วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของสมาธิ
๒. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของใจ
๓. เพื่อให้ผู้ศึกษาเห็นความสำคัญของการทำสมาธิในชีวิตประจำวัน
เนื้อหา
เมื่อกล่าวถึงสมาธิ ต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า สมาธิมิใช่เรื่องของฤๅษีชีไพร หรือมิใช่เป็นเรื่องที่ประพฤติปฏิบัติได้เฉพาะผู้ที่เป็นนักบวชเท่านั้น แต่สมาธิเป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรมจิตใจ และเป็นการพัฒนาจิตให้มีความมั่นคง ตั้งมั่น และทำให้มีคุณภาพทางจิตใจที่ดีขึ้น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานั้น สมาธิสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ทั้งเพื่อประโยชน์ต่อความมีชีวิตที่อยู่เป็นสุขในเพศภาวะของผู้ที่ยังครองเรือน และยังเป็นการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นสำหรับผู้ที่เป็นนักบวชอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สมาธิ ถือเป็นเรื่องสากล กล่าวคือ มิใช่เฉพาะพุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติสมาธิได้ แม้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นก็สามารถปฏิบัติสมาธิได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การฝึกสมาธิจะเน้นให้ความสำคัญของการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นผลด้วยตนเองแล้ว หากมีข้อสงสัยในเชิงปฏิบัติ ก็สามารถที่จะสอบถามจากผู้รู้ผู้ชำนาญได้อย่างตรงเป้าหมายหรือตรงต่อประสบการณ์ที่ตนเองได้ปฏิบัติมา และถึงแม้จะมีการอธิบายรายละเอียดความรู้ของสมาธิในเชิงทฤษฎี แต่กระนั้นก็มิอาจจะที่จะละเลยสมาธิในเชิงปฏิบัติได้
ส่วนประกอบของมนุษย์กับการทำสมาธิ
การปฏิบัติสมาธิ แม้จะเป็นเรื่องของการอบรมทางจิตใจ แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับทางกาย ทั้งนี้หากจะกล่าวโดยทั่วไปนั้น คนเรามีส่วนประกอบใหญ่ ๆอยู่ ๒ ส่วนคือ กาย กับ ใจ
กาย คือ ส่วนที่เป็นเนื้อ หนัง กระดูก ปอด ตับ หัวใจ ไต ฯลฯ ตามที่เราเห็นกันอยู่แล้ว ประกอบขึ้นด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ส่วนหนึ่งของร่างกายประกอบด้วยธาตุส่วนที่ละเอียดมาก เรียกว่า ประสาท มีอยู่ ๕ ส่วน ด้วยกันคือ ประสาทตาใช้ดู ประสาทหูใช้ฟัง ประสาทจมูกใช้ดม ประสาทลิ้นใช้ลิ้มรส ประสาทกายใช้สัมผัส
ใจ คือ ธาตุกายสิทธิ์ชนิดหนึ่งซึ่งครองอยู่ในร่างกายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ใจนี้ไม่ใช่หัวใจ เพราะหัวใจเป็นกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งของกาย แต่ใจอยู่ในลักษณะของพลังงาน จัดเป็นนามธรรม มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และไม่สามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ค้นหาได้ ใจนี้อาศัยอยู่ในกาย สามารถทำงานได้ด้วยการคิดอย่างคล่องแคล่วไปทีละเรื่องและคิดไปได้ไกลๆ ตลอดจนสามารถบังคับควบคุมกายให้ทำกิริยาอาการต่างๆ ได้ โดยมีฐานที่ตั้งถาวรอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ใจมีอำนาจรู้ได้ ทำหน้าที่ประสานงานกับประสาททั้ง ๕ นั้น ด้วยการ
