วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565

#ถ้ำปิปผลิคูหา (ถ้ำพระมหากัสสปะ) สถานที่แสดง โพชฌงคปริตร

ณ เขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ มีถ้ำอันเป็นที่พำนักของพระมหากัสสปะ เนื่องจากท่านพระมหากัสสปะ ท่านถือธุดงควัตรหลายข้อ

และในข้อธุดงควัตรนั้น ข้อหนึ่งก็คือ การอยู่ป่าเป็นวัตร เพราะฉะนั้น แม้ว่าในกรุงราชคฤห์ จะมีวัด คือวัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของพระผู้มีพระภาคก็ตาม แต่พระมหากัสสปะ ก็ไม่ได้พำนักอยู่ในวัดเวฬุวันแต่อย่างใด

ชื่อปิปผลินี้ เป็นชื่อเดิมของพระมหากัสสปะ ซึ่งมีชื่อว่าปิปผลิมานพ ชื่อเดิมจึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อถ้ำ ที่พระมหากัสสปะอาศัยพำนักอยู่

ถ้ำปิปผลินี้ อยู่ที่เขาเวภารบรรพต ซึ่งเป็นที่เดียวกับตโปทาราม หากเดินขึ้นกับตโปทาราม ก่อนจะถึงถ้ำสัตตบรรณคูหา ก็จะได้เจอถ้ำปิปผลิ ให้เราได้กราบไหว้สักการะกัน

ครั้งหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะเกิดอาพาธหนัก ความรู้ไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จออกจากที่เร้น (ออกจากสมาบัติ) เสด็จจากวัดเวฬุวัน ขึ้นเขาเวภารบรรพต เพื่อเยี่ยมเยียนพระมหากัสสปะ

ทรงสอบถามพระมหากัสสปะว่า ยังทนได้อยู่หรือไม่ พระมหากัสสปะทูลตอบว่า ทนไม่ไหวพระเจ้าค่ะ ข้าพระองค์ถึงความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส (เล่ามาถึงตรงนี้ นัทเกิดน้ำตาตีตื้นขึ้นมาทันที รับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานของพระมหากัสปปะ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงโพชฌงคปริตร เมื่อพระมหากัสสปะ น้อมจิตตามไปในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอยู่นั้น สมาธิอันเกิดจากการตั้งมั่นในการฟังธรรม ความปิติตื้น โสมนัสยินดี ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาแสดงธรรม ยังจิตของพระมหากัสสปะให้อาจหาญร่าเริง กำจัดเวทนานั้นออกไปเสียได้ ดังความบันทึกไว้ในมหากัสสปสูตรและอรรถกถา

"สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ 

ก็สมัยนั้นแล #ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก...."

"บทว่า พาฬฺหคิลาโน ได้แก่ ผู้มีความเป็นไข้หนัก. 

แต่พระมหากัสสปะมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นความไข้นั้นได้. 

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นของท่าน จึงได้เสด็จไปในที่นั้น ตรัสโพชฌงคปริตร. 

ด้วยโพชฌงคปริตรนั้นนั่นเองพระเถระจึงหายขาดจากอาพาธนั้น.          

สมจริงดังที่ตรัสไว้ในโพชฌงคสังยุตว่าก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะอาพาธ เป็นทุกข์
มีไข้หนัก อยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา. ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปหาพระมหากัสสปะถึงที่อยู่

ครั้นแล้วได้ประทับบนอาสนะที่ตบแต่งไว้ ครั้นประทับนั่งแล้ว ฯลฯ ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า 

กัสสปะ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาสร่างลงไม่กำเริบหรือ ที่สุดของความสร่างทุกขเวทนาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ.
                        
พระมหากัสสปะทูลว่า ข้าพระองค์ทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มีทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ยังกำเริบ ไม่สร่างลง พระเจ้าข้า ความสิ้นสุดแห่งความกำเริบยังปรากฏ ความสร่างลงไม่ปรากฏ พระเจ้าข้า.
                        
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสปะ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้​ เรากล่าวชอบแล้ว อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ อะไรบ้าง?
                         
ดูก่อนกัสสปะ คือ #สติสัมโพชฌงค์ อันเรากล่าวชอบแล้ว​ อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพาน ฯลฯ (รายละเอียดของเนื้อหาธรรม ดูในโพชฌงคสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 24)
                         
ดูก่อนกัสสปะอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล เรากล่าวชอบแล้ว​ อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้เพื่อนิพพาน, 

ดูก่อนกัสสปะ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล เรากล่าวชอบแล้ว อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
                        
พระมหากัสสปะทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์ดีแท้
                                  
ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ ท่านพระมหากัสสปะดีใจ เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า. และท่านพระมหากัสสปะก็ได้หายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นก็เป็นอันชื่อว่าพระมหากัสสปะละได้แล้วอย่างนั้น
               
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               
อถโข อายสฺมา มหากสฺสโป อปเรน สมเยน ตมฺหา อาพาธา วุฏฺฐาสิ
               
ครั้นสมัยต่อมา ท่านพระมหากัสสปะก็หายจากอาพาธนั้น."

Cr.fb.ดร.ณัฐนันท์​ สุดประเสริฐ
ตามรอยพระไตรปิฎก by ครูนัทหนอนพระไตรปิฎก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น