วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ธรรมะเปิดโลก ตอนที่ **ผู้มีสมาธิ**


ธรรมะเปิดโลก ตอนที่ 26 **ผู้มีสมาธิ**

ในเช้าของวันนี้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้เข้าเฝ้านอบน้อมต่อองค์พระบิดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านแล้วนั้น พระองค์ท่านได้ทรงเมตตาแสดงธรรมกลับมา กับพวกเราทั้งหลาย ดังนี้ 
- - - -
ผู้ที่มีสติ มีปัญญานั้น แน่นอนว่า ย่อมต้องเป็นผู้ที่จิตนิ่ง 
และการที่จิตนิ่ง ไม่ขยับไปทางใด หรือมีพลังของจิตนั้น แน่นอนว่า.. ต้องเป็นผู้ที่มี *สมาธิ*
วันนี้เราคุยธรรมะ เกี่ยวกับเรื่องของการมีสมาธิ มีอย่างไร เป็นยังไงที่เรียกว่า มีสมาธิ
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การที่เราฝึกตนให้เป็นผู้มีสมาธินั้น “เป็นเรื่องที่ดี”
เพราะว่า เราจะเป็นผู้ที่ทำสิ่งใดก็ตาม 
จะทำด้วยเหตุและผล จะมีสติ มีสมาธิ ในการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง 
และการที่จะมีเรื่องผิดพลาดกับเรานั้น ย่อมมีได้น้อย
ลูกทั้งหลาย.. ผู้มีสมาธิ แน่นอนว่า ต้องเป็นผู้หมั่นบำเพ็ญ นั่งภาวนา นั่งสมาธิ 
ให้จิตของตนนั้น เกิดพลังของจิตอย่างแท้จริง…
การที่เรานั่งสมาธิ แล้วจะก่อเกิดสมาธิอย่างแท้จริงนั้น-- เราต้องมีพลังของจิต พลังของใจ
ที่เราได้ตั้งใจเอาไว้ว่า “ฉันจะนั่งสมาธิ”
การที่เราตั้งใจนั่ง เมื่อนั่งไปสักพักหนึ่ง จิตของเราจึงจะนิ่ง
การที่เรา ได้เอาคำว่า “ตั้งใจ” ไว้ก่อนแล้ว เมื่อเราทำสมาธิไป สมาธินั้นย่อมเกิดมีอยู่ในเรา
และการที่มีสมาธิอย่างแท้จริงนั้น คือ การที่เราจะมีพลังของสมาธิ คือ จิตจะทรงไว้ในความนิ่ง
นั่งวันนี้ นั่งพรุ่งนี้ วันต่อไป นั่งหลายๆวัน มารวมกันทุกวันๆ จนเรานั้น เป็นผู้ที่สงบนิ่ง
... จากที่เป็นคนใจร้อน ทำอะไรวุ่นวาย ทำอะไรมักจะผิดพลาด 
เมื่อเรานั่งสมาธิบ่อยๆ จนตัวของเรานั้นเป็นผู้มีสมาธิอยู่ตลอดเวลา 
ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน-- เราก็จะมีสติ มีสมาธิ อยู่ตลอด 
จะไม่ได้วุ่นวาย จะไม่ทำให้เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่…
การที่เรามีสมาธิแล้วอย่างแท้จริงนั้น คือ ต้องมี แม้กระทั่งเวลาที่เราเดินอยู่ นอนอยู่ กินอยู่ ทำอะไรอยู่ก็ตาม
เราจะมีสติ มีสมาธิ อยู่กับสิ่งที่ทำทุกอย่าง 
--ไม่ใช่มีเฉพาะเวลาที่นั่งหลับตาเท่านั้น --
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การมีสมาธิอย่างแท้จริงนั้น เราต้องมีอยู่ตลอดเวลา 
จิตขยับ ถึงแม้ว่ากายไม่ขยับ-- อันนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสมาธิ
จิตฟุ้งซ่าน วุ่นวายไปเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง.. เช่นนั้น ไม่ใช่สมาธิ 
และการที่กายของเรานั่งนิ่ง และจิตของเราก็นิ่งด้วย เป็นพักๆ
เช่นนั้น ก็ไม่ได้เรียกว่า ผู้มีสมาธิอย่างแท้จริง 
... เป็นผู้ที่เติมสมาธิเท่านั้น
แต่การที่คนเรา จะมีสมาธิอย่างแท้จริงนั้น-- เราต้องเป็นผู้ที่มีสมาธิ อยู่ในขณะที่กายขยับ
แม้กายจะขยับไปทางไหน กายจะทำอะไรก็ตาม จิตเราจะนิ่งอยู่เสมอ 
แม้ว่าเราจะเจอกับเรื่องอะไรก็ตาม เราก็จะยังคงนิ่งอยู่เสมอ 
จิตใจไม่วิ่งไปตามเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ...
