วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565

อารมณ์ของจิตมีจริตอยู่ ๖ อย่าง

..=>คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "สุดแต่กำลังใจ"<=.. 

     .. ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัท
ทั้งหลายฟังคำแนะนำในการเจริญ
กรรมฐานสักครู่หนึ่ง (๓๑ พ.ค. ๒๕๒๙)
สำหรับการเจริญพระกรรมฐานทั้งหมด
ตามแบบนั้นมีอยู่มาก 

     แต่ละแบบก็มีความมุ่งหมายอย่าง
เดียวกัน คือต้องการให้บรรดาท่านพุทธ
บริษัทได้บรรลุมรรคผล อันดับต้นก็เป็น
ฌานโลกีย์เหมือนกัน ต่อมาก็เป็นพระ
โสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี 
พระอรหันต์ 

     นี่การปฏิบัติพระกรรมฐาน บางท่าน
ก็คิดว่าสำนักโน้นทำแบบนั้น สำนักนี้ทำ
แบบนี้ แต่ความจริง "พระพุทธเจ้าตรัสวิธี
ปฏิบัติไว้มาก ทั้งนี้ ก็เพราะว่าสุดแล้วแต่
อัธยาศัยของบรรดาท่านพุทธบริษัท" 

     คำว่า "อัธยาศัย" ก็หมายถึงว่า 
"บุญเก่า" บุญเก่าแต่ละคนปฏิบัติมาไม่
เหมือนกัน ในเมื่อการปฏิบัติมาไม่เหมือน
กัน อัธยาศัยหรือความต้องการก็ไม่เหมือน
กัน โดยที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า 
คนที่เกิดมาในโลกนี้ อารมณ์ของจิต
มีจริตอยู่ ๖ อย่าง 
     ๑."ราคะจริต" รักสวยรักงาม
     ๒."โทสะจริต" โกรธง่าย
     ๓."โมหะจริต" ซึม
     ๔."วิตกจริต" นี่ก็ซึมเหมือนกัน
     ๕."ศรัทธาจริต" เชื่อง่าย
     ๖."พุทธจริต" มีความฉลาด

     ความจริงจริตทั้ง ๖ ตัวนี้มีด้วยกัน
ทุกคน แต่ว่าท่านผู้ใดที่จะมีจริตอย่างไหน
หนักนำหน้า อย่างบางท่านมี "ราคะจริต" 
นำ คนประเภทนี้ใครจะทำอะไรก็ตาม 
ปกติต้องสวยสดงดงามอยู่เสมอ 

     คำว่า "ราคะจริต" ไม่ได้หมายความว่า
มักมากในกามคุณ หมายถึงการรักสวย
รักงาม รักความมีระเบียบ 

     ถ้า "โทสะจริต" นำหน้า มีอะไรนิดอะไร
หน่อยก็มักจะโกรธ 

     ถ้ามี "โมหะจริต" นำหน้า หรือ 
"วิตกจริต" นำหน้า สองอย่างนี้มีอาการ
ซึม คิดอะไรไม่ออก 

     ถ้ามี "ศรัทธาจริต" นำหน้า เขาพูด
อะไรก็เชื่อ ลืมพิจารณาเหตุผล 

     ถ้ามี "พุทธจริต" นำหน้า เป็นคน
ฉลาดมาก 

     รวมความว่าจริตทั้ง ๖ ก็มีในคนทุกคน 
บางคราวจะมีความรักสวยรักงาม บาง
คราวก็ใจเย็น บางคราวก็โมโหโทโสง่าย 
บางครั้งคิดอะไรไม่ออก บางคราวก็เชื่อง่าย
ไร้เหตุผล บางครั้งก็มีความเปรื่องปราด
ในสมอง ใครพูดอะไรมาก็เข้าใจ 

     รวมความว่าจริตของคนจริงๆ มี 
๖ อย่าง แต่ว่าใครจะมีจริตใดนำหน้า 
พระพุทธเจ้าให้ทำลายจริตนั้นก่อน ถ้าจริต
ที่มีกำลังสูงมากอับปางลงหรือสิ้นกำลังลง 
จริตที่เหลืออยู่ทั้งหมดก็ไม่สามารถทรงตัว
อยู่ได้ 

     ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำ
กรรมฐานไว้ถึง ๔๐ อย่าง ๔๐ นี่ก็หมาย
ถึงว่า ท่านตรัสเฉพาะจริต และเกินกว่า
จริตใน ๔๐ อย่างนี่ 

