วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประโยชน์ของสมาธิกับการรักษาโรค


                                
วัตถุประสงค์                    
เพื่อให้ผู้ศึกษาทราบถึงประโยชน์ของสมาธิที่เกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาโรค
.เพื่อให้ผู้ศึกษาเห็นถึงตัวอย่างบุคคลที่นำเอาสมาธิไปใช้ในการรักษาโรค

เนื้อหา

มนุษย์กับโรคภัยไข้เจ็บ
             เหนือความสำเร็จใดๆของมนุษย์   สิ่งที่เป็นความปรารถนาอันสำคัญของแต่ละบุคคลคือการเป็นผู้มีสุขภาพพลานามัยดี  แต่ปัจจุบันสังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขของการมีชีวิตที่ดีในสังคมก็มีการเปลี่ยนไป เช่น มีการแข่งขันและเกิดภาวะตึงเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ แม้อายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์จะยืนยาวขึ้น แต่โรคภัยไข้เจ็บที่มีอาการสลับซับซ้อนและยากแก่การรักษาก็เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย  เช่น  โรคมะเร็ง เอดส์ หรืออาการทางจิตประสาทที่เกิดจากความตึงเครียดในชีวิต ทำให้การแพทย์สมัยใหม่เริ่มมีการค้นคว้าและเสาะแสวงหาวิธีการต่างๆที่จะมาบำบัดและช่วยให้ชีวิตมนุษย์ในโลกปัจจุบันดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติสุข   แต่การค้นคว้าดังกล่าวล้วนมุ่งดำเนินไปในทางวัตถุ  ส่วนในทางจิตใจนั้น   เราจะพบว่าในพระพุทธศาสนามีหลักธรรมและข้อปฏิบัติต่างๆที่สามารถเป็นแนวทางที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขทางจิตใจ  และส่งผลต่อความมีสุขภาพดีทางร่างกายด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการฝึกสมาธิที่ผู้คนทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติและสัมผัสผลดีได้ด้วยตนเอง
          ทั้งนี้ มนุษย์ ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ใด  ในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าเป็นขันธ์ ๕ หรือกองแห่งรูปธรรมและนามธรรมที่มาประชุมรวมกันเป็นหน่วยรวม ซึ่งส่วนประกอบทั้ง ๕ อย่างนั้น ในพระสุตตันตปิฎกได้กล่าวไว้ ได้แก่

               ๑.รูป คือส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม ตลอดจนส่วนประกอบอันเป็นวัตถุภายนอก
                  และคุณสมบัติต่างๆ
                ๒.เวทนา คือส่วนประกอบที่มีความรู้สึก หรือที่เป็นการเสวยอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ 
                  ซึ่งเกิดจากการรับหรือสัมผัสมาจากทวารทั้ง ๕  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และอารมณ์ทางใจ
                ๓.สัญญา คือความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ หรือจำได้หมายรู้ในลักษณะ เครื่องหมายต่างๆ
                   เช่น รูปร่าง สีสัน กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์
                ๔.สังขาร คือส่วนประกอบ หรือสภาพปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ
                ๕.วิญญาณ คือส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ทางทวารทั้ง ๕  เช่น การได้ยิน ได้เห็น และได้อารมณ์ทางใจ  เป็นต้น

โรคกาย-โรคใจ
            กล่าวโดยสรุปจากข้างต้นก็คือ  ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นรูปหรือร่างกาย(นั่นคือรูป)และส่วนที่เป็นนาม  หรือจิตใจ(ซึ่งได้แก่ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ) ดังนั้นการที่จะมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ก็คือมีรูปและนามดำเนินไปปกตินั่นเอง ซึ่งการจะเป็นผู้มีสุขภาพดีนั้น จะต้องดีทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตามโรคภัยไข้เจ็บย่อมเกิดขึ้นกับตัวมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้พ้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและจิตใจ ดังพระราชวรมุนี(ประยูร ธมฺมจิตโต)[๑]ได้กล่าวว่า

