เมื่อครั้งที่หลวงปู่โต๊ะยังมีชีวิตอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาและจริยาวัตรของหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง โดยได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ของทุกๆพระองค์ ไปยังวัดประดู่ฉิมพลี เพื่อทรงสดับคำสอนของหลวงปู่ และในบางโอกาส ก็ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ท่านไปแสดงธรรมยังภายในเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย
นอกจากนั้น เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังภูพิงค์ราชนิเวศ จังหวัดเชียงใหม่ ยังได้ทรงกราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ท่านไปรับบิณฑบาต ในการบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ด้วย
แม้ว่าหลวงปู่ท่านจะเป็นที่เคารพเลื่อมใสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเจ้านายในทุกๆพระองค์ หลวงปู่ก็ยังคงดำรงตนของท่านตามแบบฉบับของท่านเสมอมา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แก่เหล่าศาสนิกชนที่ไปกราบขอความเมตตานุเคราะห์จากท่าน ทุกๆคนที่ไปกราบหลวงปู่ ต่างพากันปลื้มปีติยินดี ที่ได้รับกระแสเมตตาจิตอันไม่อาจประมาณได้ของท่าน
กิตติศัพท์แห่งความเมตตาของท่านนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระเสาวนีย์ตอนหนึ่ง ถึงหลวงปู่โต๊ะ ความว่า
…....
"หลวงปู่สามารถหยั่งรู้จิตใจคน ว่าผู้นั้นๆจะต้องเทศน์สั่งสอนวิธีไหน ใช้ธรรมระดับไหน และหัวข้อใด จึงจะซึมซาบเข้าไปในจิตของคนทั่วไปได้
ดังข้อความบางตอนที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ได้ถวายพระธรรมเทศนา ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายหลวงปู่ ณ วัดเบญจมบพิตร 24 ก.ค. 2524...
ข้าพเจ้าทราบดี เพราะครั้งหนึ่งที่หลวงปู่ไปอาพาธที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ข้าพเจ้าได้มีบุญไปจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยถวาย พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปจากสวนจิตรลดา ไปประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชา และได้พับประดิษฐ์ดอกบัวสัตบงกช ให้แย้มกลีบมากน้อยต่างๆกันไป
ข้าพเจ้าเองรักที่จะบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ เนื่องด้วยพระสงฆ์ที่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง ตามพระธรรมวินัย ปฏิบัติชอบ ท่านเคยเล่าว่า พระพุทธองค์ทรงเปรียบคนเสมือนดอกบัวในสภาวะต่างๆ ดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาแย้มเหนือน้ำ ได้รับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดอกที่เพิ่งผุดปริ่มน้ำ บางดอกที่อยู่ในตม ตกเป็นอาหารของเต่าเสียก่อนที่จะได้มีโอกาสโผล่ขึ้นมา
เมื่อมาคิดพิจารณาย้อนหลังไป จึงได้ทราบลึกซึ้งลงไปว่า หลวงปู่มีเมตตาสูงมากต่อสัตว์โลกทั้งหลาย ท่านยอมเข้ามารักษาที่ ร.พ.จุฬาฯ ก็เพราะอยากให้ข้าพเจ้าใจสบายว่า ได้มีโอกาสสร้างกุศลคุณงามความดี รวมทั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัยถวายนั้น ด้วยหลวงปู่เองท่านเคยนั่งปฏิบัติธรรมในป่าในถ้ำมาตลอด มาอาพาธเพียง 10 กว่าวันนั้น โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปนั้น ก็ดูไม่สำคัญยิ่งยวดอะไรสำหรับท่าน
แต่เพราะพระเมตตาคุณของท่าน ที่อยากจะให้ข้าพเจ้าปลาบปลื้มใจว่า ได้ทำความดีนั่นเอง ที่จะทำให้จิตใจเป็นสุขที่สุด ขณะที่ใจเป็นสุขนั่นเองแหละ ที่จิตของตนเองเป็นกุศลจิตขึ้นทันที ทุกๆครั้งที่ข้าพเจ้าจัดดอกบัวสัตบงกช ไปถวายหลวงปู่เวลาท่านอาพาธนั้น ท่านจะต้องกล่าวว่าดอกบัวนี้งามทุกครั้ง...