๑) บังคับใช้ประสาททั้ง ๕ (ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย)
๒) รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับประสาททั้ง ๕ ด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ
เห็นได้แก่รับภาพ รับเสียง รับกลิ่น รับรส รับโผฏฐัพพะ (สิ่งแตะต้องกาย) รับอารมณ์ที่กระทบผ่านมาทางประสาททั้ง ๕ แล้ว เปลี่ยนสิ่งที่มากระทบเหล่านั้นทั้งหมดให้เป็นภาพ
จำ ได้แก่บันทึกภาพต่างๆ ที่เห็นผ่านมาแล้วนั้นไว้อย่างรวดเร็วเหมือนภาพที่ถูกบันทึกไว้ในฟิล์มภาพยนตร์เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลต่อไป
คิด ได้แก่ใคร่ครวญพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่จำได้แล้วนั้น ไปในทำนองว่า ดี ชั่ว ชอบ ชัง หรือเฉยๆ
รู้ ได้แก่ตัดสินใจเชื่อหรือรับทราบถึงสภาพสิ่งต่างๆ (ที่มากระทบกับประสาททั้ง ๕ ก่อนที่จะรับ และจำได้) ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้[๑]
ธรรมชาติของใจ
จิต หรือใจ เป็นธรรมชาติที่กวัดแกว่ง ดิ้นรน รักษายาก ห้ามยาก ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ โดยมีการอธิบายลักษณะของใจ[๒]ว่า
๑. ดิ้นรน คือ ดิ้นรนเพื่อจะหาอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ เหมือนปลาถูกจับไว้บนบกดิ้นรนต้องการจะหาน้ำ
๒. กวัดแกว่ง คือ ไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน รับอารมณ์นี้แล้วก็เปลี่ยนไปหาอารมณ์นั้น หลุกหลิกเหมือนลิง ไม่ชอบอยู่นิ่ง
๓. รักษายาก คือ รักษาให้อยู่กับที่หรือให้หยุดนิ่งโดยไม่ให้คิดเรื่องอื่น ทำได้ยาก เหมือนเด็กทารกไร้เดียงสา จะจับให้นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆทำได้ยาก
๔. ห้ามยาก คือ จะคอยห้ามคอยกันว่า อย่าคิดเรื่องนั้น จงคิดแต่ในเรื่องนี้ แต่ทำได้ยาก เหมือนห้ามโคที่ต้องการจะเข้าไปกินข้าวกล้าของชาวนา ทำได้ยากฉะนั้น
บางคราวเราจึงได้ยินคำเปรียบเทียบจิตนี้ว่าเหมือนกับเด็กอ่อน ซึ่งยากแก่การควบคุม บางทีก็เปรียบจิตเหมือนกับลิง คือ จิตนี้ไม่อยู่กับที่ ชอบดิ้นเข้าไปหาอารมณ์ ไม่หยุดหย่อน เหมือนกับลิงซึ่งจับกิ่งไม้นี้ แล้วก็โหนไปสู่กิ่งโน้น ไม่หยุดหย่อน
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็ได้อธิบายถึงจิตใจของมนุษย์โดยทั่วไปว่าปกติใจเรามักจะไม่หยุด จะซัดส่ายไปในเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนเด็กๆ ยังไม่มีเรื่องมาก ใจก็จะหยุดง่าย แต่พอเจริญเติบโตขึ้น ก็มีเรื่องราวที่จะต้องนึกคิด เช่น เกี่ยวกับการเรียนบ้าง การเล่นบ้าง สิ่งที่ทำให้เพลิดเพลินบ้าง พอเจริญโตขึ้นไปอีก ก็นึกถึงเรื่องที่จะหาคู่ครอง และการครองบ้านครองเรือน ใจก็ซัดส่ายขึ้นไปอีก ต่อมาก็คิดถึงเรื่องประกอบการเลี้ยงชีพ ทำมาหากิน ใจก็จะมุ่งไปเกี่ยวกับเรื่องทำมาหากิน ยิ่งทำให้ใจก็ซัดส่ายไปอีก หรือแตกกระจัด กระจาย กระเจิงกันไป เป็นต้น
ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงจิตหรือใจนี้ว่า มีกิริยา อาการ ลักษณะ และที่อยู่[๓] ดังต่อไปนี้
๑. ทูรงฺคมํ เที่ยวไปไกล