      "พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเรามีโรคด้วยกันทั้งนั้น โรคมี ๒ แบบ
                     คือโรคทางกายกับโรคทางจิตวิญญาณ พระองค์ตรัสว่า เป็นไปได้
                     ที่คนเราจะไม่ป่วยเป็นโรคทางกาย ๗ วันบ้าง ๗ สัปดาห์บ้าง
                     ๗ เดือนบ้าง ๗ ปีบ้าง แต่เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะไม่ป่วยเป็นโรค
                     ทางจิตใจ หรือจิตวิญญาณที่เรียกว่าเจตสิก โรคแม้ชั่วขณะหนึ่ง
                     ยกเว้นพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลส" (สุขภาพใจ : ๒๕๓๙ :๖)

            จากคำกล่าวข้างต้นแสดงว่า  "ใจ"สามารถเกิดโรคได้ง่ายกว่ากาย แต่ในตัวมนุษย์นั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าใจมีความสำคัญและเป็นสิ่งควบคุมกาย  เพราะการกระทำ ด้วยกายหรือวาจา ย่อมมีใจเป็นกลไกที่จะสั่งการให้ปรากฎออกมาดังเช่นในคาถาธรรมบทที่ว่า

               "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
                ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม
                ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุน
                ไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น" (๓๘/๑๙ คาถาธรรมบท)

            ดังนั้น  เมื่อจิตใจได้รับการอบรมและฝึกฝนให้มีความสงบและมีสมาธิอันตั้งมั่น ย่อมจะนำไปสู่ความเป็นผู้มีปัญญา มีความสมบูรณ์ทางจิตใจและส่งผลดีแก่ร่างกายด้วย ดังนั้น การจะมีชีวิตอย่างมีความสุขได้  ไม่เพียงร่างกายจะมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงเท่านั้น จิตใจจะต้องมีความสะอาด บริสุทธิ์ผ่องใสอีกด้วย  โดยเฉพาะจากคาถาธรรมบทข้างต้นได้ให้ความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่มีความประเสริฐที่สุด ซึ่งถ้าจิตใจมีความตั้งมั่น  แข็งแกร่ง ร่างกายก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย แต่แม้จะมีสุขภาพร่างกายเป็นปกติ หากจิตใจไม่เข็มแข็งแล้ว   ก็ย่อมทำให้บุคคลผู้นั้น  มีความอ่อนแอและนำไปสู่ความเป็นผู้มีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย  ซึ่งการที่สุขภาพจะดีและดำเนินเป็นปกติได้ จะต้องมีความสมดุลย์อย่างเป็นปกติของร่างกายและจิตใจ
            ทั้งนี้ในทัศนะของแพทย์แผนปัจจุบัน ต่างยอมรับว่าจิตใจเป็นสิ่งควบคุมการกระทำของกาย สาเหตุสำคัญของอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย  ย่อมมีผลเนื่องมาจากจิตใจ และย่อมแก้ไขได้ด้วยกระบวนการทางจิตใจได้ ดังนายแพทย์เฉก ธนะสิริ ได้กล่าวว่า

"ปรากฏการณ์ที่แสดงว่าจิตคุมกายนั้น จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า หากเมื่อใดจิตของเราแปรปรวนรวนเรแล้วละก็ มันจะพาลให้อวัยวะต่างๆในร่างกายของเราเกิดระส่ำระสายทันที เช่น เกิดความวิตกกังวล อันจะนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่าย หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือความดันโลหิตสูง อันจะนำไปสู่เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน นอนไม่หลับโรคประสาทอาหารไม่ย่อยท้องผูกอ่อนแรง รวมไปถึงความรู้สึกทางเพศเสื่อมทันที เป็นต้น" (๒๕๒๙ : ๑๑๐)

