ประเภทและระดับของสมาธิ
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทสมาธิได้อย่างถูกต้อง
๒. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระดับของสมาธิ
๓. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถตรวจสอบผลแห่งการปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง
เนื้อหา
มนุษย์โดยปกติแล้ว ย่อมจะเกลียดความทุกข์และมุ่งแสวงหาความสุขให้กับตนเอง แต่ความสุขที่ต่างคนต่างแสวงหานั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงความสุขที่ให้ผลชั่วครั้งชั่วคราวหรือเป็นความสุขภายนอกที่ยังไม่สามารถทำให้จิตใจคลายจากรากเหง้าของความทุกข์และนำไปสู่ความสุขที่ถาวรได้ ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่นั้น ยังไม่เข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น จะต้องแก้ที่จิตใจ หาใช่แก้ที่ร่างกายหรือสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่น มีการเสพยาเสพติด การเที่ยวเตร่เฮฮา ซึ่งเป็นการทำให้จิตใจเพลิดเพลิน ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ แต่ในที่สุดก็หาได้ทำให้พ้นจากความทุกข์ดังกล่าวได้ ดังนั้น การทำสมาธิ จึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง ดังจะพบว่าปัจจุบัน ผู้คนในสังคมต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมของประเทศตะวันตก เริ่มให้ความสนใจกับการฝึกสมาธิกันแพร่หลายมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกสมาธิที่มีการสอนกันโดยทั่วไปนั้น มีทั้งการฝึกสมาธิด้วยวิธีที่ถูกต้องและการฝึกสมาธิที่ไม่ถูกต้องอันจะสามารถนำไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้ ทั้งนี้ หากจะอธิบายโดยทั่วไปได้คือ สมาธิที่มีการสอนในโลกนี้สามารถจัดแบ่งได้หลายประเภทตามหลักปฏิบัติ วิธีการ หรืออื่นๆ มากมาย ในเบื้องต้นนี้ สมาธิสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทได้ ดังต่อไปนี้
สมาธิ ๒
๑. สัมมาสมาธิ
๒. มิจฉาสมาธิ
มิจฉาสมาธิจะตรงข้ามกันกับสัมมาสมาธิÝ ซึ่งจุดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ ฐานที่ตั้งของใจÝ
ความแตกต่างระหว่างสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ
สัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่มีฐานที่ตั้งของใจถูกต้อง เพราะจะสามารถทำให้กิเลสต่างๆ ค่อยๆน้อยถอยไปจากใจของเราได้ และจะต้องเป็นสมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น และเป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่น จะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถเป็นต้น สัมมาสมาธินี้[๑] เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการน้อมจิตเข้าไปตั้งอยู่ในศูนย์กลางกายของตนเอง อันจะทำให้ จิตจะสะอาด สงบ ว่องไวและมีความเห็นถูกซึ่งจะแตกต่างจากสมาธิของพวกที่มิใช่พระพุทธศาสนาหรือพวกฤๅษีชีไพร ที่เกิดจากการประคองรักษาจิตไว้ที่นิมิตนอกกาย แม้บางครั้งจะทำให้จิตสะอาดสว่างได้บ้างแต่ยังมีความเห็นที่ผิดอยู่ ซึ่งที่ถูกต้องที่สุดคือต้องน้อมนิมิตอันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธินั้นให้เข้ามาที่ศูนย์กลางกาย