๒. เอกจรํ เที่ยวไปดวงเดียว
๓. อสรีรํ ไม่ใช่ร่างกาย
๔. คุหาสยํ มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย
๑. ทูรงฺคมํ หมายถึง เที่ยวไปไกล กล่าวคือจิตมีธรรมชาติคิดไปได้ไกล หมายถึง จิตยังคงอยู่ที่ตัวเรา แต่สามารถคิดไปหน่วงเหนี่ยวเอาอารมณ์ในที่ไกลๆ ได้ และการไปของจิตทุกดวงไม่จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะ เพียงแค่คิดจะไปก็สามารถไปได้ เหมือนสมมติว่าเรานั่งอยู่ในที่นี้เดี่ยวนี้ แต่บางคนนั้นคิดไปไกล เช่น คิดไปถึงบ้าน ว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือคิดไปถึงเพื่อน ว่าหน้าตาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้พูดคุยกันต่างๆนานา คิดไปถึงครอบครัว เป็นต้น
๒. เอกจรํ หมายถึง เที่ยวไปดวงเดียว เป็นการบอกอาการของจิต และบ่งความหมายไว้สองอย่าง คือÝ คิดอารมณ์ได้ทีละอย่าง และคิดได้โดยลำพัง
การคิดอารมณ์ได้ทีละอย่าง คือ จิตจะคิดอะไรก็คิดได้ทีละอย่าง จะคิดพร้อมกัน ๒-๓ อย่างไม่ได้ คำว่าพร้อมกัน คือ ในขณะเดียวกัน มีวิธีการทดลอง เช่น ลองถือดินสอหรือปากกาไว้ในมือข้างละแท่ง แล้วให้จิตสั่งให้ทั้งสองมือเขียนพร้อมกัน มือหนึ่งเขียนเลข ๕ มือหนึ่งเขียนเลข ๐ ให้พร้อมกันจริงๆ และให้เรียบร้อยด้วย จะพบว่าไม่สามารถทำได้
แม้ว่าจิตไม่สามารถคิดอารมณ์ในขณะเดียวกันได้ แต่ว่าจิตนี้คิดได้เร็วมาก ความคิดของจิตเร็วกว่าร่างกายหรือเครื่องยนต์ทุกชนิดในโลก หรือแม้แต่กว่าความเร็วของแสง บางทีจิตสั่งการเร็วเกินไป จนร่างกายทำให้ไม่ทันก็มี เช่นคนกลัวจัดจนวิ่งไม่ออก ต้องอยู่กับที่ หรือโกรธมากจนพูดไม่ออก
จิตคิดได้โดยลำพัง ซึ่งแตกต่างกับกาย เพราะการไปด้วยกาย ถ้าไปในที่เปลี่ยวยังต้องการเพื่อน แต่การไปด้วยจิตนั้นไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนจิตจึงจะคิดได้ เพราะจิตคิดจะไปไหน ก็คิดไปดวงเดียว แม้คิดทั้งวันจิตก็ไม่เคยเจอจิตของคนอื่น
๓. อสรีรํ หมายถึง ไม่ใช่สรีระ ข้อนี้บอกลักษณะของจิตว่า ไม่ใช่ร่างกายของเราคือ จิตเป็นธรรมชาติที่มีจริง มีรูปร่าง มีลักษณะเป็นดวงใส ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ หรือนักคิดพยายามคิดหาเครื่องมือจับจิต แต่ก็ไม่สามารถจะจับได้ เพราะจิตนั้นเป็นของละเอียดเกินกว่าที่จะจับด้วยเครื่องมือเหล่านี้
ในกรณีนี้มีนักคิดสมัยใหม่ บางคนบางกลุ่มเห็นว่า จิตเป็นเพียงปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดจากประสาทส่วนสมองเท่านั้น ไม่ใช่มีธรรมชาติอย่างหนึ่งต่างหาก โดยให้เหตุผลว่า เมื่อคนนอนหลับ ประสาทไม่ทำงาน คนก็ไม่มีความคิดอะไร แสดงว่าจิตไม่มี ถ้าจิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งต่างหาก ก็จะต้องทำงานได้อิสระ แม้สมองจะพัก ในกรณีนี้มีคำอธิบาย คือในเวลาที่เราดูหนัง เวลาดูเราดูที่จอเห็นมีรูปคน รูปสัตว์ ต่างๆ ครั้นฉายเสร็จ เขาเก็บจอรูปภาพนั้นก็หายไปหมด แต่ความจริงตัวเรื่องหนังจริงไม่ได้อยู่ที่จอ แต่อยู่ที่ฟิล์ม ระหว่างจิตกับประสาทก็เช่นเดียวกัน จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งต่างหากจากสมองและประสาททางกาย แต่อาศัยประสาททางกายซึ่งเป็นเหมือนจอ และจิตเป็นเหมือนฟิล์ม