            เนื่องจากว่าใจนั้นมีหน้าที่รับรู้สิ่งที่มากระทบตามทวารต่างๆ  เช่น  ตา  หู จมูก ลิ้น และสัมผัสทางกาย  ใจยังทำหน้าที่จำสิ่งที่เป็นสัญญาขันธ์ดังกล่าว และยังทำหน้าที่นึกคิดและตัดสิน ตลอดจนสั่งการไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง แล้วผ่านไปยังอวัยวะและระบบประสาทให้ดำเนินการตามที่ใจต้องการดังนั้น  ใจจึงเปรียบเสมือนโปรแกรมหรือซอร์ฟแวร์ของคอมพิวเตอร์  ที่มีสมองคือ CPU เป็นหน่วยความจำกลาง  ซึ่งคอมพิวเตอร์จะดำเนินการได้จะต้องมีซอร์ฟแวร์ดังกล่าวคอยควบคุม  ดังนั้น พฤติกรรมของมนุษย์ทั้งในเชิงบวกหรือในเชิงลบ  ย่อมเกิดจากการกระตุ้นและสั่งการจากใจ นั่นคือ สุขภาพทางใจย่อมส่งผลต่อสุขภาพทางกาย  ดังจากผลการศึกษาทางการแพทย์สมัยใหม่  ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างกายกับใจที่มีผลต่อสุขภาพว่า

                     "เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นในใจ ระบบแรกที่จะถูกกระทบแล้ว
                     ส่งผลไปสู่ระบบอื่นคือ ระบบการไหลเวียนของเลือด กรดแลคติก
                     และแร่เกลือโซเดียมในเลือดจะสูงขึ้นทันที ส่วนแร่เกลือโปแตสเซียม
                     จะต่ำลง เคมีในเลือดที่ผันผวนนี้เอง จะไปกระตุ้นต่อมและอวัยวะ
                     ต่างๆให้เกิดความผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ร่างกายจำเป็นต้องเผา
                     ผลาญออกซิเจนจำนวนมากขึ้น ดังนั้น การหายใจถี่ขึ้น ทำให้รู้สึก
                     เหนื่อยใจสั่น เหงื่อออกชุ่มตัว โดยเฉพาะฝ่ามือ" (ฉัตรแก้ว : ๒๕๔๑ : ๕๑)
    
            ซึ่งโดยประสบการณ์ของผู้คนทั่วไป  เมื่อจิตใจมีความเครียด  ย่อมจะมีลักษณะดังกล่าว คือใจสั่น เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีอาการตื่นเต้น ตกใจ ประหม่า หรือเกิดอาการเครียดโดยเฉียบพลันซึ่งเป็นอาการทางใจที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือทางร่างกาย  ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมา ทางการแพทย์สมัยใหม่ระบุต่อไปอีกว่า

                    "กล้ามเนื้อต่างๆทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดอาการหมดแรง
                     ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมหมวกไตหลั่งสารแอดรีนาลีนสูง ทำให้
                     กลายเป็นเบาหวานได้ง่ายขึ้น กระเพาะอาหารขับกรด
                     ออกมามากกว่าปกติ โอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารและ
                     ลำไส้ มากขึ้น ระบบทางเดินอาหารอาจจะเกิดอาการ
                     ท้องเสีย ท้องผูก หรือทั้งสองอย่างได้ ด้านระบบประสาท ทำ
                     ให้นอนไม่หลับ  ปวดหัว ใจสั่น ซึ่งจะยิ่งทำให้ อาการของ
                     ระบบต่างๆหนักขึ้น  เพราะร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ
                     โอกาสเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งย่อมเกิดขึ้นได้
                     ง่ายเพราะความเครียดสะสมในใจมาเป็นแรมปี สร้าง
                     สารพิษ(Toxic) เกิดขึ้นในร่างกาย"(อ้างแล้ว : ๒๕๔๑)