< เรียกว่า กายขยับ แต่จิตไม่ขยับ >
ลูกทั้งหลาย.. การฝึกสมาธิ ทีแรกก็อาจจะดูยุ่งๆหน่อย แต่ขอเพียงแค่ให้เรามีความตั้งใจ 
ตอนนี้ฉันจะนั่งสมาธิแล้ว อะไรจะเป็นแบบไหน จะอดีต จะอนาคต ช่างมัน ฉันไม่สนใจ 
“ฉันจะนั่งสมาธิ”
เมื่อเรามีความตั้งใจ เราก็นั่งได้อย่างสงบ 
เมื่อเราสงบวันนี้.. วันพรุ่งนี้.. วันต่อๆไป 
ก็จะรวมกันมาเป็นความสงบ ที่อยู่ในจิตของเรา 
เรียกว่า เป็น*พลังจิตที่มีสมาธิอย่างแท้จริง* 
...ไม่วุ่นวาย ไม่สนใจกับสิ่งใด
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การที่เราจะฝึกสมาธินั้น *เราต้องรู้หลักการของการฝึกสมาธิก่อน*
ทีแรก เริ่มตั้งแต่การที่เรานั่งสมาธินั้น-- เราต้องคอยดูว่า จิตของตนวุ่นวายอยู่กับเรื่องอะไร 
หรือสงบดีแล้ว …
ถ้าจิตวุ่นวาย อยู่กับเรื่องอะไร ให้เราแผ่เมตตา /แผ่บุญไปให้กับสิ่งนั้น จนสิ่งนั้น ดับหายไป 
ไม่ใช่เจอภาพนั้น ก็วิ่งวุ่นตามภาพนั้น 
เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง...
-- ถ้าเราทำเช่นนี้ เราก็จะไม่มีความสงบเกิดขึ้นเลย --
เมื่อเราไปเจอภาพใดภาพหนึ่งที่ผุดขึ้นมา อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย 
แต่ภาพนั้น เป็นเรื่องที่แปลกๆ เรื่องที่ผุดขึ้นมา และให้เรามองดู 
ในขณะที่พลังในตัวของเรานั้นยังไม่เต็ม เราก็อย่าเพิ่งไปสนใจก่อน
ให้เรานั่งนิ่งอยู่กับตนเอง นั่งไปเรื่อยๆ จนกว่าแสงสว่างจะสว่างเจิดจ้า เกิดขึ้น/ มีอยู่ในเรา
เมื่อเห็นกายของเราใสสะอาด เมื่อเห็นตนเอง เห็นในกายนี้อย่างชัดเจนแล้ว 
หากเราปรารถนาที่จะสร้างหรือออกไปจากร่างกาย เพื่อพิสูจน์ธรรมคำสอน จึงจะสามารถอธิษฐานจิตออกไป
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การที่เรานึกถึงในที่ใด จิตเราก็จะไปถึงที่นั้น
และการที่เรานั่งนึกถึงที่สงบ ร่มเย็นนั้น จิตของเราก็จะไปถึงในที่นั้น 
และจะช่วยให้เราเป็นผู้สงบในจิตใจของเราได้ เพราะว่าจิตของเรา..ไปอยู่ในที่ที่สงบแล้ว 
และดึงพลังของความสงบสุข มาให้แก่ตัวของเราแล้ว
การที่เราเป็นผู้มีสมาธินั้น ต้องเริ่มจากการฝึก.. ฝึกเล็กน้อย-- เริ่มไปเรื่อยๆ 
จนเราเป็นผู้ที่มีพลังของจิตอยู่ในตัวของเรามาก
บุคคลผู้ใดที่ไม่ทำสมาธิ ไม่เคยฝึกให้จิตใจของตนนั้นสงบเลย
บุคคลผู้นั้น เขาย่อมมีจิตใจที่เร่าร้อน เป็นทุกข์ วุ่นวาย
พอนานเข้าๆ ก็อาจทำให้เขานั้นเบื่อหน่ายกับสิ่งต่างๆ 
เบื่อโลก ไม่มีพลังที่จะไปสู้ หรือเผชิญกับสิ่งใด..