๔. คุหาสยํ หมายถึง มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย นี้บอกที่อยู่ของจิต ว่าจิตนี้จะอยู่ในร่างกายของเรา อยู่ในศูนย์กลางกาย มีนักคิดหลายท่านบอกว่า จิตอยู่ที่หัวใจ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะถ้าหากจิตอยู่ในหัวใจจริงๆ คนที่ผ่าหัวใจเปลี่ยนหัวใจใหม่ แล้วจิตจะไปอยู่ที่ไหน แสดงให้เห็นว่าจิตไม่ได้อยู่ที่หัวใจ แต่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเราสามารถทราบอาการของจิตได้ด้วยการที่จิตของเราออกไปรับอารมณ์ จากทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อเราเห็นรูป จิตก็จะวิ่งออกไปรับอารมณ์ทางตา แล้วก็นำมาแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึก เมื่อได้ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส จิตก็ออกรับอารมณ์ในทวารนั้นๆ เมื่อไม่รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็คิดอารมณ์ทางใจ คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจิตอยู่ส่วนใดของร่างกาย แต่ทราบชัดว่า จิตนี้มีทางออกจากร่างกายอยู่ ๖ ทาง แต่สำหรับผู้ที่ทำสมาธิได้ดีแล้ว เขาย่อมรู้ว่าจิตอยู่ ณ ที่ใด
และเดิมทีเดียวใจมีลักษณะผ่องใส หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า จิตดั้งเดิมของมนุษย์เป็นประภัสสรหรือมีความสว่างผ่องใส แต่เนื่องจากว่ายังอยู่ในภาวะที่อ่อนตัวไม่มีกำลังต้านทานพอ ในภายหลังจึงถูก กิเลส เข้าไปยึดครองได้และถูกทำให้เสื่อมสมรรถภาพลงไป
ที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะของจิตเพียงคร่าวๆ เพื่อจะให้เห็ดชัดว่า จิตที่เราฝึกนี้มีลักษณะอย่างไร เพราะว่า ถ้าเราไม่รู้ว่า จิตมีลักษณะอย่างไรแล้ว ก็ยากที่จะฝึกจิต เหมือนกับบุคคลที่ทำพลอย ถ้าไม่รู้จักชนิดของพลอยแล้ว ก็ยากที่ทำพลอยให้ได้กำไรÝ คนที่ฝึกจิตถ้าไม่รู้ลักษณะของจิต ไม่รู้อุปนิสัยของจิต ก็ยากที่จะฝึกจิต แต่ถ้ารู้แล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะควบคุมจิต หรือฝึกจิตของตน แม้ยังฝึกไม่ได้ ก็รู้นิสัยใจคอของจิตว่ามีลักษณะอย่างไร[๔]
สมาธิกับชีวิตประจำวัน
โดยปกติในแต่ละวัน คนส่วนใหญ่มักจะให้เวลาตัวเองได้ดูแลร่างกาย ด้วยการรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การพักผ่อนนอนหลับ การออกกำลังกาย หรืออื่นๆ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล สดชื่น แข็งแรง มีชีวิตชีวา ที่จะดำเนินชีวิตไปอย่างผาสุกฉันใด การรักษาจิตใจก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องทำทุกวันเพื่อให้จิตใจมีความสมดุล ที่สามารถจะทำงาน คิด พิจารณา และทำสิ่งต่างๆให้เป็นไปได้อย่างดี Ý
การทำสมาธิเป็นวิธีการบริหารจิตใจที่สามารถช่วยรักษาสภาพจิตใจให้เป็นปกติÝ มีความพร้อมในการที่จะทำให้ความคิด คำพูดÝ และการกระทำในแต่ละวันให้เป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้นเราจึงควรรักษาสมดุลของจิตใจ ด้วยการทำสมาธิทุกๆวันÝ ดังตัวอย่างตารางเปรียบเทียบกิจวัตรประจำวัน สำหรับร่างกาย และจิตใจ ดังต่อไปนี้