                        ในอีกด้านหนึ่ง อาการป่วยของคนไข้ทางร่างกายย่อมส่งผลไปสู่ทางจิตใจได้เช่นเดียวกัน เพราะโรคร้ายแรงและคุกคามต่อชีวิต  ย่อมมีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของผู้ป่วย ดังเช่น เมื่อผู้ป่วยรู้ตัวว่าตนเองเป็นมะเร็งหรือเริ่มสงสัยว่าจะเป็น  ผู้ป่วยก็จะมีอาการตกใจ เกิดความกังวล อาจจะพยายามบ่ายเบี่ยง  ปฏิเสธ  ไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นเช่นนั้น  ทั้งนี้  นายแพทย์ประภาส  อุครานันท์  จิตแพทย์แห่งโรงพยาบาลนิติจิตเวช   ได้กล่าวถึงพฤติกรรมทางจิตใจและพฤติกรรมของผู้ป่วย   เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง โดยสรุปว่า ในเบื้องต้น ผู้ป่วยจะตกใจและปฏิเสธ อาจจะโทษแพทย์ว่าตรวจผิด อาจจะไปตรวจใหม่เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว   ต่อมาเมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคจริง   ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการทางจิตใจ  คือกังวล  สับสนและโกรธ(Anxiet  and  anger) ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาด้วยความก้าวร้าวทั้งทางกิริยาและคำพูด  และเมื่อผ่านระยะนี้ไป ผู้ป่วยก็จะเริ่มสงบใจลงบ้าง แต่จะรู้สึกต่อรองในใจว่า อาจจะไม่เป็นโรคดังกล่าวหากมีการตรวจที่ละเอียดกว่านี้ แต่กระนั้นก็จะเริ่มมีอาการซึมเศร้า  รู้สึกหมดหวังและเริ่มจะยอมรับความจริงว่าตนเองอาจะเป็นโรคนั้นจริงๆ ระยะนี้ผู้ป่วยจะกินไม่ได้  นอนไม่หลับ  มีอาการเหม่อลอย  นายแพทย์ประภาสกล่าวว่าเป็นระยะสำคัญที่จะต้องให้ความสนใจผู้ป่วยโดยเฉพาะทางจิตใจให้มากขึ้น  เพราะระยะนี้อาจจะนำไปสู่ความเป็นโรคจิตได้ ซึ่งปกติจิตแพทย์ก็จะทำการจิตบำบัด  จนกว่าผู้ป่วยจะถึงระยะที่ยอมรับความจริงได้มากขึ้นและเริ่มสนใจที่จะยอมให้การรักษา  ซึ่งในทางการแพทย์นั้นถือว่า  การให้การรักษาทางใจมีความสำคัญ  ทั้งนี้ นายแพทย์ประภาสได้สรุปว่า   การที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและยอมรับที่จะรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรจะทำสมาธิ อันเป็นการรักษาที่จิตใจและสามารถส่งผลต่อการรักษาทางร่างกายที่ได้ผล(๒๕๓๙ : ๖๒)

การฝึกสมาธิกับการรักษาสุขภาพ
ดังนั้น  การฝึกจิตใจให้เป็นสมาธิจึงสามารถทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจได้รับการพัฒนา หรือได้รับการรักษาให้มีสุขภาพที่ดีไปพร้อมๆกันได้ ซึ่งการรักษาโรคต่างๆ ในสมัยปัจจุบัน  เช่น  มะเร็ง แม้จะอาศัยวิทยาการทางเทคโนโลยี เช่น   การฉายรังสี  หรือการผ่าตัดด้วยกรรมวิธีทันสมัย  อันเป็นความเจริญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่สำหรับในประเทศไทยขณะนี้ กรรมวิธีการรักษาโรคดังกล่าวที่กำลังเป็นที่สนใจกันเป็นอย่างยิ่งก็คือการรักษาแบบชีวจิต  ดังที่มีการก่อตั้งชมรมชีวจิต โดยปฏิบัติตามวิธีรักษาของดร.สาทิส อินทรกำแหง ซึ่งมีการเน้นในด้านการดำเนินชีวิตที่เข้าใจธรรมชาติ   ตลอดจนการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง   แต่กระนั้นก็ได้ให้ความสำคัญทางด้านจิตใจที่จะต้องฝึกให้เป็นสมาธิ ดังที่ดร.สาทิสกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

                "ที่จริงแล้ว การปฏิบัติตนตามแนวทางชีวจิต ไม่ได้หมายถึงการ
                รับประทานอาหารแบบธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยน
                แปลงวิถีชีวิตให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้องด้วย เช่น การฝึกสมาธิ
                การฝึกลดความเครียดในชีวิตประจำวัน..." ( ชีวจิต :๒๕๔๑: ๓๗)      

