที่ฆ่าตัวตายในแต่ละปี พบสาเหตุส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้า อานุภาพการทำลายล้าง ของ โรคซึมเศร้า ใช่จะจบลงเพียงจำนวนผู้ที่กระทำ อัตวินิบาตกรรมดังกล่าวข้างต้น หรือเพียงมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจอเมริกัน 50 พันล้านดอลลาร์ต่อปี อันคำนวณจากการที่สหรัฐฯ ต้องสูญเสียประสิทธิภาพการผลิตไป เนื่องจากประชากรป่วยเป็น โรคซึมเศร้า เท่านั้น หากแต่โรคซึมเศร้ายังมีอานุภาพซ้ำเติมให้โรคร้ายแรงทางกายที่เป็นอยู่ให้เลวร้ายลงไปอีก
ตัวอย่างเช่น ทันทีที่คุณมีอาการหัวใจวาย ความเสี่ยงที่คุณ จะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จะเพิ่มขึ้นทันที 4-6 เท่า ถ้าหากคุณเป็น โรคซึมเศร้าร่วมด้วย พิษสงของโรคซึมเศร้าดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จิตใจและร่างกายไม่สามารถแยกออก จากกันได้ไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะความจริงแล้วทั้งสองต่างเป็นส่วน หนึ่งของระบบเดียวกัน
โรคซึมเศร้าไม่เพียงเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการที่ล้มป่วยลงด้วย โรคร้ายทางกายที่สามารถคร่าชีวิต หรือจากการหมดกำลังใจ ที่จะรักษาตัว เท่านั้น แต่โรคซึมเศร้ายังเป็นสาเหต ุหรือปัจจัยเสี่ยงสำคัญตัวหนึ่งของโรคหัวใจด้วย "ความร้ายกาจของมัน อาจไม่ต่างอะไรไปจากคอเลสเตอรอลเลย" นายแพทย์ Dwight Evans ศาสตราจารย์จิตเวชศาสตร์ เวชศาสตร์และประสาทวิทยา แห่ง University of Pennsylvania กล่าว
โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงทางกายที่ถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลงได้ด้วยโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคร้ายอย่างมะเร็ง เบาหวาน ลมบ้าหมู และกระดูกพรุน ต่างก็ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดความพิการหรือเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร หากพวกเขาเป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วย
ผลร้ายต่อโรคทางกายอันมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้านี้ เริ่มเห็นกันชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ จนวงการแพทย์ไม่อาจปล่อยให้ผ่าน เลยไปได้ และเริ่มหันมาเอาใจใส่ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อพยายามจะทำความเข้าใจว่า กำลังเกิด ขึ้นอะไรขึ้นกับผู้ป่วย
แม้ว่าการพยายามที่จะพิสูจน์ว่า โรคร้ายทางกายกับโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กันของวงการแพทย์จะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์มีความคืบหน้าไปมากใน การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้า เกือบจะสรุปได้อย่างแน่นอนแล้วว่า สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากข้อบกพร่องในการผสมผสานยีนตัวหลักๆ บวกกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยของ ผู้ป่วย
ขณะนี้นักวิจัยก็กำลังพัฒนาวิธีบำบัดรักษาและยาตัวใหม่ๆ ให้ดีขึ้นกว่าวิธีรักษาและยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในขณะที่เราแน่ใจ มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า โรคทางกายน่าจะมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าจริง แต่การแยกโรคทางกายและโรคซึมเศร้าออกจากกัน กลับเป็นเรื่องที่ใหม่และไม่เคยมีใครศึกษามาก่อนเลย
ทั้งนี้ หากแยกโรคซึมเศร้าออกจากโรคทางกายได้ จะทำให้สามารถมุ่งคิดค้นวิธีบำบัดรักษาแต่เฉพาะโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวได้ ซึ่งอาจส่งผลช่วยลดความรุนแรงของโรคทางกายที่สัมพันธ์กับมันได้