หลวงปู่มองพิจารณาดอกบัวนั้นนานเป็นพิเศษ ท่านได้กล่าวว่า ไม่เคยเห็นดอกบัวงามอย่างนี้ ดอกนั้นงามเป็นพิเศษจริงดังหลวงปู่กล่าว ข้าพเจ้าเองกลับไปแปลความหมายว่า เมื่อหลวงปู่เห็นว่าข้าพเจ้ารักดอกบัว ท่านจึงเห็นว่า ดอกบัวนั้นเหมาะที่ข้าพเจ้าจะศึกษาสมาธิ
หลวงปู่ฉันแต่ผักและผลไม้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว จะถวายของบำรุงจริงๆไม่ค่อยสะดวก ท่านผอมมาก ถุงลมในปอดของท่านก็เสีย ท่านจึงไม่ค่อยได้เทศน์ แม้แต่จะพูดเสียงท่านก็เบามาก แต่มีสิ่งมหัศจรรย์มากอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านมีไข้สูง ไม่มีกำลังเลย หมอและบุรุษพยาบาลบอกว่า ท่านเพิ่งจะลุกนั่งตอนค่ำ ที่ข้าพเจ้าไปกราบ ข้าพเจ้าได้ขอร้องท่าน อย่าให้ท่านลุกนั่งเลย เพราะที่มานี้ ก็มาอย่างลูกศิษย์ อยากได้มีโอกาสรับใช้หลวงปู่...
พอกราบแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบไปทำความสะอาดที่โต๊ะหมู่บูชา ซึ่งเป็นเฉลียงที่กั้นไว้เป็นห้องต่างหากเล็กๆ รีบเปลี่ยนดอกไม้ เปลี่ยนธูปเทียนถวายใหม่ ตั้งใจว่าต้องรีบกลับ เพราะท่านจะต้องเกร็งตัวอยู่อย่างนั้น ทั้งๆที่ท่านไข้สูง พอคลานออกมา เห็นเจ้าประคุณหลวงปู่ อยู่ในท่าสมาธิ ก็รีบก้มกราบหน้าเตียงของท่าน ขณะกำลังกราบนั้นเอง หลวงปู่เทศน์โปรดทันที!!!...
เสียงของท่านใหญ่ ดังกังวานมาก ดูราวกับว่า เสียงนั้นมิใช่ออกมาจากลำคอของท่านเลย เสมือนเสียงที่ก้องกระหึ่มสะท้อนมาจากในถ้ำ แต่ชัดเจนมากทุกคำ ท่านเทศน์ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ เทศน์นานอยู่ประมาณ 40 นาที แล้วท่านก็ประทานพร ข้าพเจ้ากราบลาท่านอีกครั้งแล้วรีบกลับ จิตแจ่มใสเบิกบาน ชุ่มชื่นยิ่งนัก เสียดายไม่ได้มีเครื่องอัดเสียงของท่านไว้ในขณะนั้น...
ลูกศิษย์ใกล้ชิดเล่าว่า ปกติวันๆ มีคนไปกราบท่านมาก แทบว่าจะไม่มีเวลาจำวัด แต่หลวงปู่ท่านเมตตาล้นเหลือ ใครมีทุกข์มุ่งตรงมาหาท่าน ต้องได้รับกระแสเมตตาจากท่านถ้วนหน้า พวกเราทั้งหลายที่ยังมีกิเลสหนาแน่นยึดรูปกายของหลวงปู่ และรบกวนท่านอยู่ตลอดเวลา ต่างคนต่างมุ่งนึกถึงเรื่องของตัวเองทั้งนั้น
เจ้าพระคุณหลวงปู่ยอมผ่อนให้กับคนทุกประเภท ท่านมุ่งให้ทุกคนมีจิตเบิกบานขึ้นตามวาระของเขาเหล่านั้นที่จะพึงทำได้ ใครอยากได้ธรรมะขั้นสูงสุด ท่านก็ให้ ใครอยากได้โชคลาภ ขอน้ำมนต์ ขอพระจากท่าน ท่านก็ให้ แต่ท่านจะต้องเน้นให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่เสมอ มิให้ก่อความชั่วเพิ่มขึ้น...
