วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้ศึกษาทราบถึงประโยชน์ของการทำสมาธิในพระพุทธศาสนา
๒.เพื่อให้ผู้ศึกษาเห็นถึงความสำคัญของทำสมาธิ
เนื้อหา
ความเป็นมาของสมาธิในพุทธศาสนา
ในครั้งสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้น พระองค์ได้ทรงออกผนวช เพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ การแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ของพระองค์ซึ่งรวมระยะเวลายาวนานถึง ๖ ปีแห่งการแสวงหาโมกขธรรมนั้น ในที่สุดพระองค์ก็ทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นได้อย่างแท้จริงนั้น คือ การทำสมาธิ พระพุทธองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานและกระทำสมาธิอย่างจริงจัง จนในที่สุดพระองค์ก็ทรงบรรลุเข้าสู่ภาวะสูงสุดของการพัฒนาจิตใจมนุษย์นั่นคือการกำจัดอาสวะกิเลสให้หมดไปได้และได้พบความสุขอันแท้จริง
สมาธิจึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การที่มนุษย์คนใดจะพัฒนาถึงขั้นสูงสุดในการกำจัดความชั่วร้ายออกไปจากใจได้อย่างสิ้นเชิงและพบกับความสุขอันแท้จริงนั้น บุคคลนั้นต้องทำสมาธิและต้องสมาธิอย่างจริงจัง
ในการแสดงธรรมเทศนาครั้งแรกคือธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงอานิสงส์ของการหยุดใจ ๕ ประการนั่นคือ
๑.ทำให้ได้จักษุ คือมีดวงตาเห็นธรรม ได้ดวงตาที่มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าดวงตามนุษย์ธรรมดา
๒.เกิดญาณ คือได้ญาณทัสสนะซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะเข้าไปรู้แจ้งเรื่องราวต่างๆ
๓.เกิดปัญญา คือทำให้ได้ปัญญา มีความฉลาดรอบรู้มากขึ้น
๔.เกิดวิชชา คือ มีความรู้แจ้งอย่างน้อย ๓ ประการคือ
๑. รู้แจ้งเรื่องราวทั้งในอดีตชาติและในอนาคตของตน
๒.รู้แจ้งในการเกิดการตายของสัตว์ ว่าสัตว์เหล่านี้ตายแล้วไปไหน ตายแล้วไปเกิดที่ใด ทำกรรมอะไรจึงได้มีรูปร่างอย่างนี้
๓.รู้แจ้งในการกำจัดกิเลสภายในของตนเอง
๕.ประการสุดท้ายคือได้อาโลโก คือแสงสว่าง ใจจะเกิดแสงสว่างที่จะช่วยในการเห็นสิ่งต่างๆ
สิ่งที่พระองค์ทรงเทศนาไว้ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อบุคคลได้ทำสมาธิเขาจะมีดวงตาทางใจที่ดีขึ้น เกิดความรู้ คู่กับแสงสว่าง คือทั้งเห็น ทั้งรู้ ทั้งสว่างควบคู่กันไป จนกำจัดกิเลสให้หมดไปได้ในที่สุด
สมาธินั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนเหมือนกับอากาศที่ขาดไม่ได้ Ýซึ่งถ้าหากเราขาดสมาธิเมื่อใด เมื่อนั้นเราจะขาดสุข เมื่อเราขาดสุข ชีวิตของเราก็จะอยู่ไม่ได้
ประโยชน์ของสมาธิในพระไตรปิฎก
สมาธินั้นมีประโยชน์มากมาย โดยพระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นอานิสงส์ของสมาธิไว้ ๔ ประการ[๑] คือ
๑.พบสุขทันตาเห็น
๒.ได้ญาณทัสสนะ
๓.มีสติสัมปชัญญะ
๔.กำจัดอาสวะกิเลสได้
ประการที่ ๑ พบความสุขทันตาเห็น[๒]
ความสุขเบื้องต้น
สมาธิเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสุข ทุกวันนี้ทุกลมหายใจเข้าออกของชาวโลกต่างพะวงอยู่แต่เรื่องนอกกายเป็นส่วนมากเช่นห่วงบุตรบ้าง ห่วงภรรยาบ้าง ห่วงงานบ้าง ฯลฯ ถ้าห่วงสิ่งไรก็ต้องเอาธุระต่อสิ่งนั้น เราเรียกการเอาธุระต่อสิ่งภายนอกเหล่านี้ว่า แบก เริ่มแรกก็แบกตนเองก่อนต่อมาก็แบกภรรยา แบกลูก แบกหลาน แบกทรัพย์สมบัติ แบกบ้านเรือน แบกประเทศไม่ช้าก็แบกโลกทั้งโลกโดยไม่รู้ตัว
