วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ชีวประวัติพระครูวิหารกิจจานุการ หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค

พระครูวิหารกิจจานุการ
(ปาน โสนนฺโท)
หลวงพ่อปาน โสนนฺโท
เกิด16 กรกฎาคม พ.ศ. 2418
มรณภาพ26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481
อายุ63
อุปสมบทพ.ศ. 2439
พรรษา42
วัดวัดบางนมโค
ท้องที่พระนครศรีอยุธยา
ตำแหน่ง
ทางคณะสงฆ์
เจ้าอาวาสวัดบางนมโค
หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค
อ.เสนา
 จ.พระนครศรีอยุธยา
(2418 – 2481) นามเดิม ปาน สุทธาวงศ์ เกิด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน หมู่ที่ 5 ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดา - มารดา นายอาจ และนางอิ่ม สุทธาวงศ์ อุปสมบท เมื่ออายุครบ 21 ปี บริบูรณ์ บิดามารดาจึงได้นำตัวมาฝากกับหลวงปู่คล้าย เจ้าอาวาสวัดบางนมโคในขณะนั้น เพื่อฝึกหัดพิธีกรรมในการขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ตามจารีตประเพณีของไทยต่อไป และท่านก็ได้อุปสมบทที่วัดบางปลาหมอ เนื่องจากวัดบางนมโคในสมัยนั้นยังไม่มีโบสถ์ ท่านจึงต้องไปบวชที่วัดบางปลาหมอแทน ท่านบวชเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม โดยมีหลวงพ่อสุ่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “โสนันโท” เมื่อบวชพรรษาแรก หลวงปู่คล้ายให้หลวงพ่อปานมาอยู่กับหลวงพ่อสุ่น พระอุปัชฌาย์หนึ่งปีก่อน เพื่อจะได้อบรมสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ หลวงพ่อปานมาอยู่กับหลวงพ่อสุ่น ท่านก็สอนวิชาการต่าง ๆ ทางด้านอภิญญาสมาบัติ และก็เรียนกรรมฐานกองต่าง ๆ ปรากฎว่าภายในพรรษาเดียว ท่านทรงกรรมฐานในด้านสมถะได้เกินกว่าสิบกอง พอออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อสุ่นก็ให้หลวงพ่อปานไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพ ท่านก็ถูกส่งไปที่วัดสระเกศ ไปเรียนอยู่ที่นั่น 6 ปี เป็นพรรษาที่ 7 ที่ท่านเรียนจบบาลีในสมัยนั้น แต่ไม่ได้สอบ แปลถึงพระอภิธรรม ท่านแปลจนกระทั่งจำได้ทั้งหมดในกรรมฐานทั้ง 40 ในศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ในปัญญานิเทศ ท่านแปลได้คล่องและจำเนื้อความได้ทั้งหมด การอธิบายในวิสุทธิมรรค ท่านอธิบายได้ถึง 5 ขั้น คือ ตั้งแต่ยากลงมาง่าย 5 ระดับด้วยกัน เมื่อท่านกลับมาถึงวัดบางปลาหมอ หลวงพ่อสุ่นก็ให้หลวงพ่อปานไปบูรณะวัดบางนมโค แล้วท่านก็มาอยู่วัดบางนมโค ในพรรษาย่างเข้าพรรษา 8 เริ่มสร้างเจดีย์บูรณะสิ่งต่าง ๆ ในวัด นอกจากนั้นท่านยังเป็นนักเทศน์ฝีปากเอก ยากที่ใครจะเทียบได้ ท่านได้หาโอกาสศึกษาความรู้ในด้านสมถะและวิปัสสนากรรมฐานไปด้วย พร้อมกันนั้นท่านก็แสวงหาอาจารย์ดี ๆ ที่มีความรู้เก่ง ๆ ในด้านเวชกรรมแผนโบราณ (หมอแผนโบราณ) จนท่านมีความรู้ในด้านรักษาโรคและรดน้ำมนต์ รักษากระดูกหัก สัตว์ร้ายที่มีพิษกัด ปัดเป่ารังควานทางภูติผีปีศาจ คุณไสยต่าง ๆ เป็นอันมาก ท่านจึงได้เปิดที่ทำการรักษาโรคที่วัด มีคนมารักษาโรคจากท่านมากมาย เป็นที่โด่งดังไปทั่ว นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภิกษุสามเณรและเด็กวัด ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจเรียน ภารกิจของท่านในแต่ละวันจึงหนักมาก ทั้งด้านเป็นหมอรักษาโรค และเทศน์สงเคราะห์คน อีกทั้งสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จึงกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง เป็นทั้งพระนักพัฒนาและนักปฏิบัติดีเยี่ยม สมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ได้มีคณะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองได้นำพัดยศพระราชทาน พร้อมด้วยสัญญาบัตรตราตั้งในสมณศักดิ์ชั้นพิเศษว่า “พระครูวิหารกิจจานุการ” (ปาน โสนันโท) และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาพระราชทานให้แก่ท่านที่วัดบางนมโค และในปี พ.ศ. 2478 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัดบางนมโค ต่อจากพระอธิการเย็น สุนทราวงศ์ เจ้าอาวาสองค์ก่อน ซึ่งท่านเป็นผู้สนับสนุนให้เป็นเจ้าอาวาส มรณภาพ ท่านถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ตรงกับวันอังคาร แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล เวลา 18.00 น. ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยโรคปอดอักเสบ สิริรวมอายุได้ 64 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น