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ Dennis Charnay หัวหน้าฝ่ายวิจัยความผิดปกติของอารมณ์และความวิตกกังวลแห่งสถาบัน National Institute of Mental Health (NIMH) กล่าวว่า เรายังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์แนวคิดนี้เลย
กระนั้นก็ตาม แนวคิดที่ว่า การรักษาแต่เฉพาะโรคซึมเศร้า อย่างเดียว อาจสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคทางกายต่างๆ ที่สัมพันธ์กับมันได้นั้น มีความเป็นไปได้ในเชิงชีวเคมี เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ร่างกายเราเป็นปกติ ในทุกวันนี้ก็ สามารถยืนยันได้ว่า สารเคมีในสมองของเรา ไม่ได้ควบคุมเฉพาะอารมณ์เท่านั้น แต่ยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เวลาที่เรารู้สึก กลัว ร่างกายจะหลั่งสาร adrenaline เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึก ท้องไส้ปั่นป่วน สารเคมีในสมองที่เรียกว่า neurotransmitter ซึ่งมีประมาณ 60 ตัว หรือมากกว่าอย่างเช่น serotonin สามารถไหลเวียนไปได้ทั่วร่างกายไม่ใช่เฉพาะในสมองเท่านั้น "โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของทั้งระบบ" Evans อธิบาย
"และ neurotransmitter หลายต่อหลายตัวที่เราเชื่อกันว่า เกี่ยวข้องกับการที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำหน้าที่บกพร่องไป อันสืบเนื่องมาจาก โรคซึมเศร้านั้น สามารถส่งผลต่อร่างกายส่วนใดก็ได้ทั่วทั้งร่างกาย"
แต่ยังไม่มีใครรู้ว่า สารเคมีที่ทรงพลังเหล่านั้น ส่งผลอย่างไรกันแน่ต่อโรคหัวใจ โรคมะเร็งและโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผลการ วิจัยซึ่งยัง อยู่เพียง ขั้นเริ่มต้นก็ดูสดใสไม่น้อย ผลการศึกษาพบว่า เมื่อ serotonin ไหลเวียนในกระแสเลือด ดูเหมือนจะทำให้เกล็ดเลือดข้นน้อยลง ซึ่งทำให้โอกาสที่เลือดจะจับตัวเป็นก้อนแล้วอุดตัน หลอดเลือดแดง เป็นไปได้น้อยลง เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่ผู้ป่วย ที่รอดชีวิตจาก หัวใจวายได้รับคำแนะนำให้รับประทานยาแอสไพริน สำหรับเด็กเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน ยาอย่าง Prozac ซึ่งช่วยเก็บรักษา serotonin ให้ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด ก็ดูเหมือนช่วยให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อนเช่นเดียวกัน
เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรคหัวใจยังพบว่า อัตราการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วย มักจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ทั้งนี้นายแพทย์ Charney อธิบายว่า อัตราการเต้นของหัวใจ ควรจะเปลี่ยนแปลง อย่างเหมาะสมตามกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละกิจกรรมจะเรียกร้องให้หัวใจทำงานในอัตราที่แตกต่างกัน
สิ่งที่อาจเชื่อมโยงโรคซึมเศร้ากับโรคหัวใจอีกประการได้แก่ สารเคมีที่เรียกว่า C-reactive protein (CRP) ตับจะผลิต CRP เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหรือบาดเจ็บ และ CRP นี้สัมพันธ์กับอาการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากร่างกายได้รับเชื้อหรือบาดเจ็บ ด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีใครรู้ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วย จะมีระดับ CRP เพิ่มสูงขึ้น และในผู้ป่วยที่หลอด เลือดแดงเสียหายเพราะการสะสมตัวของคราบคอเลสเตอรอล อาการอักเสบที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากระดับ CRP เพิ่มสูงขึ้นนี้ จะเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดแดง เพราะโอกาสที่คราบคอเลสเตอรอล จะหลุดออกจากผนังหลอดเลือดแล้ว ไปอุดตันหลอดเลือด จะมีสูงขึ้น