ครั้นแบกมากเข้าก็เหนื่อย ร้องหาคนอื่นมาช่วยแบกบ้าง ปากก็ร้องว่า หนักๆๆ พระท่านก็สอนให้วางเสียก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเขาเหล่านั้นรู้จักการปล่อยใจผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิ น้อมใจเข้ามาที่ศูนย์กลางกายเสมอ ๆ ใจเขาจะหยุดห่วงธุระต่างๆที่ทนแบกหามาสุมตนเองไว้โดยไม่จำเป็น สิ่งเหล่านั้นก็จะร่วงหล่นไปเอง กาย ใจก็เบาลงได้รับความสุขมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
ในระดับเบื้องต้นของผู้ที่ฝึกสมาธิ แค่เพียงปล่อยวางจิต ให้ผ่อนคลายจากเรื่องราวต่างๆ แค่นี้ก็เป็นความสุขในเบื้องต้นของการทำสมาธิยังไม่ต้องกล่าวถึงความสุขที่ยิ่งๆขึ้นไป
ความสุขที่แท้จริง
ความสุขเป็นรากฐานของชีวิตทั้งมวล ทุกชีวิตต่างปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งสิ้น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า สุขกามานิ ภูตานิ สัตว์โลกทั้งหลายปรารถนาความสุขจากการได้เห็น การได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสและได้จากนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ
ความสุขที่แท้จริงคือ การหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข นั่ง นอน ยืน เดิน ก็เป็นสุข เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ไม่เลือกสภาวะเวลา และสถานที่ ความสุขเช่นนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างปรารถนา
สมาธิเป็นสิ่งที่นำมนุษย์เข้าสู่ความสุขที่แท้จริงนี้ได้ เป็นความสุขที่ต่อเนื่องกันทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรม เพราะเมื่อใจของใครสามารถเข้าสู่ภายใน เข้าไปสนิทกับจุดศูนย์กลางกาย ผู้นั้นจะได้พบกับโลกส่วนตัว พบความอัศจรรย์ พบแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่มนุษย์ทั้งมวลปรารถนา เป็นแหล่งแห่งความสุขที่มีอยู่ในตัวของเรา เป็นความสุขที่แตกต่างไปจากความสุขธรรมดาที่พบอยู่ในชีวิตประจำวัน
ในเวลานั้น ผู้ที่มีใจหยุดได้ จะรู้ได้ทันที ว่ามีความสุขที่ตนเคยพบอยู่ทุกวันก่อนหน้านี้ เป็นเพียงความสนุกสนาน เพลิดเพลินกันชั่วคราวเท่านั้น เกิดขึ้นชั่วครู่แล้วก็ดับหายไป เป็นความสุขเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถครอบครองได้ ซ้ำยังมีความทุกข์เจือปนอยู่
ความสุขเหล่านั้น แตกต่างจากความสุขภายใน ที่เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ แจ่มใสเจิดจ้าอยู่ตลอดเวลาให้ทั้งความสุขและปัญญาโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยจากผู้ใดนอกจากใจที่หยุดแล้วของตัวเอง
เมื่อใดใจหยุด เมื่อนั้นจะได้คำตอบให้ตัวเองว่า ได้พบสิ่งที่แสวงหามาตลอดชีวิตแล้ว เป็นความสุขที่แท้จริง ที่ไม่รู้จักเบื่อและสามารถสุขได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนการเปิดเถาปิ่นโตเข้าไปเป็นชั้นๆ
เมื่อใดเข้าถึงดวงธรรมภายใน จะรู้ด้วยตัวเองว่า ความรู้จริงภายในนั้นกว้างใหญ่ ไม่มีขอบเขต เป็นความรู้คู่ความสุข เต็มไปด้วยภูมิปัญญา เป็นสิ่งที่ค้นหาได้ด้วยใจอันสว่างไสว ชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ปลอดภัย และมีความพอใจที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องแสวงหาที่ไหนอีกต่อไป นอกจากปล่อยใจให้ไหลลงไปในกระแสแห่งความสว่างไสวตรงศูนย์กลางกายเท่านั้น
สุขจากสมาธิ ๒