            ทั้งนี้  ดร.สาทิส ได้ยึดหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่า สนิมเหล็กเกิดแต่เหล็ก แล้วก็กัดกร่อนให้เหล็กเสียไป  ดังนั้น จิตใจของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน หากได้รับการฝึกให้เป็นสมาธิและมีต้นแหล่งคือจิตใจที่ผลิตแต่ความคิดในเชิงบวก  ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง  มีสุขภาพพลานามัยที่ดีได้ แต่หากผลิตความคิดในเชิงลบ อันเปรียบเสมือนสนิมเหล็กก็ย่อมเป็นภัยแก่ตนเอง ดังได้กล่าวว่า
               "ความคิดในทางร้ายนี้เอง ที่เป็นตัวทำลายตนเอง โดยเฉพาะผู้เจ็บป่วย
                เป็นมะเร็งถ้าความคิดในทางร้ายๆนี้ ยังหลงเหลืออยู่ มันก็จะเป็นสนิม
                กัดกร่อนตนเองให้พินาศย่อยยับเร็วขึ้น...เพราะความคิดเช่นนี้เป็น
                สาเหตุส่วนหนึ่งของการเป็นมะเร็ง แนวทางของชีวจิต ถือว่ามะเร็งเกิด
                จากสาเหตุทั้งทางใจและทางกาย ถ้าทางใจเขาเปลี่ยนไม่ได้ ทางกายก็
                เปลี่ยนไม่ได้ตามด้วย"( กูแน่ฯ : ๒๕๔๑: ๑๒๗)

            ไม่เพียงการรักษาโรคมะเร็ง  ที่ยังมีทางรักษาให้หายได้   แม้โรคทางร่างกายที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน คือ AIDS ยังมีการนำการฝึกสมาธิไปใช้กับผู้ป่วย ดังเช่น Donald k.Swearer ได้กล่าวว่า

                             "Meditation  is  also  promoted  in  Thailand
                          as a treatment for patients with AIDS.
                          Beginning in ๑๙๘๙ a team of psychologists,
                          social  workers,  and  nurses  utilize
                          meditation techniques as part of a hospital
                          training program to help care worker who treat
                          HIV and drug dependent patients." (๑๙๙๕ : ๑๔๔)

          ถึงแม้จะยังไม่มีทางรักษาคนป่วยโรค  AIDS  ดังกล่าวให้หายขาดได้ จากผลการใช้สมาธิ
ช่วยเหลือนั้น ทำให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วย คือ

                            "Results from questionaires, self-reports, and
                          observation of colleagues show positive results
                          among the majority of health care worker :
                          higher altruism and empathy among trainees ;
                          less verbal abuse toward clients, and a greater
                          personal sense of tranquility, happiness, and
                          patience." (อ้างแล้ว)     
             