กิจวัตรประวัน
|
สำหรับร่างกาย
|
สำหรับจิตใจ
|
ออกกำลังกาย
|
ทำให้ร่างกายแข็งแรง
|
ทำสมาธิ (ทำให้ความคิดฉับไว จิตใจ เข้มแข็ง)
|
อาหาร
|
หล่อเลี้ยงชีวิตไว้ ทำให้มีเรี่ยวแรงกำลัง
|
ทำสมาธิ(ทำให้ใจมีพลัง ไม่อ่อนล้า)
|
ทำความสะอาด
|
อาบน้ำ
|
ทำสมาธิ (ชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีจากใจ)
|
พักผ่อน
|
นอนหลับ
|
ทำสมาธิ (ทำให้ใจได้หยุดคิดและปล่อยวาง)
|
สมาธิคืออะไร
การอธิบายความหมายของสมาธิ สามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงลักษณะผลของสมาธิที่เกิดขึ้นและอธิบายในลักษณะในเชิงการปฏิบัติ เช่น
สมาธิ คือความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ
หรือ สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมาÝ เป็นอาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่Ý มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง อันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติในเวลาเดียวกัน[๕]Ý
หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนดÝ หรือการที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน
ส่วนพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์[๖] ได้ให้ความหมายของการทำสมาธิภาวนาในเชิงของการปฏิบัติว่า การทำสมาธิก็คือการทำใจของเราให้หยุดนิ่ง อยู่ภายในกลางกายของเรา กล่าวคือการดึงใจกลับเข้ามาสู่ภายใน อยู่กับเนื้อกับตัวของเรา ในอารมณ์ที่สบาย เป็นการดึงใจที่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในความคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องสนุกสนานเฮฮา หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ก็ตาม ดึงกลับมาไว้อยู่กับตัวของเราให้มามีอารมณ์เดียว ใจเดียว ซึ่งพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้อ้างอิงถึงพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี(หลวงปู่วัดปากน้ำฯ) ซึ่งท่านอธิบายการทำสมาธิว่า คือการทำให้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ Ýรวมหยุดเป็นจุดเดียว หรือให้รวมหยุดเป็นจุดเดียวในอารมณ์ที่สบายที่กลางกายของเรา ซึ่งวิธีทำให้เกิดสมาธิคือฝึกใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายใน
ลักษณะของสมาธิที่เกิดขึ้นต่อจิตที่ทำให้จิตมีความตั้งมั่น และแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว จะมีลักษณะที่ปรากฏขึ้นให้สังเกตอีกหลายประการ ดังนี้
ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ
๑. ลักษณะบริสุทธิ์
๒. ลักษณะตั้งมั่น
๓. ลักษณะควรแก่การงาน
จิตที่ได้รับการอบรมฝึกฝนดีแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการเจริญสมาธิ จะมีความสงบ เยือกเย็น มั่นคง ไม่หวั่นไหวไป กับอารมณ์ที่มากระทบ ยิ่งเป็นสมาธิในระดับสูง จะมีความเยือกเย็น ประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ
ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงลักษณะจิตที่มีสมาธิ โดยเฉพาะสมาธิในระดับอัปปนาว่า