ถ้าจะแยกความสุขที่ได้รับจากสมาธิ จะสามารถแยกได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑.สุขในปัจจุบัน คือความสุขที่ได้จากใจหยุดนิ่งในปัจจุบันหรือสุขที่ได้จากฌานหรือสุขที่ได้จากการเข้าถึงพระธรรมกายในขณะที่ปฏิบัติธรรม เป็นสุขทันตาเห็นที่เราเริ่มต้นปล่อยใจให้ผ่อนคลายจากเรื่องราวที่วุ่นวายต่างๆในชีวิตประจำวัน จากความเครียดที่เกาะกินใจ เมื่อใจเริ่มหยุดความสุขก็จะเกิดขึ้นจากตรงนี้ และเมื่อได้ปฏิบัติต่อไป ความสุขจากสมาธินั้นจะลุ่มลึกไปตามลำดับจากสุขน้อยไปสู่สุขที่ยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพานอันเป็นบรมสุข ดั่งคำพุทธพจน์ที่ว่า ìนิพพานํ ปรมํ สุขํî[๓]ÝÝนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขเหล่านี้เราหาพบได้จากการหยุดใจ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงพระอรหัตซึ่งจะเหนือจากสิ่งที่เราหาได้จากการกิน ดื่ม พูด คิด จากรูป รส กลิ่นและเสียงโดยทั่วไป อันเป็นเพียงความเพลินให้ลืมทุกข์ชั่วคราว ซึ่งความสุขจากการดื่มกินเมื่อเทียบสุขที่เกิดจากการหยุดนิ่งก็เปรียบเสมือน เศษของความสุขเท่านั้นÝ ท่านจึงได้กล่าวเอาไว้ว่า ìนตฺถิ สนฺติปรํ สุขํî[๔] สุขยิ่งกว่าหยุดนิ่งไม่มี นี้เป็นสุขที่ได้ในปัจจุบัน
๒. สุขในอนาคต คนที่มีสมาธิ ตายแล้วจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ถ้าหมดกิเลสก็ไปเสวยสุขที่ยอดยิ่งในพระนิพพาน นี้เป็นสุขที่จะพึงได้ในอนาคต
ประการที่ ๒ มีญาณทัสสนะที่ทำให้รู้สภาพการณ์ต่างๆของโลกและของตนเองตามความเป็นจริง
ความจำกัดทางสรีระบางอย่างเกี่ยวกับนัยน์ตาทำให้เราเห็นโลกและตัวเราเองจำกัดมาก เช่น ในเวลากลางคืนหรือในความมืดสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัขและแมวยังสามารถเห็นได้ดีกว่าคนหรือในเวลากลางวันเราก็จะเห็นเฉพาะสิ่งที่ห่างพอสมควร ถ้าใกล้เกินไปเช่นหัวคิ้ว ขนตาของตนเองหรือไกลเกินไป เช่น ดวงดาวต่างๆเราก็ไม่อาจเห็นได้หรือถ้าเล็กเกินไป เช่น ตัวเชื้อโรคหรือใหญ่เกินไปเช่นท้องฟ้าและโลกเราก็ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนทุกส่วนด้วยตาเปล่า
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ได้พยายามปรับปรุงความสามารถในการเห็นให้มากยิ่งขึ้นเพราะปัญญาของมนุษย์ย่อมเป็นเงาตามตัวกับการเห็นยิ่งเห็นมากเท่าไรก็ทำให้เรายิ่งเกิดปัญญามากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงมีมนุษย์ที่พยายามสร้างอุปกรณ์ที่ช่วยในการเห็นเพิ่มขึ้นมา ทั้งกล้องจุลทรรศน์กล้องดูดาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการเห็น
แต่แม้มนุษย์จะพยายามอย่างยิ่งเพียงใด อุปกรณ์เหล่านั้นก็ไม่สามารถจะทำให้มนุษย์เห็นใจของตัวเองได้เลย มนุษย์จึงไม่สามารถรู้เรื่องราวที่ลึกไปกว่านั้นคือ เรื่องราวของสวรรค์ นรกและนิพพานได้ ส่วนผู้ที่มีใจสงบดีแล้ว จะได้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่าญาณทัสสนะ ญาณเป็นเครื่องรู้ ทัสสนะ เป็นเครื่องเห็น ผู้ที่ฝึกสมาธิดีแล้วจะได้เครื่องมือชนิดนี้ที่ทำให้ทั้งรู้และทั้งเห็นไปพร้อมกัน เครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องมือชนิดเดียวเท่านั้นที่ทำให้มนุษย์สามารถที่จะเห็นใจตัวเอง และสามารถที่จะรู้แจ้งในเรื่องราวของโลกและชีวิตตามความเป็นจริงได้Ý และการที่บุคคลจะได้เครื่องมือชั้นยอดอย่างนี้ก็ด้วยการหยุดใจทำสมาธิเท่านั้น