โรคเบาหวานเป็นโรคร้ายอีกโรคหนึ่งที่อาจถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลงได้ด้วยโรคซึมเศร้า เป็นที่รู้กันดีว่า 10% ของผู้ป่วยเบาหวาน ที่เป็นชาย และ 20% ของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นหญิง มักเป็น โรคซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าใน ประชากรทั่วไป ถึงสองเท่า แน่นอน เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่อาจคร่าชีวิตได้อย่างเบาหวาน จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาอีกโรคหนึ่งได้ แต่นั่นอธิบายตัวเลขที่แตกต่างกันข้างต้นได้เพียงบางส่วนเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วย มีโอกาสเผชิญกับโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ โรคระบบ ประสาท และตาบอด มากกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีอาการซึมเศร้า
บางทีอาจเป็นเพราะโรคซึมเศร้าทำให้ร่างกายตอบสนองน้อยลงต่อ insulin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด โดยผ่านการทำงานของฮอร์โมน cortisol ฮอร์โมนตัวหลังนี้สามารถรบกวนการทำงานของ insulin ทั้งนี้พบว่า ระดับของ cortisol ในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะเพิ่มสูงขึ้น
cortisol ยังอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการซึมเศร้า มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ผลการศึกษาของนายแพทย์ Philip Gold และนายแพทย์ Giovanni Cizza แห่ง NIMH พบว่า ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอัตราการสูญเสีย มวลกระดูกสูงกว่าผู้หญิงวัยเดียวกันที่ไม่เป็น โรคซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด ความแตกต่างนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้ว
นายแพทย์ Cizza ประมาณว่า ผู้หญิงอเมริกันประมาณ 350,000 คนต่อปีจะเป็นโรคกระดูกพรุนที่มีสาเหตุมาจากการเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้เพราะ cortisol ดูเหมือนจะไปขัดขวางความสามารถของกระดูกในการดูดซึมแคลเซียม และในการทดแทน การสูญเสียแคลเซียม ตามธรรมชาติซึ่งเป็นอาการปกติของผู้หญิงวัยทอง
ในขณะที่โรคซึมเศร้าอาจก่อให้เกิดโรคทางกาย หรือซ้ำเติมโรคทางกายให้เลวร้ายยิ่งขึ้นได้นั้น ในทางกลับกัน โรคทางกายก็อาจเป็น สาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ผลการศึกษาหลายครั้งพบว่า โรคที่สร้างความเสียหายแก่สมองเช่นโรคมะเร็ง โรค Parkinson's ลมบ้าหมู สมองขาดเลือด และ Alzheime's อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า เช่นในกรณีของ Parkinson's ปัญหาเกิดจากการที่เซลล์ในสมองส่วนที่สร้าง neurotransmitter ที่ชื่อ dopamine ตายลง ทั้งนี้ dopamine เป็นสารเคมีในสมอง ที่สำคัญต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว และในขณะเดียวกัน อาจเป็นสารที่สำคัญต่ออารมณ์ด้วย ส่วนโรคลมบ้าหมู สมองขาดเลือด และ Alzheime's ซึ่งก็เหมือนกับ Parkinso's ที่ล้วนแต่สร้างความเสียหายทางกายภาพแก่สมองในรูปแบบต่างๆ ก็อาจสร้างความเสียหายแก่ neurotransmitter ตัวอื่นๆ ในสมอง เช่น serotonin, glutamate และ norepinephrine ได้เช่นกัน ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า หลายรูปแบบแตกต่างกัน
ดังนั้น แม้อาการของโรคซึมเศร้าแบบต่างๆ จะคล้ายคลึง กัน แต่อาจมีสาเหตุมาจาก neurotransmitter คนละตัว นี่จึงอาจ เป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายว่า ทำไมบางครั้งการให้ยารักษาระดับ serotonin ในกระแสโลหิต จึงไม่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าในคนไข้บางรายได้ ทั้งนี้ก็เพราะโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้ มีสาเหตุมาจาก serotonin แต่มาจาก neurotransmitter ตัวอื่นนั่นเอง
การบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักจะมุ่งแก้ไขความไม่สมดุลของปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีและไฟฟ้าในร่างกาย ซึ่งทำให้สมอง สร้างความรู้สึกซึมเศร้าและความคิดที่ปรวนแปร ตัวอย่างเช่น ยาต้านโรคซึมเศร้าที่ชื่อ tricyclic antidepressant ซึ่งนิยมใช้ในช่วงทศวรรษ 1960 จะช่วยกระตุ้นการทำงานของ neurotransmitter 2 ตัวคือ serotonin และ norepinephrine กับ neurotransmitter อื่นอีก 2 ตัว ให้ทำงานทั่วร่างกาย ยานี้ช่วยแก้อาการซึมเศร้าได้แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้ง่วงนอนมากผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัด และมีอาการมึนงง ขั้นหนักอาจถึงชีวิตได้ถ้าได้รับยาเกินขนาด
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นช่วงของความพยายามลด ผลข้างเคียงข้างต้น ด้วยการมุ่งควบคุมแต่การทำงานของ serotonin เพียงตัวเดียว ยาต้านโรคซึมเศร้าที่เรารู้จักกันดีอย่าง Prozac, Paxil และ Zoloft ซึ่งเรียกรวมกันว่า selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ถูกพัฒนาขึ้นมาในยุคนี้ โดยมุ่งหมายให้ออกฤทธิ์ ควบคุม serotonin ไม่ให้ถูกดูดซึมซ้ำเข้าสู่เซลล์ประสาทเร็วเกินไป หลังจากที่มันถูกผลิตขึ้นมาในร่างกาย
วิธีรักษาอีกอย่างคือวิธีที่เรียกว่า electroconvulsive therapy (ECT) หรือที่เรามักรู้จักกันว่าเป็นการช็อกไฟฟ้า ECT จะ ช่วยปรับสภาพ ทางไฟฟ้าของสมอง ให้เป็นปกติโดยทำให้เกิดอาการชัก (แม้ว่าการช็อกไฟฟ้าจะมีกิตติศัพท์ไม่ค่อยดี แต่ความจริงแล้ว วิธีนี้ใช้กระแสไฟฟ้าขนาดอ่อนๆ เท่านั้น และให้ผลการรักษาที่ดีอย่างน่ามหัศจรรย์ในคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อยา) แม้แต่วิธีรักษาแบบโบราณอย่างการพูดคุยกับจิตแพทย ์ก็สามารถปรับสารเคมี ในสมองของผู้ป่วยให้เป็นปกติและช่วยลดความรุนแรงของ โรคซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับวิธีรักษาอื่นๆ ด้วย
น่าเสียดายที่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรคทางกายต่างๆ ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น เราจึงยังมีความรู้น้อยมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า หากเรามุ่งรักษาโรคซึมเศร้าแล้ว จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงใน การเกิดโรคแทรกซ้อน หรือความเสี่ยงในการเสียชีวิต ก่อนเวลาอันควรจากโรคทางกายที่เป็นอยู่
ดังนั้น ในขณะนี้ สิ่งที่นายแพทย์ Charney นายแพทย์ Evans และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ จะทำได้ นอกเหนือจากความพยายาม ศึกษาค้นคว้า และพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้า กับโรคทางกายต่างๆ แล้วก็คือ การเตือนให้นายแพทย์คนอื่นๆ ตระหนักถึง ความสำคัญของ โรคซึมเศร้าที่มีต่อโรคร้ายทางกายที่คนไข้ของพวกเขาเป็นอยู่ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน Lydia Lewis ประธานกลุ่ม Depression and Bipolar Support Alliance ก็แนะนำผู้ป่วยว่า ในส่วนตัวผู้ป่วย เองก็ควรจะคิดถึงโรคซึมเศร้า ที่ส่งผลกระทบต่อโรคทางกายที่ตนเป็นอยู่ด้วยเช่นกัน และอาจเป็นฝ่ายหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นสอบถามพูดคุยกับแพทย์์ ที่ทำการรักษาตนอยู่ Bill Valvo เห็นด้วยกับคำแนะนำนี้อย่างยิ่ง "ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยแม้แต่นิดเดียวว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำตอนนี้คือ เร่งหา ความรู้ในเรื่องของจิตใจ" และความรู้ที่ว่านั้นก็คือ เยียวยารักษาจิตใจให้ดี แล้วคุณอาจช่วยร่างกายของคุณได้
แปลและเรียบเรียงจาก special Issue, Time, January 20, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2546
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น