ส่วนมิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่มีฐานที่ตั้งใจผิด คือ ตั้งใจไว้ผิดที่ กล่าวคือเอาใจไปตั้งไว้ผิดตำแหน่ง เช่น ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำเหมือนกัน แต่ว่าผิดที่ เป็นสมาธิที่นำมาซึ่งความร้อนใจ ยกตัวอย่างเช่น เวลามือปืนรับจ้างยิงคน ฆ่าคน เวลาเขายกปืนขึ้นมาเล็ง จะไปยิงเหยื่อที่จะสังเวยกระสุน เล็งปืนที่กลางหน้าผาก ตอนนั้นใจของเขาไม่ได้คิดวอกแวกไปเรื่องอื่นเลยÝ ใจคิดอย่างเดียวว่าจะต้องให้เข้าตรงกลางหน้าผากของผู้ที่เป็นเป้าหมายให้ได้ ใจจรดจ่อกับสิ่งที่ทำเหมือนกัน แต่ว่าจดจ่อผิดที่ และมีกิเลสเข้าหุ้มใจ นำมาซึ่งความร้อนใจ ความทุกข์ใจÝÝ
หรือยกตัวอย่าง คนเล่นไพ่ นั่งเล่นไพ่อยู่ ใจจรดจ่อกับไพ่ที่เล่นเช่นเดียวกัน บางทีเกิดความรู้สึกปวดปัสสาวะกลั้นได้ตั้ง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง บางทีไม่ต้องกินข้าว หรือบางทีนั่งเล่นตั้งแต่มืดจนสว่างก็ไม่มีอาการง่วง ไม่เมื่อย หรือลืมเมื่อย
หรือจะเป็น นักบิลเลียดกำลังแทงลูกบิลเลียด มือปืนกำลังจ้องยิงคู่อาฆาต คนทรงกำลังเชิญผีเข้า พวกเสพติดกำลังสูบกัญชา และพวกร้อนวิชากำลังปลุกตัว หรือพวกโจรกำลังมั่วสุมวางแผนก่อโจรกรรมฯลฯ บุคคลเหล่านี้ต่างมีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขากำลังทำทั้งสิ้น ๆไม่ว่ารอบตัว บริเวณนั้นจะมีเหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้น ก็ยากที่จะทำให้เขาเหล่านั้นเบี่ยงเบนความสนใจได้ หลายคนจึงมีความเข้าใจผิดว่า บุคคลดังกล่าวเหล่านี้มีสมาธิมั่นคงดี แต่หาทราบไม่ว่า สมาธิในพระพุทธศาสนาหมายถึงการที่สามารถทำใจให้มั่นคง ไม่วอกแวกและต้องก่อให้เกิดความสงบเย็นกายเย็นใจด้วย ถ้าใจไม่วอกแวกแต่พกเอาความร้อนใจไว้ข้างใน เช่น พกเอาความโลภอยากได้ของผู้อื่นไว้เต็มอก ดังเช่นพวกนักเลงพนัน พกเอาความพยาบาทไว้จนหน้าเขียว กรณีเช่นตัวอย่างเหล่านี้ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสมาธินอกลู่นอกทาง หรือที่เรียกว่ามิจฉาสมาธิ เพราะใจมีความหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เป็นอกุศล มิจฉาสมาธินี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรสนใจ และห้ามฝึกอย่างเด็ดขาดเพราะมีแต่โทษฝ่ายเดียว
สัมมาสมาธิ ๒ ประเภท
สมาธิที่ถูก หรือสัมมาสมาธิมีอยู่ ๒ ประเภท ซึ่งเป็นวิธีที่ควรสนใจไว้ให้มากเพราะมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เมื่อสนใจฝึกได้ดีจะมีแต่ความเย็นกายเย็นใจ กล่าวคือ
ประการแรก เป็นการทำสมาธิของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา สมาธิประเภทนี้ได้มีมาก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว พวกฤๅษีชีไพรต่างๆ เช่น อาฬารดาบสและอุทกดาบสที่เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษาอยู่ด้วยในสมัยก่อนตรัสรู้ ก็เคยฝึกสมาธิประเภทนี้
ประการที่สองเป็นการทำสมาธิของนักบวชในพระพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเองโดยพระองค์ทรงนำวิธีการฝึกสมาธิของพวกฤๅษีชีไพรในสมัยนั้นมาดัดแปลงแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องรัดกุมยิ่งขึ้น แล้วทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตาม
แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างของสมาธิทั้งสองประเภทนี้ ดังนั้นบางคนจึงหลงกลับไปฝึกสมาธิตามวิธีเดิมของพวกนอกศาสนาอยู่อีก กลายเป็นวิธีที่ยากจะทำให้พ้นจากความทุกข์ได้
การฝึกสมาธิของพวกนอกศาสนาพุทธ ส่วนมากนิยมฝึกการเอาวัตถุเป็นที่ตั้งจิตหรือที่เรียกว่าฝึกกสิณภายนอก วิธีง่ายๆ เช่น สร้างวัตถุขึ้นมาชิ้นหนึ่งเป็นแผ่นกลมๆที่เรียกว่ากสิณเช่นเอาดินปั้นเป็นแผ่นกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งคืบ หนาประมาณ ๑ นิ้ว วางไว้เบื้องหน้าของผู้ฝึก ครั้นจำลักษณะของกสิณได้แม่นยำแล้ว หลับตานึกถึงกสิณด้วยการเอาจิตไปตั้งที่กสิณพร้อมด้วยภาวนาคือท่องในใจเป็นการประคองใจไม่ไห้คิดเรื่องอื่นด้วยคำว่า ปฐวีๆ(หรือดินๆๆ)เป็นต้นเบื้องแรกขณะหลับตานึกถึงกสิณ เนื่องจากใจยังสงบไม่พอ กสิณนั้นก็เป็นเพียงมโนภาพมืด ครั้นปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆจากมโนภาพมืดก็กลายเป็นมโนภาพสว่าง เห็นภาพกสิณนั้นชัดเจนเหมือนลืมตา(เพราะสิ่งทั้งหลายย่อมสำเร็จได้ด้วยใจ) ยิ่งชำนาญมากขึ้นเท่าใดก็สามารถพลิกแพลงใช้ประโยชน์จากกสิณที่ได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น นอกจากใช้ดินเป็นกสิณแล้วก็สามารถใช้วัตถุอย่างอื่นทำเป็นกสิณแทนได้ เช่นใช้น้ำใสใสใส่ขันใช้วงกลมสีเขียวๆแดงๆหรือลูกแก้วใสๆที่เจียรนัยแล้วเป็นต้น
การฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาซึ่งได้นำตัวอย่างมาจากพวกฤๅษีชีไพรดังกล่าวแล้วนั้น แม้ทั้งวิธีทำกสิณขนาดกสิณและคำภาวนาอาจะเหมือนกัน แต่ได้เปลี่ยนตำแหน่งฐานที่ตั้งจิตเสียใหม่แทนที่จะเอาจิตไปตั้งที่กสิณนั้น กลับเอาจิตมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายของตนเองแล้วนึกถึงกสิณนั้นๆ
ความแตกต่างระหว่างสมาธิทั้งสองนั้น อธิบายได้ เช่น สมมติว่านาย ก. ฝึกสมาธิด้วยการเพ่งกสิณน้ำตามแบบฤๅษี ส่วนนาย ข. ฝึกเพ่งกสิณน้ำตามแบบพระพุทธศาสนาเมื่อเอาน้ำใสๆใส่ลงในบาตรสำหรับใช้เป็นกสิณแล้วทั้งนาย ก.นาย ข. ก็นั่งอยู่เบื้องหน้ากสิณน้ำนั้นต่างคนต่างนั่งหลับตานึกให้เห็นภาพวงกลมน้ำพร้อมกับภาวนาประคองใจ(ในใจ)ว่าอาโปๆÖ(ซึ่งแปลว่าน้ำ)
ขณะภาวนาว่าอาโปๆๆๆÖและบริกรรมนิมิตคือนึกให้เห็นกสิณน้ำนั้น นาย ก. ก็นึกเอาจิตไปตั้งที่น้ำในบาตร ส่วนนาย ข.นึกเอากสิณน้ำไปตั้งไว้ในกลางกายของตนเมื่อทั้งสองคนนี้ฝึกถึงกสิณจนชำนาญแล้ว มโนภาพมืดๆของวงกลมน้ำก็กลับเป็นมโนภาพสว่างเห็นวงกลมน้ำนั้นสว่างชัดเจนขึ้นคล้ายๆกับลืมตาดูดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญนาย ก. จะเห็นนิมิตวงกลมน้ำสว่างสดใสเยือกเย็นลอยอยู่เบื้องหน้าตนเองในระยะใกล้บ้างไกลบ้าง ส่วนนาย ข.จะเห็นนิมิตวงกลมน้ำลอยนิ่งๆอยู่ที่ศูนย์กลางกายเหล่านี้เป็นความแตกต่างและคล้ายคลึงกันของการฝึกสมาธิทั้งสองประเภทซึ่งยังไม่มากนักในเบื้องต้น