ถ้าเราจะขยายความออกไปอีก ก็คือ สมาธิที่ดีจะทำให้ได้ความรู้แจ้ง เหมือนดึงของออกจากที่มืดมาตั้งไว้กลางแดด หรือเสมือนน้ำในตุ่มที่มีตะกอนขุ่นเอาก้อนหินไปใส่ก็มองไม่เห็นแต่ถ้าปล่อยให้ตะกอนนอนก้น ก็จะมองเห็นได้ชัดเจน แม้เข็มตกลงไปก็เห็นได้ ใจที่ถูกครอบงำไว้ด้วยความโลภ ความโกรธและความหลงทำให้ขุ่นมัว ถ้าตะกอนใจนอนก้นเมื่อไรใจก็จะมีความสามารถในการเห็นที่สามารถล่วงรู้ถึงภาพที่เกิดขึ้นในอดีต ที่เรียกกันว่า ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติได้ หรือสามารถล่วงรู้ถึงภาพเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่เรียกว่า อนาคตังสญาณ หรือแม้กระทั่งตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจ มานับกัลป์ไม่ถ้วนก็สามารถจะมองเห็นและกำจัดออกไปได้
การเห็นของผู้ที่มีสมาธิจิตดี จะไม่มีขีดจำกัด ไร้พรมแดน คนโดยทั่วไปอาจจะสามารถมองสิ่งต่างๆได้เพียงด้านเดียวหรือสองด้าน แต่ผู้ที่ทำสมาธิที่สามารถจะมองสิ่งต่างๆได้หลายมุมมอง ทุกด้าน แทงทะลุในสิ่งที่ผู้อื่นไปไม่ถึง ถ้าเราจะเปรียบกำลังของดวงตาธรรมดาก็เหมือนกับไฟฉายที่ส่องไปบนท้องฟ้ากำลังของแสงไฟไปเท่าใดเขาก็จะเห็นเพียงเท่านั้น ผิดกับดวงตาของผู้มีรู้มีญาณที่สามารถเห็นในสิ่งที่ตามนุษย์ไปไม่ถึงได้ สิ่งเหล่านี้จะพิสูจน์ได้ ก็ต่อเมื่อได้มาลองปฏิบัติธรรมในแนวทางการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา
ประการที่ ๓ มีสติสัมปชัญญะดีเยี่ยม[๕]
สติ คือความระลึกนึกได้ถึงความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เป็นสิ่งกระตุ้นเตือน ให้คิดพูดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ลืมตัว ไม่เผลอตัว ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้
ธรรมชาติของจิตมีการนึกคิดตลอดเวลา การนึกคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้ว จะทำให้ไม่เผลอ ควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไป ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ
การทำสมาธิก็คือการทำให้สติมั่นคง ไม่วอกแวก คนที่ทำสมาธิเนืองๆ ใจของเขาจะอยู่กับตัว ไม่วอกแวก เขาจะเป็นคนไม่ทำอะไรอย่างขาดสติ แบบหลงๆ ลืมๆ ใจของเขาจะอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เราจะเห็นว่า คนที่ทำสมาธิดีจะเป็นคนที่คุยกันได้รู้เรื่อง และใจของจะจดจ่อในเรื่องที่ทำเสมอ
การฝึกสมาธิเป็นการฝึกสติโดยตรงให้ใจตั้งมั่น และรู้ตัวในทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว ซึ่งจะให้อานิสงส์ ดังต่อไปนี้คือ
๑. ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ เช่น จะดูหนังสือก็สนใจคิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น
๒. ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความ เป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม
๓. ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระมีพลัง เพราะมีสติควบคุม เสมือนเรือที่มีหางเสือควบคุมอย่างดี ย่อมสามารถแล่นตรงไปใน ทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่วกวน
๔. ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์
๕. ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์Ý เพราะมีสติมั่นคงจึงไม่เผลอไปเกลือกกลั้วบาปอกุศลกรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญาหรือเหตุผลที่บริสุทธิ์
ประการที่ ๔ กำจัดอาสวะกิเลสได้
