วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2565

เรียนสุตตะ-เรียนกัมมัฏฐานพระโปฐิละ(เถรใบลานเปล่า)



"การปฏิบัติเป็นกิจของสาวกทั้งหลาย"

พระโปฐิละนั้นคิดว่า "เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า "คุณใบลานเปล่า" พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้.

 "บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยคา ความว่า เพราะการ
กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายในอารมณ์ ๓๘." 

   .......................................................................

                        ๕. เรื่องพระโปฐิลเถระ [๒๐๘]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระนามว่าโปฐิละ 
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยคา เว" เป็นต้น.

               รู้มากแต่เอาตัวไม่รอด               
               ดังได้สดับมา พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระศาสดาทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตน เราจักยังเธอให้สังเวช." 
               จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ย่อมตรัสกะพระเถระนั้น ในเวลาที่พระเถระมาสู่ที่บำรุงของพระองค์ว่า "มาเถิด คุณใบลานเปล่า, นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า แม้ในเวลาที่พระเถระลุกไป ก็ตรัสว่า "คุณใบลานเปล่าไปแล้ว." 
               พระโปฐิละนั้นคิดว่า "เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า "คุณใบลานเปล่า" พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้." 
               ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดว่า "บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม" จัดแจงบาตรและจีวรเองทีเดียว ได้ออกไปพร้อมด้วยภิกษุผู้เรียนธรรม แล้วออกไปภายหลังภิกษุทั้งหมดในเวลาใกล้รุ่ง. พวกภิกษุนั่งสาธยายอยู่ในบริเวณ ไม่ได้กำหนดท่านว่า "อาจารย์." พระเถระไปสิ้น ๑๒๐ โยชน์แล้ว, เข้าไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในอาวาสราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม." 
               พระสังฆเถระ. "ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก สิ่งอะไรชื่อว่าอันพวกเราพึงทราบได้ ก็เพราะอาศัยท่าน, เหตุไฉน ท่านจึงพูดอย่างนี้?" 
               พระโปฐิละ. ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม.

               วิธีขจัดมานะของพระโปฐิละ               
               ก็พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งนั้น. ลำดับนั้น พระมหาเถระส่งพระโปฐิละนั้นไปสู่สำนักพระอนุเถระ ด้วยคิดว่า "ภิกษุนี้มีมานะ เพราะอาศัยการเรียนแท้." แม้พระอนุเถระนั้นก็กล่าวกะพระโปฐิละนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. ถึงพระเถระทั้งหมด เมื่อส่งท่านไปโดยทำนองนี้ ก็ส่งไปสู่สำนักของสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด ซึ่งนั่งทำกรรมคือการเย็บผ้าอยู่ในที่พักกลางวัน. พระเถระทั้งหลายนำมานะของท่านออกได้ด้วยอุบายอย่างนี้.

               พระโปฐิละหมดมานะ               
               พระโปฐิละนั้นมีมานะอันพระเถระทั้งหลายนำออกแล้ว จึงประคองอัญชลีในสำนักของสามเณรแล้วกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม." 
               สามเณร. ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น ท่านเป็นคนแก่ เป็นพหูสูต เหตุอะไรๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้ในสำนักของท่าน. 
               พระโปฐิละ. ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้. 
               สามเณร. ท่านขอรับ หากท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ไซร้ ผมจักเป็นที่พึ่งของท่าน. 
               พระโปฐิละ. ผมเป็นได้ ท่านสัตบุรุษ, เมื่อท่านกล่าวว่า "จงเข้าไปสู่ไฟ" ผมจักเข้าไปแม้สู่ไฟได้ทีเดียว.

               พระโปฐิละปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสามเณร               
               ลำดับนั้น สามเณรจึงแสดงสระๆ หนึ่งในที่ไม่ไกล แล้วกล่าวกะท่านว่า "ท่านขอรับ ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ จงลงไปสู่สระนี้." 
               จริงอยู่ สามเณรนั้น แม้รู้ความที่จีวรสองชั้นซึ่งมีราคามาก อันพระเถระนั้นนุ่งห่มแล้ว เมื่อจะทดลองว่า "พระเถระจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้หรือไม่" จึงกล่าวอย่างนั้น. 
               แม้พระเถระก็ลงไปด้วยคำๆ เดียวเท่านั้น. 
               ลำดับนั้น ในเวลาที่ชายจีวรเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า "มาเถิด ท่านขอรับ" แล้วกล่าวกะท่านผู้มายืนอยู่ด้วยคำๆ เดียวเท่านั้นว่า "ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง, บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรม๑- นี้ไว้ในมโนทวาร." 
               ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น. 
               พระโปฐิละนั้นกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละพอละ" แล้วจึงหยั่งลงในกรชกาย๒- ปรารภสมณธรรม. 
____________________________ 
๑-๑. คำว่า กรรม ในที่นี้ ได้แก่ บริกรรม หรือกัมมัฏฐาน. 
๒-๒. แปลว่า ในกายบังเกิดด้วยธุลี มีในสรีระ.

               ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญา               
               พระศาสดาประทับนั่งในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์เทียว ทอดพระเนตรดูภิกษุนั้นแล้วดำริว่า "ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง) ดุจแผ่นดินด้วยประการใดแล, การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นนั่นแล ย่อมสมควร." แล้วทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้น 
               ตรัสพระคาถานี้ว่า :- 
               ๕. โยคา เว ชายตี ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
                เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
                ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.
                          ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล, ความสิ้นไปแห่ง
                ปัญญาเพราะการไม่ประกอบ, บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่งแห่งความ
                เจริญและความเสื่อมนั่นแล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญา
                จะเจริญขึ้นได้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยคา ความว่า เพราะการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายในอารมณ์ ๓๘. 
               คำว่า "ภูริ" นั่น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันกว้างขวาง เสมอด้วยแผ่นดิน. ความพินาศ ชื่อว่าความสิ้นไป. 
               สองบทว่า เอตํ เทวฺธา ปถํ คือ ซึ่งการประกอบและการไม่ประกอบนั่น. 
               บาทพระคาถาว่า ภวาย วิภวาย จ คือ แห่งความเจริญและความไม่เจริญ. 
               บทว่า ตถตฺตานํ ความว่า บัณฑิตพึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญา กล่าวคือภูรินี้จะเจริญขึ้นได้. 
               ในกาลจบพระคาถา พระโปฐิลเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้.

               เรื่องพระโปฐิลเถระ จบ

"การปฏิบัติเป็นกิจของสาวกทั้งหลาย"

บทว่า กตํ โว ตํ มยา ความว่า ศาสดาเมื่อแสดงอสังขตะและทางแห่งอสังขตะนี้ ชื่อว่าทำกิจแก่เธอทั้งหลายแล้ว กิจคือการแสดงธรรมไม่วิปริตของศาสดาผู้อนุเคราะห์ ก็เพียงนี้เท่านั้น. 

         

   บทว่า ฌายถ ความว่า จงเข้าไปเพ่งอารมณ์ ๓๘ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน และเพ่งขันธ์และอายตนะเป็นต้นด้วยลักขณูปนิชฌาน โดยเป็นอนิจจลักษณะเป็นต้น. ท่านอธิบายว่า จงเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา

  ก็บรรดาอารมณ์ ๓๘ ประการ กรรมฐานใดที่คล้อยตามจริตของกุลบุตรใด กรรมฐานนั้น ท่านเรียกว่า ปาริหาริยกรรมฐาน เพราะเป็นกรรมฐานที่กุลบุตรนั้นควรบริหารไว้เป็นนิตย์ โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นเอง แต่ในตติยปาราชิกนี้ 

อานาปานกรรมฐานนี้แล ท่านเรียกว่า ปาริหาริยกรรมฐาน.