ครั้นฝึกทำความสงบใจต่อไป ความสงบ ความชัดของกสิณ ความสุขกายสุขใจที่ได้รับและที่สำคัญที่สุดคือความเห็นและทิฏฐิ จะค่อยๆแตกต่างกันขึ้นเรื่อยๆนิมิตวงกลมน้ำของนายก.จะไม่อยู่นิ่งเป็นที่ประเดี๋ยวจะลอยอยู่ใกล้ประเดี๋ยวจะลอยอยู่ไกล ชัดบ้างไม่ชัดบ้างใหญ่บ้างไม่ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ลุ่มๆดอนๆปรับภาพยากและในขณะที่ทำการฝึกก็มักจะเกิดนิมิตลวงเสมอ เช่น
ภาพเหตุการณ์เก่าๆในอดีตที่ลืมไปนานแล้วและภาพอื่นๆอีกจนสับสนวุ่นวายปะปนกับนิมิตจนแยกกันไม่ค่อยออก(ยกเว้นผู้ที่มีความชำนาญ) ทั้งนี้เพราะการเห็นนิมิตของผู้ฝึกสมาธินอกพระพุทธศาสนานั้นเห็นเหมือนใช้ไฟฉายส่องดูวัตถุซึ่งอยู่ในที่ไกลๆจึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย (เช่นถ้าเราดูผลแตงโมเต็มผลอยู่) เนื่องจากว่าเอาจิตไปตั้งไว้นอกกายแต่แรกจนเคยชินนั่นเองแต่มักจะไม่รู้ตัวในที่สุดก็หลงตัวเองว่าเป็นผู้วิเศษดังเช่นอาฬารดาบสและอุทกดาบสหลงว่าอรูปภพคือนิพพานนั่นเอง
ถ้านาย ก. ประสงค์จะเจริญวิปัสสนาก็ทำได้ยากเพราะวิปัสสนาเป็นเรื่องของการพิจารณาภายในตัว ดังนั้น การฝึกสมาธิของพวกนอกพระพุทธศาสนาจึงเสียเวลามาก เสี่ยงอันตรายและเกิดปัญญาน้อยดังมีเรื่องเล่าว่าฤๅษีตนหนึ่งนั่งทำสมาธิอยู่ในป่าไม่ยอมไหวติงกายเป็นเวลานานปีจนกระทั่งนกกระจาบไปอาศัยทำรังอยู่ที่เคราแต่ฤๅษีตนนั้นก็ยังไม่สำเร็จธรรมอันใดจึงเลิกฝึกสมาธิกลับไปอยู่บ้านกับลูกเมียตามเดิมอีก
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าการฝึกสมาธิแบบนอกพระพุทธศาสนาจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะสามารถเป็นอุปการะต่อการเจริญสมาธิในพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการที่พระภิกษุปัญจวัคคีย์สามารถมีดวงตาเห็นธรรมได้ทันทีที่พระพุทธเจ้าเทศน์จบก็เพราะมีพื้นฐานสมาธิมาก่อน ครั้นขณะฟังพระธรรมเทศนาก็เปลี่ยนฐานที่ตั้งจิตมาไว้ในตัวเกิดเป็นสัมมาสมาธิได้ทันที
ส่วนนาย ข. เนื่องจากตั้งจิตไว้ถูกที่ตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อเห็นนิมิตวงกลมน้ำเกิดขึ้นในตัววงกลมนั้น ก็จะนิ่งอยู่ที่กลางกายไม่หายไปไหน ยิ่งทำใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน นิมิตวงกลมน้ำนั้นก็จะหายไปเอง แต่จะเกิดวงกลมใหญ่ขึ้นมาแทนที่เรียกว่า ปฐมมรรคหรือดวงธรรม นาย ข.จะไม่ประสบนิมิตลวงเช่นเดียวกับนาย ก. เพราะการเห็นของนาย ข.นั้น เป็นการเห็นรอบตัว ทั้งทางด้านซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนพร้อมๆในเวลาเดียวกันซึ่งเป็นการเห็นที่ผู้เห็นเองจะเข้าใจ ดังนั้นการเห็นของนาย ข.จึงมีอุปสรรคน้อยและเกิดปัญญามาก
นอกจากนี้ สมาธิยังสามารถจำแนกได้ตามวิธีการกำหนดวางที่ตั้งของใจ ได้ ๓ ประเภท ดังนี้
สมาธิ [๒]๓
สมาธิที่แบ่งตามที่ตั้งของใจในขณะที่เจริญสมาธิได้ คือ
๑. ประเภทวางใจไว้นอกร่างกาย
๒. ประเภทวางใจในตัวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
๓. ประเภทวางใจไว้ในร่างกายที่ศูนย์กลางกาย
๑. ประเภทวางใจไว้นอกร่างกาย