อาสวะกิเลสภายใน เป็นภัยอย่างใหญ่หลวงที่หาบหามเอาความทุกข์เข้ามาสู่ตัวเรา การกระทำของเราหลายประการที่ต้องเดือดร้อนเพราะการตามใจกิเลสนั้นมีมากมายสุดพรรณนาแต่สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ด้วยการทำสมาธิ เราจะพบว่า คนที่ทำสมาธิ หลายคนจากที่เป็นคนใจร้อน เจ้าโทสะจะกลายเป็นคนใจเย็น มีเมตตาหรือบางคนสามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของตนให้ดีขึ้นได้ด้วยสมาธิ อันเป็นเครื่องชี้บ่งให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าสมาธินั้นทำให้คนมีโมหะน้อยลง นี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิในการกำจัดกิเลสในเบื้องต้น ในระดับที่ลึกกว่านั้นสมาธิ จะเป็นสิ่งที่กำจัดกิเลสได้จริงและอย่างเด็ดขาด เมื่อเราได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
ประโยชน์ของสมาธิตามทัศนะของพระมหาเถระ
จากข้างต้นเราจะเห็นว่า ประโยชน์ของสมาธินั้นมีมากมายหลายอย่าง ต่อไปนี้จะได้แสดงถึงอานิสงส์ของสมาธิในบางส่วนบางข้อที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิในทางพระพุทธศาสนา
ประการที่ ๑ ทำให้มีความสามารถในการทำงานเหนือผู้อื่น[๖]
สิ่งที่นักทำงานปรารถนาอย่างยิ่งก็คือ
๑.ทำงานได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย การทำสมาธิที่ถูกต้องทำให้เรารู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ คนที่ทำสมาธิอยู่เสมอจะมีความรู้สึกตัวเบาใจเบา และมีความสุขกับการทำงานทุกอย่าง เหมือนกับการที่เราได้ทำในสิ่งที่ชอบใจ เราย่อมจะมีความรู้สึกสนุกและเบิกบาน ใจของคนที่มีความสุขก็เช่นกันไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ดูจะมีความสุขไปหมด จึงไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งตรงข้ามกับคนไม่มีสมาธิ เมื่อจะทำอะไรดูทุกสิ่งจะแย่ไปหมด
๒.ทำงานได้รอบคอบเกิดประโยชน์และมีผลเสียหายน้อย เราจะสังเกตเห็นว่าผู้ที่มีสมาธิดีจะเป็นผู้ที่ใจเย็น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเขาจะทำใจให้สงบ เหมือนที่ผู้รู้ได้กล่าวเอาไว้ว่า เมื่อใจสงบจะพบทางออกและในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินเขาจะเป็นคนที่มีแก้ปัญหาด้วยสติ ไม่ร้อนรน เขาจะเป็นคนที่มีสติ ผู้ที่มีสมาธิดีจะมีสติดี สติเป็นตัวทำให้เกิดความรอบคอบ เมื่อคนได้ทำสมาธิเขาจะมีสติอยู่กับตัว ใจไม่ซัดส่าย วอกแวก เมื่อจะทำอะไรใจก็จะมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผลงานจึงออกมาประณีตและ การที่ทำสมาธิบ่อยใจก็จะเป็นระบบ การจัดสรรงานก็จะออกมาเป็นระเบียบทำงานน้อยลงแต่ได้ผลงานมากขึ้น ดีกว่าคนที่ทำอะไรแบบหลงๆลืมๆ งานก็ตกๆหล่นๆ ต้องตามมาเก็บงานหรือต้องทำซ้ำใหม่บ่อยๆ ทำให้งานเสียหายได้ง่าย
๓.คาดการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ คนที่จะคาดการณ์ได้ดี คนๆนั้นต้องมีภาพภายในใจ ที่ชัดเจน เหมือนกับสถาปนิกที่ดี การที่เขาจะออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างได้ดี เขาก็ต้องมีแบบสำเร็จที่อยู่ในใจที่ชัดเจน จึงจะรู้ว่าโครงสร้างของอาคารนั้นต้องประกอบด้วยไม้กี่ชิ้น กระดานกี่แผ่น คนที่จะคาดการณ์งานได้ดีภาพในใจของเขาต้องชัดเจนจึงจะมองออกว่า เมื่อถึงที่สุดแล้วภาพงานสำเร็จจะออกมาในรูปไหน มีลักษณะอย่างไร เมื่อภาพในใจของเขาชัดเจนมาก สิ่งที่คาดหวังไว้จึงมาค่อนข้างตรง ผิดกับคนที่มีสมาธิไม่ดีภาพในใจจะไม่ชัดเจนดังนั้นงานที่ออกมาสำเร็จจึงไม่ค่อยสู้ดี ไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย
ถ้านักทำงานคนใดมีคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการนี้เขาย่อมสามารถทำงานได้ดีกว่าคนอื่นๆอย่างแน่นอนหลังจากตั้งใจฝึกสมาธิไปเรื่อยๆไม่ทอดทิ้งแล้ว ถึงระยะหนึ่งใจย่อมของผู้นั้นจะสงบนิ่ง นิสัยก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีได้เอง ที่เป็นคนมักโกรธก็กลับกลายเป็นยิ้มแย้ม คนชอบตระหนี่เอาเปรียบก็กลับโอบอ้อมอารีที่เป็นคนเจ้ากังวลก็กลับรู้จักตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือ
ตัดความลำเอียงได้กลายเป็นคนเลือกแบก เลือกทำ กาย วาจาใจ จึงเบากว่าผู้อื่นไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องไร้สาระให้เหนื่อยเกินเหตุทำงานน้อยกลับได้ผลมาก และความไม่ลำเอียงที่ฝึกได้นี่เองทำให้สามารถตัดสินใจและคาดการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำเหมือนตาเห็น เกิดความสามารถพิเศษในการทำงานอย่างน่าอัศจรรย์
ประการที่ ๒ ทำให้ใจมีพลัง
ใจที่มีพลัง เปรียบเสมือนการเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อน เมื่อน้ำมากเข้าก็สามารถนำมาใช้งาน นำมาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า หรือเหมือนเลนส์ที่เมื่อแสงตกกระทบก็จะรวมแสงเป็นจุดเดียว ทำให้เกิดความร้อนเผาไหม้สิ่งต่างๆได้ เช่นเดียวกับใจที่รวมที่ศูนย์กลางกาย จะทำให้มีพลังทำในสิ่งที่อัศจรรย์ได้ ใน สามัญญผลสูตร[๗] เราจะรู้ว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนฝึกสมาธิให้จิตมีพลัง จนสามารถที่จะมีฤทธิ์ทางใจ เหาะเหินเดินอากาศได้ และสามารถแสดงฤทธิ์อื่นได้มากมาย ด้วยพลังทางใจที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิอย่างถูกวิธี
อภิญญา ๖ เป็นความรู้ยิ่งในพระพุทธศาสนา ๖ ประการ โดยเฉพาะประการที่ ๖จะไม่มีปรากฏอยู่ในลัทธิอื่นๆ นอกพระพุทธศาสนา อภิญญา ๖ ประการเป็นความรู้ที่เกิดจากพลังใจที่สูงส่ง ที่เป็นผลพลอยได้จากการทำสมาธิในระดับสูง ท่านเปรียบเหมือนîการซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วได้ของแถมเพิ่มมาอีก[๘]îซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาคุณภาพจิตใจของมนุษย์ให้บริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไป
อภิญญา[๙] ทั้ง ๖ ประการนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้หลายที่แต่ในที่นี้จะได้นำเอาเนื้อหาในส่วนที่พระองค์ทรงตรัสให้แนวทางแก่พระวัจฉะ ถึงผลของการทำสมาธิที่จะเจริญตามลำดับขั้นของความบริสุทธิ์ของใจดังต่อไปนี้คือ
ประการที่ ๑ เมื่อใจบริสุทธิ์ถึงขั้นหนึ่งจะบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ ไปไม่ติดขัดดุจไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
ประการที่ ๒ จะฟังเสียงทั้งสองคือเสียงทิพย์และเสียงของมนุษย์ ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์ ที่เกินกว่าหูของมนุษย์จะฟังได้