อยู่ใกล้หลวงปู่เข้ารู้สึกว่า ไม่มีศัตรูคู่อาฆาตเสียเลย มีแต่คนที่เขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ น่าสงสารเขาทั้งนั้น ถ้าเขาเหล่านั้นเกิดปัญญาขึ้นแล้ว ก็จะไม่กระทำเช่นนั้นดอก อภัยให้เขาเถิด ถ้าแม้นมีทุกข์โศก ซึ่งไปกราบไหว้หลวงปู่ ท่านก็ว่า ความทุกข์โศกทั้งหลายเป็นของเก่าแก่ หลายร้อยหมื่นพันปี เป็นเรื่องของโลกเขา เรื่องทุกข์โศกเศร้าเสียใจนี่น่ะ แต่มีทางแก้ พระพุทธเจ้าของเราท่านพบทางพ้นทุกข์แล้ว และด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลสัตว์โลกทั้งหลาย จึงได้ทรงประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาขึ้นในโลกนี้ เพื่อให้พวกเราทั้งหลาย ได้มีโอกาสอยู่ในโลกนี้ ด้วยความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด อยู่อย่างนี้ ผู้รู้จักเรื่องราวของโลกที่ดี ไม่ประมาท ลุ่มหลง มัวเมา จนพาตนไปสู่ความวิบัติ
พระพุทธองค์ทรงสงสารเมตตาสัตว์โลกว่า วนเวียนอยู่ในความทุกข์ทรมานไม่มีที่สิ้นสุด!!!
พระพุทธองค์ได้ทรงพบทางพ้นความทุกข์โศกโดยสิ้นเชิงแล้ว ด้วยพระปัญญาคุณ ทรงพระเมตตาบอกทางพ้นความทุกข์ให้แก่ทุกๆคน จะไปหาที่ไหนอีกล่ะ? ผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตาอันบริสุทธิ์ต่อมวลมนุษย์
เจ้าพระคุณหลวงปู่สอนข้าพเจ้าเช่นนี้ หลวงปู่หยั่งทราบได้ว่า สำหรับข้าพเจ้านั้น พระพุทธองค์ คือ องค์พระประทีปแก้วของสัตว์โลกทั้งปวง และข้าพเจ้าเองนั้น มีบุญเหลือหลาย ที่ได้ฟังพระธรรมจากพระอริยสาวกของพระบรมโลกนาถเจ้าเอง"
(ข้อมูลจากหนังสือ “ภาสุธรรม" ฉบับประกาศกิตติคุณ หลวงปู่โต๊ะ 108 ปี วัดประดูฉิมพลี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538)
พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นชาวสมุทรสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 ท่านเป็นผู้มีความเข้มแข็ง และสติปัญญาเฉลียวฉลาด มาตั้งแต่เด็ก มีความกตัญญู ขยันมานะอดทน มีน้ำใจ และมีวาจาไพเราะสุภาพอ่อนโยน จึงเป็นที่รักยิ่งของบิดามารดา
ในวัยเยาว์ท่านมักจะชอบตามบิดามารดาไปวัดเป็นประจำ หลายครั้งก็แอบไปเพียงลำพัง เพื่อฟังพระภิกษุสามเณรสวดมนต์ จนกระทังท่องจำบางบทบางตอนได้อย่างแม่นยำ
ท่านได้ร่ำเรียนหนังสือเบื้องต้นที่วัดเกาะแก้ว อ.บางคณฑี จ.สมุทรสงคราม ต่อมาบิดามารดาได้เสียชีวิต หลวงตาแก้วที่เป็นญาติ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ ได้นำท่านมาฝากไว้กับพระอธิการสุก เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี และท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 17 ปี สามเณรโต๊ะมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระปริยัติธรรม และสนใจการเจริญพระกรรมฐานอย่างจริงจัง โดยแทบทุกคืนจะไปนั่งกรรมฐานเพียงลำพังในโบสถ์ และเดินจงกรมอยู่ในป่าริมคลองบางหลวง
ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ตั้งใจศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ กระทั่งอายุได้ 26 ปี หลวงปู่โต๊ะก็ต้องรับภาระหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี แทนพระอธิการคำ เจ้าอาวาสซึ่งได้ลาสิกขาไป
แม้จะเป็นเจ้าอาวาสครองวัดแล้ว แต่หลวงปู่โต๊ะผู้ใฝ่ธรรม มีอัธยาศัยรักสันโดษ และมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ก็ได้ออกจาริกไปศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์หลายท่านที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น จนมีความรอบรู้แตกฉาน ลึกซึ้ง
ใน พ.ศ. 2516 ท่านได้รับพระราชทานสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระสังวรวิมลเถระ และ พ.ศ. 2521 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวราภิมณฑ์
หลวงปู่โต๊ะมรณภาพเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นกรณีพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ และในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุและพระราชทานเพลิง ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการนี้ด้วย
ตลอดเวลา 68 ปี ในการเป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือหลวงปู่โต๊ะ เป็นพระอริยสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นที่เคารพบูชา ศรัทธา และเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
ที่สำคัญหลวงปูโต๊ะได้ถือวิปัสสนาธุระเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตอันยาวนานถึง 94 ปีของท่าน อย่างมิเสื่อมคลาย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 188 สิงหาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ) |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น