          ด้วยความสำคัญและเป็นประโยชน์ของการฝึกสมาธิที่มีผลต่อร่างกายและการรักษาโรคดังกล่าว  ได้มีชาวตะวันตกนำไปปฏิบัติและเกิดมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างเห็นผล  ดังเช่น นายแพทย์ประภาส  อุครานันท์  ได้อ้างถึง  Dr.Benson แห่ง Havard Medical School ที่ได้เขียนผลของสมาธิที่มีต่อสุขภาพร่างกายในหนังสือชื่อ The Relaxation Response(๑๙๗๕) ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันมีความตื่นตัวในการฝึกสมาธิเป็นอย่างมาก โดยสรุปผลจากข้อเขียนดังกล่าวได้ว่า สมาธิมีผลดีต่อการรักษาโรคมะเร็ง เพราะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผ่อนคลาย มีกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิต  และมีสติที่จะวางแผนชีวิตของตนได้  ส่วนโรคของการซึมเศร้า สิ้นหวัง โดดเดี่ยว หมดโอกาส อันเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากในชาวตะวันตกนั้น  พบว่าคนที่ทำสมาธิทำให้จิตใจคลายอารมณ์เศร้ากลายเป็นแจ่มใส นอกจากนี้การทำสมาธิยังมีผลดีต่อโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง   และที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่การทำสมาธิช่วยผู้มีบุตรยากให้มีบุตรง่ายขึ้น  ทั้งนี้  เพราะผู้มีบุตรยากมักจะมีอารมณ์เศร้า  กังวล และมักมีอารมณ์โกรธ เมื่อทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สุขภาพแข็งแรง  ทำให้อารมณ์แจ่มใสทำให้มีบุตรได้ง่าย 
        และที่น่าสังเกตว่าวิธีการทำสมาธิที่กระทำที่มีผลดังกล่าวนั้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างทางด้านอารมณ์อันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับสุขภาพทางจิตนั้น ดวงใจ กสานติกุล(๒๕๒๙) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง"ผลของการศึกษาสมาธิต่อสุขภาพจิต  โดยวัดเปรียบเทียบอารมณ์เศร้า  ในเยาวชนอายุ ๑๕-๒๕ ปี ณ ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม(วัดพระธรรมกาย) จังหวัดปทุมธานี" มีกลุ่มตัวอย่าง ๑๕๖ คนโดยให้เยาวชนที่เข้ารับการฝึกสมาธิตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นแบบทดสอบวัดอารมณ์เศร้าก่อนและหลังฝึก พบว่า  ค่าเฉลี่ยของคะแนนเมื่อหลังการปฏิบัติสมาธิ  มีอารมณ์เศร้าลดลง  แสดงว่า การทำสมาธิทำให้เกิดจิตใจผ่อนคลาย  นำให้สามารถแยกแยะ เข้าใจในปัญหา และบรรเทาสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์เศร้าในใจนั้นได้
จากความสนใจในการฝึกสมาธิตามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น  แม้จะสามารถทำให้เกิดผลดีแก่สุขภาพทางร่างกายแล้ว การฝึกจิตให้เป็นสมาธิ ยังเป็นการรักษาสุขภาพทางใจโดยนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทางใจตลอดจนความคิดในเชิงลบได้ สามารถทำให้ใจบริสุทธิ์ผ่องใส ก่อให้เกิดความคิดเชิงบวก คือ  ใจเกิดความนุ่มนวลอ่อนโยน  มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ  หรือมีจิตเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายได้  ซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิตที่มีคุณภาพ  ดังเช่น Pinit Ratanakul & Kyaw Than ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Health, Healing and Religion ว่า

                              "The Buddhist meditation is not only a mean to
                     cure the mind from its ailment caused by
                     incorrect views, self-indulgence, hatred and
                     anger of all forms but it also devised as a mean
                     to induce positive and wholesome mental states
                     particularly the four sublime states(Brahma-Vihara)...
                     The continual cultivation of those wholesome
                     mental states is an important Buddhist way of
                     making the mind healthy." (๑๙๙๖: ๔๒-๔๓)
         
          เนื่องจากปัจจุบันมีวิธีการฝึกสมาธิหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งการจะฝึกสมาธิวิธีการใดที่จะเกิดผลดีนั้น  ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่หากขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นจริงจังของผู้ปฏิบัติ เพราะทุกวิธีต่างมุ่งที่การฝึกอบรมที่จิตใจ ดัง Pinit Ratanakul & Kyaw Than ได้กล่าวว่า
                        "Every set of Buddhist precepts and every type
                     of Meditation is aimed at controlling the senses,
                     impulses and instincts and easing the tension and
                     the unwholesomeness of thought that tend to make
                     the mind sick." (อ้างแล้ว : ๑๙๙๖ : ๔๒-๔๓)

          เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคทางร่างกายโดยทั่วไป      สามารถรักษาได้ด้วยยาหรือกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างๆได้ ส่วนการรักษาโรคทางใจ มุ่งที่การฝึกใจ เช่น จิตบำบัดหรือด้วยการทำสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องมีส่วนช่วยเหลือตนเองโดยไม่ต้องอาศัยยารักษา แสดงว่าจิตใจสามารถรักษาตนเองได้ และยังสามารถส่งผลต่อการรักษาโรคทางกายได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหากสามารถแยกแยะได้ว่าอาการป่วยของตน  เป็นอาการป่วยทางกาย มิใช่ป่วยทางใจ แล้วทำใจให้สงบสดชื่นเบิกบาน อาการป่วยทางกายนั้น ย่อมจะทุเลาและหายเร็วขึ้น แต่หากผู้ป่วยคนใด กลับมีใจหดหู่เอาแต่ซึมเศร้าเสียใจในการที่ตนเองต้องเจ็บป่วย  ผู้ป่วยเช่นนี้  ย่อมจะรักษาให้หายได้ยากและต้องใช้เวลานาน   ดังนั้นการทำจิตใจให้สงบ  บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ  ย่อมเป็นสิ่งสามารถป้องกันโรคใดๆได้
ทั้งนี้  เราสามารถกล่าวถึงประโยชน์ของสมาธิ โดยสรุปว่า ในด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ สมาธิจะทำให้เป็นผู้มีจิตใจ เข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นุ่มนวล สดชื่นผ่องใส กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา เข้าใจในสภาวะที่เกิดขึ้นในโลกตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นลักษณะของผู้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจนั่นเอง
          ดังนั้นความสุขในชีวิตที่จะเกิดขึ้นได้นั้น นอกจากจะเกิดจากความสำเร็จในการประกอบอาชีพหรือหน้าที่การงานแล้ว  ความเป็นผู้มีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ชีวิตแต่ละชีวิตมีความสุขสมบูรณ์ได้  การฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าแก่ชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหา หากแต่เริ่มปฏิบัติที่ตนเองแล้วย่อมจะพบและสัมผัสกับคุณประโยชน์อันเกิดขึ้นอย่างมหาศาลแก่ตนเองด้วยตนเอง
                  
                                                                     










บรรณานุกรม

     ๑.ฉัตรแก้ววารสารกัลยาณมิตร ฉบับพระสังฆาธิการ(สมาธิ โรคร้าย หายได้),
               [๒๕๔๑]มูลนิธิธรรมกาย,ปทุมธานี.
     ๒.เฉก ธนะสิริ,ทำอย่างไรชีวิตจะยืนยาวและมีความสุข,พิมพ์ครั้งที่ ๓๔,แปลนพับลิชชิ่ง,
               [๒๕๒๙]กรุงเทพมหานคร.
 ๓.ดวงใจ กสานติกุล และคณะ,ผลของการฝึกสมาธิต่อสุขภาพจิต โดยวัดเปรียบเทียบอารมณ์เศร้า,
              [๒๕๒๙]วารสารสมาคมจิตแพทย์(หน้า ๑๗๖-๑๙๐),กรุงเทพมหานคร.
     ๔.ประภาส อุครานันท์,วารสารกัลยาณมิตร(ช่วยเหลือใจ เมื่อกายป่วย)ฉบับเดือนตุลาคม,
               [๒๕๓๙]มูลนิธิธรรมกาย,ปทุมธานี.
     ๕.-----------------------,วารสารกัลยาณมิตร(ธรรมชาติบำบัดกับสมาธิ)ฉบับเดือนพฤศจิกายน,
               [๒๕๔๐]มูลนิธิธรรมกาย,ปทุมธานี.
     ๗.พระราชวรมุนี(ประยูร ธมฺมจิตฺโต),สุขภาพใจ,มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,
               กรุงเทพมหานคร๒๕๓๙.
     8.สาทิส อินทรกำแหง,ชีวจิต(ชีวิตที่เข้าใจธรรมชาติ)พิมพ์ครั้งที่ ๑๐,คลินิกบ้านและสวน,
               กรุงเทพมหานคร๒๕๔๑.
     ๙.----------------------,กูแน่(ถ้าแน่จริงต้องชนะความตายฯ)พิมพ์ครั้งที่ ๓คลินิกบ้านและ
               สวน,กรุงเทพมหานคร๒๕๔๑.
    ๑๐.Donald k. Swearer,The Buddhist World of Southeast Asia, State
               University of Newyork PressUSA,๑๙๙๕.
    ๑๑.Pinit Ratanakul(Editor),Health, Healing and Religion, The Center of
               Human Resources Development, Mahidol UniversityThailand,
                       ๑๙๙๖.




[๑] ปัจจุบันเป็นที่พระเทพโสภณ ดำรงตำแหน่งอธิการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

ที่มา  http://dou_beta.tripod.com/MD101_07_th.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น