๑. ตั้งมั่น คือ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่กำหนด
๒. บริสุทธิ์ คือ หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิต
๓. ผ่องใส คือ ไม่มีกิเลสเครื่องทำใจให้ขุ่นมัว
๔. เรียบเสมอ คือ ไม่ฟูแฟบหรือขึ้นๆ ลงๆ เหมือนจิตที่ไม่มีสมาธิ
๕. ปราศจากสิ่งที่จะทำให้มัวหมอง คือ ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองมารบกวน
๖. นุ่มนวล คือ มีความอ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง
๗. ควรแก่การงาน คือ เหมาะที่จะใช้งาน โดยเฉพาะงานด้านพัฒนาปัญญา
๘. มั่นคง คือ ดำรงมั่นเหมือนเสาเขื่อนไม่โยกโคลงหรือหวั่นไหว
เราสามารถอธิบายได้ว่า ใจที่เป็นสมาธิ จะมีลักษณะที่ราบเรียบ สงบนิ่ง เหมือนน้ำนิ่งในสระ ที่ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้เกิดคลื่นกระเพื่อมไหว
ใจที่เป็นสมาธินั้นจะใส กระจ่าง สว่างจนมองเห็นอะไรๆ ได้ชัดÝ เหมือนน้ำที่แม้จะขุ่น เมื่อกวนด้วยสารส้มจนตกตะกอนแล้ว ฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนนอนก้นหมด ปรากฏแต่ความใสกระจ่าง
ใจที่เป็นสมาธิดีแล้วนั้น จะมีความนุ่มนวล ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะใจจะเป็นระเบียบ ไม่สับสน ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่เครียด ไม่เร่าร้อน และไม่มีความกระวนกระวาย
จากข้างต้น เราจะเห็นว่าลักษณะของสมาธิ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของใจÝ ดังนั้นการทำสมาธิจึงไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนเข้าใจว่าจะทำได้เฉพาะในท่านั่ง หลับตา และทำสมาธิเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเราสามารถทำสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็น การยืน เดิน นั่ง นอน แต่หลักที่สำคัญ คือ ให้ใจนั้นตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
ความสำคัญของสมาธิ
สมาธิมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของแต่ละคน โดยคนทุกคนที่ประกอบการงานอยู่ในโลก จำเป็นต้องใช้สมาธิจิตอยู่เสมอเพียงแต่อาจจะไม่ได้สังเกตหรือไม่รู้สึกตัว เช่น
ครูที่สอนหนังสือ และนักเรียนที่ฟังครูสอน จะต้องมีจิตเป็นสมาธิทั้ง ๒ ฝ่าย ถ้าครูมีสมาธิจิตดี แต่นักเรียนสมาธิไม่ดี สติไม่อยู่กับสิ่งที่ครูสอน นักเรียนก็ไม่เข้าใจ จำไม่ได้ การอ่านหนังสือ ผู้ที่มีสมาธิจิตดี จิตใจจดจ่ออยู่กับหนังสือ ย่อมเข้าใจเรื่องราวและจำได้ดีกว่า
การเล่นทุกชนิด ต้องใช้สมาธิจิต เช่น การตีกอล์ฟ การยิงปืน การทุ่มน้ำหนัก การชกมวยเป็นต้น ผู้มีสมาธิจิตดีย่อมเล่นได้เก่ง
งานทุกชนิดต้องอาศัยสมาธิจึงจะสำเร็จด้วยดี ยิ่งเป็นงานที่ละเอียดประณีตมาก ๆ เช่น งานฝีมือ งานออกแบบ งานแกะสลัก งานศิลปะทุกชนิด ก็ยิ่งต้องใช้สมาธิจิตมากขึ้น
ในด้านการฝึกข่มจิตใจ อันเป็นลักษณะหนึ่งของสมาธิ คนเราจำต้องทำอยู่เสมอ ในวันหนึ่งๆ เราอาจจะไม่อยากพูด ไม่อยากทำ ไม่อยากไป ไม่อยากพบ ไม่อยากได้ยินอะไรหลายๆ อย่าง เราจำเป็นต้องข่มจิตใจ ทำสิ่งเหล่านั้น เพราะเป็นหน้าที่บ้าง เพราะความจำเป็นอย่างอื่นๆ บ้าง บางทีเราอาจอยากทำ อยากพูด อยากไปและอยากอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่เราจำเป็นต้องยับยั้งจิตใจไว้ เพราะไม่ใช่หน้าที่หรือไม่ถึงเวลาหรือสิ่งนั้นไม่เหมาะสมÝ สมาธิจิตจึงจำเป็นที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตที่ได้ผล