ประการที่ ๓ จะกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วย คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ รู้ว่าจิตหดหู่หรือจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นใหญ่ รู้ว่าจิตเป็นใหญ่ หรือจิตไม่ใหญ่ รู้ว่าจิตไม่เป็นใหญ่ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ประการที่ ๔ จะระลึกชาติก่อนได้มาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลาย ๆ กัปบ้าง ในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น มีอายุเพียงเท่านั้น ตายจากชาตินั้นแล้ว ได้ไปเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้รับสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีอายุเท่านั้น จุติจากชาตินั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้
ประการที่ ๕ จะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังตาย กำลังเกิด อยู่ในสภาพที่เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยตาทิพย์ที่บริสุทธิ์ ล่วงดวงตาของมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประพฤติชั่วทั้งทางกาย วาจาและใจ ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตาย เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประพฤติดีทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตาย เขาเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์
ประการที่ ๖ จะหมดกิเลสด้วยปัญญาของตนเอง
ดังนั้น เราจะเห็นถึงอานุภาพของใจที่มีพลังย่อมกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มาก ซึ่งการที่เราแค่เพียงเริ่มทำสมาธิเราจะเริ่มรู้สึกถึงการเริ่มต้นไปสู่ความรุ่งเรืองของชีวิต เราจึงไม่ควรละเลยที่จะทำสมาธิทุกๆวัน เพื่อให้ชีวิตของเราเข้าถึงความสมบูรณ์เหมือนดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่ท่านได้เป็นกันมาแล้ว
ประการที่ ๓ มีภพอันวิเศษเป็นที่อยู่
ถ้าเราได้มีโอกาสศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา เราจะพบว่า ในภพภูมิที่เราอยู่นี้มี ถึง ๓๑ ภพภูมิ ซึ่งถ้าจะแบ่งง่ายๆ ก็สามารถที่จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นสุคติภูมิ ภพภูมิที่ดีและส่วนที่เป็นทุคติภูมิ ภพภูมิที่ไม่ดี โลกมนุษย์ที่เราอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของสุคติภพ
ในทางพระพุทธศาสนา การที่บุคคลละจากโลกนี้ไป จะไปสุคติหรือทุคติ สามารถวัดได้จากความใสหรือความหมองของใจ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมองทุคติเป็นที่ไป แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา คือเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็เป็นที่ไป ดังนั้น เมื่อใดใจของใครเศร้าหมอง เขาย่อมไปในที่ไม่ดี แต่เมื่อใดใจของเขาผ่องใส เขาย่อมได้ไปในภพภูมิที่ดี
คนที่ทำสมาธิได้ดี ย่อมมีใจที่ผ่องใส เมื่อใจเขาผ่องใส จึงมักได้ไปในภพภูมิที่เป็นสุคติ เรียกกันอีกอย่างก็คือไปสวรรค์ ไปเป็นพรหม ซึ่งจะตรงข้ามกับคนที่มีใจฟุ้งซ่าน ซึ่งมักจะได้ไปท่องเที่ยวอยู่ในอบาย
ในอีกด้านหนึ่ง ภพหรือโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่นี้ทางศาสนาเรียกว่ากามภพคือโลกที่อาศัยของยังบริโภคกามที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในโลก ส่วนมากยังหลงยินดีอยู่แต่ในเรื่องผัวๆเมียๆห่วงเรื่องการเสพกามเป็นกำลังทำให้ได้รับความทุกข์มากโดยใช่เหตุแต่สัตว์โลกก็ยังหลงยินดีในสุขเล็กๆน้อยๆเพราะหลงเข้าใจว่าเป็นสุขที่เขาควรจะได้รับ
ผู้ที่ฝึกสมาธิถึงแม้ยังต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพยังมีครอบครัวแต่ก็ยังมีเวลาปลดโลกออกจากบ่าได้ชั่วคราว ดังนั้น ถึงแม้จะอยู่ในโลกแต่ก็เหมือนกับอยู่กันคนละโลกเพราะเป็นโลกที่ได้รับการพักผ่อนบ้างแล้ว เมื่อละโลกไปก็ไปอย่างสบายไม่อาลัยยินดีในโลกมนุษย์อันเต็มไปด้วยภาระนี้ สามารถเลือกภพที่ตนเองต้องการได้เพื่อพักผ่อนได้