วิธีนี้ ส่งจิตออกข้างนอก เป็นวิธีที่ส่วนใหญ่ในโลกนี้ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ได้ฝึกจิตฝึกใจด้วยวิธีการแบบนี้ คือเอาใจส่งออกไปข้างนอก เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย เนื่องจากปกติคนส่วนใหญ่มักมีนิสัยชอบมองไปข้างนอก ดังนั้นการส่งจิตออกไปข้างนอกจึงสบาย ง่าย และทำได้กันเกือบจะทุกคน แต่ข้อเสียก็มี คือจะมีภาพนิมิตลวงเกิดขึ้นมา เป็นนิมิตเลื่อนลอยไม่ใช่ของจริงเกิดขึ้นมาก บางนิมิตก็น่าเพลิดเพลิน
บางนิมิตเห็นแล้วก็น่าสะดุ้งหวาดเสียว ถ้าหากว่าได้ครูที่ไม่ชำนาญ ไม่มีประสบการณ์เป็นผู้แนะนำ จะทำให้จิตออกไปข้างนอก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ได้ยินบ่อยครั้งว่าการปฏิบัติธรรมฝึกจิตเป็นเหตุให้เป็นบ้า แต่อันที่จริงเกิดจากการวางใจไว้ผิดที่ เอาออกไปสู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจึงผิดมากกว่าถูก เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ฝึกจิตด้วยวิธีการแบบนี้ จึงไม่รู้จักธรรมกาย ไม่เข้าถึงสรณะ เข้าไม่ถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในตัว และเป็นโอกาสให้หลงตัวเอง พลาดพลั้ง และเดินผิดทางได้
๒. ประเภทวางใจในตัวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
ประเภทที่ ๒ เอาใจไว้ข้างใน คืออยู่ภายในแล้วก็หยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ลอย ๆ อยู่ภายใน ตัวของเราตามฐานต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ที่เหนือฐานที่ ๗ แถวบริเวณทรวงอก แล้วหยุดนิ่งสงบ มีความเย็นกายเย็นใจเกิดขึ้น มีสติ มีปัญญา มีความรู้รอบตัวเกิดขึ้นมากมาย การปฏิบัติด้วยวิธีที่สองนี้มีอยู่น้อยในโลกÝ วิธีอย่างนี้ถูกมากกว่าผิด แต่ก็เข้าไปไม่ถึงธรรมกาย ถ้าจิตฝึกฝนด้วยการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ปล่อยให้สงบนิ่ง อยู่ภายในตัว มีความสุขอยู่ภายใน
การทำสมาธิแบบนี้จะทำให้มีความรู้สึกว่าเราไม่ติดอะไรเลย ไม่ยินดียินร้าย ปล่อยวางสงบ สว่างเย็น อยู่เฉย ๆ อยู่ภายใน ซึ่งมีน้อย ถูกมากกว่าผิด และจะไม่ค่อยมีนิมิตเลื่อนลอยเกิดขึ้น เพราะว่าปล่อยวางหมด เอาแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างเดียว ให้สงบเย็น ความรู้ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นกว้างขวางกว่าเดิมมาก แต่ก็เข้าไม่ถึงธรรมกาย และก็ไม่รู้จักธรรมกาย ยังไม่ได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ ยังไม่เป็นสรณะ ยังไม่ถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึกÝÝ
๓. ประเภทวางใจไว้ในร่างกายที่ศูนย์กลางกาย
ประเภทที่ ๓ ฝึกใจโดยการเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ หยุดจนกระทั่งถูกส่วน แล้วเห็นปฐมมรรคเกิดขึ้นมาเป็นดวงสว่าง ได้ดำเนินจิตเข้าไปในทางนั้น กลางของกลางปรากฏการณ์นั้น เข้าไปเรื่อย ๆ โดยเอามรรคมีองค์แปดประการขึ้นมาเป็นเครื่องปฏิบัติ
คำว่ามรรค แปลว่าหนทาง หมายความว่าทางเดินของใจ ทางเดินของใจที่จะเข้าไปสู่ภายใน จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย โดยอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องกลั่นกรองใจ ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใสขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปถึงธรรมกายองค์ที่สุดที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย
ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียวจึงจะเห็นหนทาง แล้วก็ดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย สิ่งนี้คือหลักในทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักของการสร้างความสุขให้กับชีวิตในโลก ใครอยากจะหลุดอยากจะพ้น ก็ต้องทำมรรคให้เกิดขึ้นมา แล้วก็ดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย อย่างไรก็ตาม การฝึกโดยเอาใจที่ตั้งไว้ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ มีเพียงไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้
นอกจากนี้ถ้ากล่าวถึงวิธีการในการปฏิบัติสมาธิโดยละเอียดขึ้น จะพบวิธีที่ปรากฏอยู่ในตำราต่างๆ เช่น วิสุทธิมรรค ถึง ๔๐ วิธี[๓] ซึ่งวิธีทั้ง ๔๐ นั้น ต่างก็มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือ การทำใจให้ถูกส่วนและเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ถ้าหากว่าเรานำใจของเรามาตั้งไว้ตรงที่ฐานที่ ๗ แล้วก็เริ่มต้นอย่างง่าย ๆ ด้วยวิธีการดังกล่าว จะเริ่มต้นจากกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อาหาเร ปฏิกูลสัญญา อนุสติ ๑๐ หรืออะไรก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าใจหยุดถูกส่วนตรงฐานที่ ๗ นี้แล้ว ดำเนินจิตให้เข้าสู่ภายใน และดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับ ไม่ช้าก็จะพบธรรมกาย ซึ่งสิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วและสามารถเข้าถึงได้ทุกคนที่ปฏิบัติตามได้อย่างถูกวิธี
ระดับของสมาธิ [๔]
จากการทำสมาธิ ผู้ฝึกจะพบกับประสบการณ์ต่างๆที่เกิดจากการฝึก โดยสามารถจำแนกระดับของสมาธิมีอยู่ ๓ ระดับคือ
๑. ขณิกสมาธิ คือ อาการที่ใจสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ชั่วขณะหนึ่ง เช่น ๕-๑๐ วินาที แล้วใจจะค่อยๆคิดฟุ้งซ่านออกไป อาการเหมือนช้างปรบหู ถ้าได้มีสติก็ดึงใจกลับมาใหม่ ค่อยๆประคอง อย่าใช้กำลัง ทำอย่างต่อเนื่องก็จะได้ขั้นต่อไป
๒. อุปจารสมาธิ ใจสงบหยุดนิ่งได้นานกว่าขั้นแรก คือ อาจเป็นกำหนดเวลา ๕-๑๐ นาที หรือนานกว่านั้นก็ได้ แต่ไม่ถึงขั้นฌาน ยังไม่ดิ่งลงไปแท้ เป็นแต่จวน ๆ สมาธิ
๓. อัปปนาสมาธิ ใจสงบหยุดนิ่งนานตามที่เราต้องการ เป็นขั้นที่ใกล้เคียงกับฌาน ดิ่งลงไปÝ สุขุมกว่าอุปจารสมาธิ ถ้าเป็นนิมิตจะมีลักษณะใส สว่าง แต่ยังไม่ใช่ดวงธรรม
ดังนั้น จะพบว่าการฝึกสมาธิเป็นการฝึกที่จิตใจ โดยเป็นการทำใจให้สงบ ตั้งมั่น แต่ใจจะตั้งมั่นได้นั้น จะต้องกำหนดทำสมาธิให้ใจตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งของใจที่จะทำให้ใจตั้งมั่น และเกิดความมั่นคงมากที่สุด นั่นก็คือศูนย์กลางกลายนั่นเอง เมื่อฝึกอย่างถูกวิธีแล้ว ย่อมจะทำให้ผู้ฝึกพบกับประสบการณ์ภายในที่ดี ทำให้มีความสุข และย่อมสามารถนำไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง
บรรณานุกรม
พระเผด็จ ทตฺตชีโว, [๒๕๓๗] คนไทยต้องรู้, Ýกรุงเทพฯ.
พระราชภาวนาวิสุทธิ์, [๒๕๒๖] บทพระธรรมเทศนาวันอาทิตย์ต้นเดือน, (๗
สิงหาคม ๒๕๒๖) ปทุมธานี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น