จิตที่สงบเป็นสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการคิด การพิจารณา การจดจำ การเรียนรู้ การพูด และการทำงานทุกชนิด เพราะจิตที่สงบแล้ว ย่อมมีความใส เปรียบเทียบเหมือนน้ำในตุ่ม ในถัง หรือในขันที่สงบนิ่ง ไม่กระฉอก ไม่กระเพื่อม ตะกอนย่อมนอนก้นถัง ทำให้น้ำใน ผิวหน้างามเรียบ สามารถจะส่องดูเงาหน้าแทนกระจกได้ ใจที่ใสเหมือนกระจกย่อมส่องให้เห็นภาพภายในที่ชัดเจน คนที่มีภาพภายในใจชัดเจนย่อมตัดสินใจทำอะไรได้ถูกต้องกว่าคนที่มีภาพในใจคลุมเครือหรือมีจิตฟุ้งเหมือนน้ำขุ่น
จิตนั้นมีลักษณะเป็นพลังงานคล้ายแสง ซึ่งแผ่สร้านออกไปรอบๆ แหล่งของแสง เมื่อมันแผ่ไปดูโดยรอบแสงของมันจึงอ่อน ความร้อนจึงน้อย ถ้าต้องการให้มีความร้อนมากมีแสงสว่างมาก ต้องหากระจกรวมแสงมารวมแสงไปไว้ที่จุดเดียว จิตก็เช่นเดียวกัน ถ้ารวมเป็นสมาธิได้จะมีแสงสว่างและมีแรงมากขึ้น สามารถส่องทะลุทะลวงไปได้ไกล ถ้าพูดถึงเรื่องการมองอนาคต การพยากรณ์ของคนมีสมาธิดีจะแม่นยำเหมือนตาเห็น ดีมากกว่าคนมีดวงใจมืดบอดที่เที่ยวเดาสุ่มไป
คนที่กำลังวิ่งหรือนั่งอยู่บนรถที่กำลังแล่น ย่อมมองเห็นอะไรไม่ชัด ถ้าอยากเห็นอะไรชัดตามความเป็นจริง ต้องหยุดวิ่งหรือหยุดรถ จิตใจของคนย่อมวิ่งวุ่นจากอารมณ์นั้นสู่อารมณ์นี้ จากอารมณ์นี้สู่อารมณ์โน้น อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง คนจึงรู้เห็นอะไรไม่ชัดเจน แต่เมื่อใจของเขาหยุดนิ่ง การเห็นจึงชัดเจน
อีกอย่างหนึ่ง จิตของผู้ที่หยุดนิ่ง จิตจะแข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนแสงอาทิตย์ที่ถูกเลนส์รวมลำแสงที่ประกอบด้วยแถบรังสีต่างๆให้พุ่งไปในจุดเดียว ย่อมจะทำให้เกิดพลังความร้อนเผาไหม้ได้Ý จิตที่มีพลังย่อมขับเคลื่อนให้มนุษย์คิด พูดและทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เมื่อสภาวะใจนั้นเกิดมีกำลังใจอย่างมหาศาล สามารถทำลายอุปสรรคต่างๆที่ขวางอยู่ได้ การทำงานของผู้มีสมาธิจึงได้เนื้องานที่มากกว่าและดีกว่า
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า สมาธิมีความมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง เราจึงควรฝึกสมาธิทุกวัน และฝึกฝนใจของเราให้เกิดความสมดุล และมีคุณภาพในการที่จะทำงานในแต่ละวัน และเมื่อเราสามารถฝึกได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน ก็จะทำให้ใจของเรามีคุณภาพ และสมรรถภาพที่ดี
บรรณานุกรม
วริยา ชินวรรโณ และคณะ, [๒๕๔๓] สมาธิในพระไตรปิฎก, กรุงเทพฯ.
พระภาวนาวิริยคุณ, [๒๕๓๑] ชาวพุทธต้องรู้, กรุงเทพฯ.
พระภาวนาวิริยคุณ(เผด็จÝ ทัตตชีโว), [๒๕๔๕] พระแท้, ปทุมธานี .
พระราชภาวนาวิสุทธิ์, [๒๕๓๗] บทพระธรรมเทศนา วันอาทิตย์ต้นเดือน,( ๖
พฤศจิกายน ๒๕๓๗) ปทุมธานี.
พระเทพวิสุทธิกวี, [๒๕๓๘] บทอบรมกรรมฐาน,กรุงเทพฯ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น