          อรรถกถาวรรคที่ ๑               
               บทว่า อสํขตํ ได้แก่ อันปัจจัยไม่กระทำแล้ว. 
               บทว่า หิเตสินา แปลว่า ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล. 
               บทว่า อนุกมฺปเกน แปลว่า อนุเคราะห์อยู่. 
               บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ความว่า กำหนดด้วยจิตคิดช่วยเหลือ. ท่านอธิบายว่า อาศัย ดังนี้ก็มี. 
               บทว่า กตํ โว ตํ มยา ความว่า ศาสดาเมื่อแสดงอสังขตะและทางแห่งอสังขตะนี้ ชื่อว่าทำกิจแก่เธอทั้งหลายแล้ว กิจคือการแสดงธรรมไม่วิปริตของศาสดาผู้อนุเคราะห์ ก็เพียงนี้เท่านั้น. 
               ส่วนการปฏิบัติต่อจากนี้ เป็นกิจของสาวกทั้งหลาย. 
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เอตานิ ภิกฺขเว รุกฺขมูลานิ ฯเปฯ อมฺหากํ อนุสาสนี ดังนี้ ด้วยบทนี้ ทรงแสดงเสนาสนะคือโคนไม้. 
               ด้วยบทว่า สุญฺญาคารานิ นี้ ทรงแสดงสถานที่ที่สงัดจากชนและด้วยบททั้งสองทรงบอกเสนาสนะที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางกายและใจ ชื่อว่าทรงมอบมรดกให้. 
               บทว่า ฌายถ ความว่า จงเข้าไปเพ่งอารมณ์ ๓๘ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน และเพ่งขันธ์และอายตนะเป็นต้นด้วยลักขณูปนิชฌาน โดยเป็นอนิจจลักษณะเป็นต้น. ท่านอธิบายว่า จงเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา. 
               บทว่า มา ปมาทตฺถ แปลว่า อย่าประมาท. 
               บทว่า มา ปจฺฉา วิปฺปฏิสาริโน อหุวตฺถ ความว่า ชนเหล่าใด เมื่อก่อนเวลาเป็นหนุ่มไม่มีโรค สมบูรณ์ด้วยความสบาย ๗ อย่างเป็นต้น ทั้งศาสดาก็อยู่พร้อมหน้า ละเว้นโยนิโสมนสิการเสีย เสวยสุขในการหลับนอน ทำตัวเป็นอาหารของเรือดทั้งคืนทั้งวัน ประมาทอยู่ ชนเหล่านั้น ภายหลัง เวลาชรา มีโรค ตาย วิบัติ ทั้งศาสดาก็ปรินิพพานแล้ว นึกถึงการอยู่อย่างประมาทก่อนๆ นั้น และพิจารณาเห็นความตายที่มีปฏิสนธิว่าเป็นเรื่องหนัก ย่อมเดือดร้อน แต่เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นเช่นนั้น 
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงดังนี้ จึงตรัสว่า มา ปจฺฉา วิปฺปฏิสาริโน อหุวตฺถ ดังนี้. 
               บทว่า อยํ โว อมฺหากํ อนุสาสนี มีอธิบายว่า นี้เป็นอนุศาสนีคือโอวาทแต่สำนักของเราเพื่อเธอทั้งหลายว่า ฌายถ มา ปมาทตฺถ จงเพ่ง อย่าประมาท ดังนี้.

                    จบอรรถกถาวรรคที่ ๑     

[กรรมฐาน ๒ พร้อมทั้งอธิบาย]       
        
               กรรมฐานนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน (กรรมฐานมีประโยชน์ในกุศลธรรมทั้งปวง) ๑ ปาริหาริยกัมมัฏฐาน (กรรมฐานควรบริหารรักษา) ๑. บรรดากรรมฐาน ๒ อย่างนั้นที่ชื่อว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน ได้แก่เมตตา (ที่เจริญไป) ในหมู่ภิกษุเป็นต้นและมรณัสสติ (การระลึกถึงความตาย). พระอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อสุภสัญญา บ้าง. 
               จริงอยู่ ภิกษุผู้จะเจริญกรรมฐาน ครั้งแรกต้องตัดปลิโพธเสียก่อน แล้วจึงเจริญเมตตาไปในหมู่ภิกษุผู้อยู่ในสีมา, ลำดับนั้น พึงเจริญไปในเหล่าเทวดาผู้อยู่ในสีมา, ถัดจากนั้นพึงเจริญไปในอิสรชนในโคจรคาม, ต่อจากนั้นพึงเจริญไปในเหล่าสรรพสัตว์กระทั่งถึงชาวบ้านในโคจรคามนั้น. 
               แท้จริง ภิกษุนั้นทำพวกชนผู้อยู่ร่วมกันให้เกิดมีจิตอ่อนโยน เพราะเมตตาในหมู่ภิกษุ. เวลานั้น เธอจะมีความอยู่เป็นสุข. เธอย่อมเป็นผู้อันเหล่าเทวดาผู้มีจิตอ่อนโยน เพราะเมตตาในเหล่าเทวดาผู้อยู่ในสีมาจัดการอารักขาไว้เป็นอย่างดี ด้วยการรักษาที่ชอบธรรม. ทั้งเป็นผู้อันอิสรชนทั้งหลายผู้มีจิตสันดานอ่อนโยน เพราะเมตตาในอิรชนในโคจรคาม จัดรักษาระแวดระวังไว้อย่างดี ด้วยการรักษาที่ชอบธรรม. และเป็นผู้อันชาวบ้านเหล่านั้นผู้มีจิตถูกอบรมให้เลื่อมใส เพราะเมตตาในพวกชาวบ้านในโคจรคามนั้น ไม่ดูหมิ่นเที่ยวไป. เป็นผู้เที่ยวไปไม่ถูกอะไรๆ กระทบกระทั่งในที่ทุกสถาน เพราะเมตตาในเหล่าสรรพสัตว์. 
               อนึ่ง เธอเมื่อคิดว่า เราจะต้องตายแน่แท้ด้วยมรณัสสติ ละการแสวงหาที่ไม่สมควรเสีย เป็นผู้มีความสลดใจเจริญสูงขึ้นเป็นลำดับ ย่อมเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน. ตัณหาย่อมไม่เกิดขึ้น แม้ในอารมณ์ที่เป็นทิพย์ เพราะอสุภสัญญา. 
               เพราะเหตุนั้น คุณธรรมทั้ง ๓ (คือ เมตตา ๑ มรณัสสติ ๑ อสุภสัญญา ๑) นั้นของภิกษุนั้น ท่านเรียกว่าสัพพัตถกกัมมัฏฐาน เพราะทำอธิบายว่าเป็นกรรมฐานอันกุลบุตรพึงปรารถนา คือพึงต้องการในที่ทุกสถาน เพราะเป็นธรรมมีอุปการะมาก และเพราะความเป็นปทัฏฐานแห่งการหมั่นประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรตามที่ประสงค์ไป โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้. 
               ก็บรรดาอารมณ์ ๓๘ ประการ กรรมฐานใดที่คล้อยตามจริตของกุลบุตรใด กรรมฐานนั้น ท่านเรียกว่า ปาริหาริยกรรมฐาน เพราะเป็นกรรมฐานที่กุลบุตรนั้นควรบริหารไว้เป็นนิตย์ โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นเอง แต่ในตติยปาราชิกนี้ อานาปานกรรมฐานนี้แล ท่านเรียกว่า ปาริหาริยกรรมฐาน. 
               ในอธิการว่าด้วยอานาปานกัมมัฏฐานนี้ มีความสังเขปเท่านี้. 
               ส่วนความพิสดารนักศึกษาผู้ต้องการกถาว่าด้วยการชำระศีลให้หมดจด และกถาว่าด้วยการตัดปลิโพธ พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคเถิด.

               [ควรเรียนกรรมฐานในสำนักพุทธโอรสกระทั่งถึงท่านผู้ได้ฌาน]

               อนึ่ง กุลบุตรผู้มีศีลบริสุทธิ์และตัดปลิโพธได้แล้วอย่างนั้น เมื่อจะเรียนกรรมฐานนี้ ควรเรียนเอาในสำนักพุทธบุตร ผู้ให้จตุตถฌานเกิดขึ้นด้วยกรรมฐานนี้แล แล้วเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์. เมื่อไม่ได้พระขีณาสพนั้น ควรเรียนเอาในสำนักพระอนาคามี เมื่อไม่ได้แม้พระอนาคามีนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักพระสกทาคามี, เมื่อไม่ได้แม้พระสกทาคามีนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักพระโสดาบัน, เมื่อไม่ได้แม้พระโสดาบันนั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักของท่านผู้ได้จตุตถฌาน ซึ่งมีอานาปานะเป็นอารมณ์, เมื่อไม่ได้ท่านผู้ได้จตุตถฌานแม้นั้น ก็ควรเรียนเอาในสำนักของพระวินิจฉยาจารย์ ผู้ไม่เลอะเลือนทั้งในบาลีและอรรถกถา. 
               จริงอยู่ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระอรหันต์เป็นต้น ย่อมบอกเฉพาะมรรคที่ตนได้บรรลุแล้วเท่านั้น. ส่วนพระวินิจฉยาจารย์นี้เป็นผู้ไม่เลอะเลือน กำหนดอารมณ์เป็นที่สบายและไม่สบายในอารมณ์ทั้งปวงแล้วจึงบอกให้ เหมือนผู้นำไปสู่ทางช้างใหญ่ ในป่าที่รกชัฏฉะนั้น.

อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปาราชิกกัณฑ์ ตติยปาราชิกสิกขาบท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น