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์Ý ท่านได้ให้ทัศนะไว้ว่า ภพอันวิเศษนี้คือพระนิพพาน ìเป็นภพที่วิเศษกว่าภพใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ในอายตนนิพพาน มีแต่ผู้รู้Ý ผู้ตื่นÝ ผู้เบิกบานแล้ว ผู้หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ î[๑๐]
ประการที่ ๔ สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้[๑๑]
การเข้าถึงนิโรธสมาบัติก็คือการเข้านิพพานทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ นิพพานชนิดนี้เรียกว่านิพพานเป็นหรือที่เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานซึ่งอยู่ในกายมนุษย์นี้ ผู้ที่ทำสมาธิได้ระดับนี้ จะสามารถนั่งสมาธิได้ตลอด ๗ วัน ๗ คืน โดยไม่รับประทานอาหารแต่อย่างใด แต่อยู่ได้ด้วยอาหารคือ สุขจากการทำสมาธิÝ เราสามารถเข้าไปหาความสุขในนิพพานนี้ได้ แต่ต้องฝึกใจให้หยุดใจให้ได้เสียก่อน
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ให้ทัศนะไว้ว่า การเข้านิโรธสมาบัติ ìเป็นเรื่องของพระอริยเจ้า คือการได้เป็นพระโสดาบัน ได้เป็นพระสกิทาคามี ได้เป็นพระอนาคามี จนกระทั่งได้เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์จะเข้านิโรธสมาบัติได้เพราะใจท่านไม่มีเครื่องเหนี่ยวรั้ง กิเลสไม่หุ้มห่อ ไม่มีอะไรผูกพัน ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรต่าง ๆ ละลายหายสูญสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไปหมดแล้ว ใสบริสุทธิ์แจ่มกระจ่างตลอดวันตลอดคืน ตลอดเวลา ใจไปเป็นพระอรหันต์แล้วÝ จึงเข้านิโรธสมาบัติได้ นิโรธแปลว่า ดับก็ได้ แปลว่าหยุด หยุดก็ได้Ý นิโรธะ หยุด คือใจหยุดนิ่งอย่างดีแล้ว หยุดจากความอยากทั้งมวล เมื่อหยุดก็สว่าง เมื่อสว่างก็เห็น เมื่อเห็นก็รู้ พอรู้ก็หลุด ใจหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บริสุทธิ์สว่าง เข้าถึงความสุขที่แท้จริงภายใน"[๑๒]
โดยสรุปเราจะเห็นว่า สมาธิมีประโยชน์มากมายในทุกด้าน สมาธิที่ดีไม่มีโทษ ให้ความสุข จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะนำใจมาหยุดนิ่งในแหล่งแห่งความสุข คือ ศูนย์กลางกาย
[๑] สมาธิสูตร อัง.จตุกก.๒๑/๔๑/๔๕(สยามรัฐ ฉบับภาษาไทย)
[๒] เผด็จ ทตตชีโว, [๒๕๓๗] คนไทยต้องรู้, กรุงเทพฯ, หน้า๔๒ñ๔๗.
[๓] มาคณฺฑิยสุตฺตํ ม.ม.๑๓/๒๘๗/๒๘๑(บาลี)
[๔] ขุ.ธ.๒๕/๒๕/๔๒ (บาลี)
[๕] พระสมชาย Ýฐานวุฑโฒ. [๒๕๔๒] มงคลชีวิต ฉบับธรรมทายาท. ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์. กรุงเทพฯ. หน้า ๑๘๕
[๖] เผด็จ ทตตชีโว, [๒๕๓๗] คนไทยต้องรู้, กรุงเทพฯ, หน้า๔๒ñ๔๗.
[๗] สามัญญผลสูตร ที.สี.๑๑/๙๑๒๘๘(มหามกุฏฯ)
[๘] พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว).[๒๕๔๕] พระแท้.ครั้งที่ ๕.กรุงเทพฯ,
[๙] มหาวัจฉโคตตสูตร ม.ม.๑๓/๒๖๑-๒๖๖/๒๐๐(สยามรัฐ ฉบับภาษาไทย)
[๑๐] เทปบันทึกพระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๗
[๑๑] เผด็จ ทตตชีโว, [๒๕๓๗] คนไทยต้องรู้, กรุงเทพฯ, หน้า๔๒ñ๔๗.
[๑๒] เทปบันทึกพระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๗
ที่มา http://dou_beta.tripod.com/MD101_08_th.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น