ทำอะไรก็ตาม ก็มักจะผิดพลาด
บุคคลผู้ใดที่มีสมาธินั้น เขาทำอะไรก็ตาม-- เขาก็จะมีพลังอยู่ในตัวของเขา 
ถึงแม้ว่าเขานั้นจะต้องไปเจอกับสิ่งที่ไม่ดี เรื่องร้ายๆ ก็ตาม 
เขาก็จะสามารถช่วยจิตของเขา ให้หลุดจากเรื่องนั้นได้ ด้วยกำลังของพลังจิต / กำลังของสมาธิ
*สมาธิ* จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในตัวของเราทุกคน 
*สมาธิ* จึงเป็นพลังแห่งการควบคุมจิตของเรา
เมื่อจิตถูกควบคุมด้วยพลังของสมาธิ จิตก็จะนิ่ง เพราะสมาธิ คือ ความนิ่งสงบ 
เมื่อจิตนิ่ง จิตนั้นก็ไม่เร่าร้อน ไม่วิ่งตามสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ไปสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 
เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตเราก็จะมีพลัง อยู่เหนือกาย 
เมื่อเรามีพลังที่อยู่เหนือกาย เราก็จะไม่ทำอะไรที่เป็นทุกข์ หรือเป็นเหตุของทุกข์ 
เมื่อเราไม่เกิดการกระทำที่ไม่ดี.. เราก็จะได้พ้นจากความทุกข์ 
--เพราะว่าเราเลิกแล้ว ต่อการทำชั่ว --
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การที่มีสมาธิ จำเป็นเช่นนี้แหละลูก
< เมื่อเราฝึกตน จนเป็นผู้มีสมาธิแล้วนั้น เราย่อมไม่ทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุของทุกข์ >
บุคคล ผู้ที่มีสมาธิอย่างแท้จริง คือ ผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ มีความสงบในทุกๆเวลา ทุกๆการกระทำของเรา 
เป็นผู้ที่มีสมาธิ อย่างแท้จริง
บุคคล ผู้ที่จะมีสมาธิได้ ต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจในการทำสมาธิ และหมั่นสั่งสมฌานกำลังของสมาธิ ไปเรื่อยๆ 
จนกว่าจะทรงสมาธินั้นอยู่ในเราได้ตลอดเวลา 
เพื่อเรานั้นจะได้เป็นผู้มีสติ ระลึกรู้อยู่ในทุกการกระทำ และไม่ผิดพลาดในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เมื่อเจอปัญหาใดเข้ามา เราจึงจะเป็นผู้ที่มีชัยชนะ.. ด้วยการแก้ไข อย่างถูกต้อง
-- ทางพ้นทุกข์ จึงจะมีเกิดขึ้นอยู่กับเรา --
สาธุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น