     สำหรับ "ราคะจริต" ทรงให้ตัดด้วย
กรรมฐาน ๑๑ อย่าง มี "อสุภ ๑๐ ประการ" 
และ "กายคตานุสสติ" 

     สำหรับ "โทสะจริต" ให้ตัดด้วย
กรรมฐาน ๘ อย่าง คือ "พรหมวิหาร ๔" 
กับ "วรรณกสิณ ๔" 

     "โมหะจริต" กับ "วิตกจริต" ใช้ 
"อานาปานุสสติ" อย่างเดียว 

     "ศรัทธาจริต" ใช้ "อนุสสติ ๖ อย่าง" 

     แล้วก็ "พุทธจริต" ใช้ "กรรมฐาน ๔ 
อย่าง" 

     รวมแล้วกรรมฐานเฉพาะจริตนี่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๓๐ อย่าง เหลืออีก ๑๐ 
อย่าง เป็นกรรมฐานกลาง กรรมฐานกลาง
นี่คนจะมีจริตแบบไหนก็ตามทำได้ทุกอย่าง 
ทำได้ทุกคน มีผลเท่ากัน 

     รวมความว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้า
ทรงสอนไม่ใช่มีอย่างเดียว ต้นใหญ่จริงๆ 
มี ๔๐ เมื่อต้นไม้มี ๔๐ ต้น ต้นไม้ที่งาม 
ก็ต้องพิจารณาว่า กิ่งมีกี่กิ่ง ก้านมีกี่ก้าน 
ใบมีกี่ใบ 

     พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ถ้าบุคคล
ใดที่อารมณ์หนักมาก ก็ต้องสอนกรรมฐาน
ต้น ถ้ามีบุญวาสนาบารมีดีขึ้น ใกล้จะบรรลุ
มรรคผลก็สอนแค่เบาๆ แค่ใบหรือก้าน
เล็กน้อย 

     อย่าง "ท่านวักกลิ" พระพุทธเจ้าสอน
คำเดียวว่า "วักกลิ บุคคลใดเห็นธรรม 
บุคคลนั้นชื่อว่าเห็นตถาคต" เพียงเท่านี้ 
"ท่านวักกลิ" ก็บรรลุพระอรหันต์

     หรือว่า "ท่านพาหิยะ" พระพุทธเจ้า
ตรัสว่า "พาหิยะ เธอจงอย่าสนใจในรูป" 
แค่นี้ท่านบรรลุอรหันต์ 

     แค่ใบเดียวใบเล็กๆ นะ เห็นไหม

     อย่างกับท่านปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้ง ๕ 
อาศัยที่เป็นนักปราชญ์เป็นคณาจารย์อยู่
มาก ต้องสอนกรรมฐานไม่ใช่แค่ต้น ต้อง
ขุดรากมาเลย ล่อธรรมจักรทั้งหมด แค่
ธรรมจักรเราสวดกันไม่ต้องคุยก็เหนื่อย
แล้วนะจนจบ 

     เมื่อสอนธรรมจักรทั้งหมดนี่ยาวมาก 
เพราะเป็นคณาจารย์มาก ถึงอย่างนั้นก็ดี
เมื่อสอนจบแล้วมี "ท่านอัญญาโกณ
ฑัญญะ" องค์เดียวเป็นพระโสดาบัน 
อีก ๔ องค์ยังไม่ได้อะไรเลย 

     ต้องสอนปกิณกะเล็กๆ น้อยๆ ไปอีก
ตั้งหลายวันจึงบรรลุมรรคผลเป็นพระ
อรหันต์ทั้งหมด รวมความว่ากำลังของคน
ไม่เสมอกัน พระพุทธเจ้าจึงจำเป็นต้องสอน
กรรมฐานไว้มาก 

     ทีนี้บังเอิญเราไปเห็นใครเขาปฏิบัติ
ไม่เหมือนของเรา ก็จงอย่าคิดว่าสำนักนั้น
สอนผิด หรือใครเขาเห็นเราไม่เหมือนเขา 
เขาหาว่าเราผิดบ้าง ก็เป็นเรื่องของเขา 
ใช่ไหม 

     รวมความว่า จงอย่าถือว่าใครผิดใคร
ถูก ให้ถือว่ากรรมฐานทุกกองพระพุทธเจ้า
สอนมุ่งหวัง 

     ๑.ฌานโลกีย์เป็นอันดับแรก แล้วก็
     ๒. มุ่งหวังความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่
พระโสดาบันขึ้นไป จนถึงพระอรหันต์ ..

(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๒๗ หน้าที่ ๘๒-๘๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น