วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565

ปรับปรุงใจตน

      คนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรา นั่นเขาเป็นทาสของกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมนี่ไม่มีทางคืนตัวได้
    
      ความเป็นอยู่ของเขาในสมัยปัจจุบันในชาติที่เป็นมนุษย์ เขาก็มีความเร่าร้อน มีแต่ความเศร้าหมอง เพราะกิเลสมันทำให้เศร้าหมอง #ตัณหา สร้างจิตใจให้เร่าร้อน #อุปาทาน มีอาการเกาะความชั่วเป็นปกติ #อกุศลกรรม ทำความชั่วตลอดเวลา คนที่เป็นทาสของกิเลส ตายแล้วไม่มีโอกาสจะเกิดเป็นคน แม้จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังเกิดไม่ได้ ต้องไปเกิดในอบายภูมิ

    นี่ถ้าบุคคลใดทำใจของเราให้เร่าร้อน ด้วยกายกรรม ทำด้วยกายก็ดี ด้วยวจีกรรม ทำด้วยวาจาก็ดี เราจงคิดว่าคนประเภทนี้เขาไม่ใช่คนเขาคือ #สัตว์นรกในอบายภูมินั่นเอง เราก็คิดว่าถ้าเราไปต่อล้อต่อเถียงจะกระทำตอบ เราก็จะเลวตามเขา เวลานี้จิตใจของเขาจมลงไปแล้วในนรก ถ้าเราทำตามแบบเขาบ้าง เราก็จะจมลงนรกเหมือนกัน มันไม่มีประโยชน์ จิตใจเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจ #ขันติหรืออุเบกขา
    
    นี่ #อุเบกขา เราใช้กันตรงนี้เลย เฉย เขาเลวก็ปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียวเราไม่ยอมเลวด้วย ถ้าเราทุกคนปรับปรุงใจตนดีแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องยุ่งกับคนอื่น ไม่สร้างคนอื่นให้มีความเร่าร้อน ในการที่จะเพ่งโทษคนอื่น ต้องรู้ตัวว่าเราเลวเกินไป

     นี่จงรู้สึกตัวไว้เสมอ รู้สึกตัวว่าเรามันเลว เลวมาก จนกระทั่งขังไว้ในใจไม่ได้ มันจึงอุตส่าห์ไหลออกมาทางวาจา ไหลออกมาทางกาย นี่แสดงว่า #ความเลวมันล้นออกมาจากจิต ในข้อนี้ต้องคิดไว้เป็นประจำ #อย่าทะนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้ว #ปากไม่เสีย #กายไม่เสีย #ถ้าปากเสีย #กายเสีย #ความเลวมันล้น มีความดีไม่ได้ #จงอย่าติดในโลกธรรม
    
 ⚜ “พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นโลกธรรมถ้าเราติดเรามีความทุกข์”

    ลาภที่เรามีมา ได้แล้วมันก็หมด เสื่อมไปได้ ถ้าเรายินดีในการได้ลากไม่ช้ากำลังใจก็ต้องเสีย สลดใจเมื่อลาภหมดไป
    
   คำสรรเสริญก็เช่นเดียวกัน คำสรรเสริญไม่ใช่ของดี ถ้าเราติดในคำสรรเสริญ เราก็จะมีแต่ความทุกข์เพราะว่าไม่มีใครเขามาตั้งหน้าตั้งตานั่ง
สรรเสริญเราตลอดวัน คนที่เขาสรรเสริเราได้ เขาก็ติเราได้ ฉะนั้นจงจำไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นินทา ปสังสา" เป็นธรรมดาของชาวโลก ชาวโลกทั้งหมดเกิดมาต้องพบนิพพานและสรรเสริญ นี่ท่านมาติดลาภ ติดสรรเสริญ ก็ถือว่าเป็นอุปกิเลสอย่างหนัก

    จงจำไว้ อารมณ์ใดที่ประกอบไปด้วยความรัก ประกอบไปด้วยความโลภ ประกอบไปด้วยความโกรธ ประกอบไปด้วยความหลง พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เป็นอารมณ์ของ #ติรัจฉาน คือมันขวางจากความดี
   
    ฉะนั้น อาการของเดรัจฉานทั้งหมดอันพึงจะมีทางจิตก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี จงอย่ามี จงระมัดระวังกำลังใจเป็นสำคัญ อย่าเอาอารมณ์ของเดรัจฉานเข้ามาใช้ในจิต และก็จงอย่าเพ่งเล็งบุคคลอื่น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของบุคคลอื่น จงอย่าสนใจกับจริยาของบุคคลอื่นให้พยายามปรับปรุงใจตนเองเป็นสำคัญ และให้ #ทรงพรหมวิหาร๔ #มีอิทธิบาท๔ #ฟังแล้วก็ต้องจำ #จำแล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติ #ถ้าทำไม่ได้จงรู้ตัวว่าเลวเกินไป #คนเลวเขาไม่เรียกว่าคนเขาเรียกว่าสัตว์ในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น

    ความรักที่มันเกิด เราเข้าใจว่ามันดี เข้าใจว่ามันสวย เข้าใจว่ามันสะอาดอารมณ์อย่างนี้ เป็นอารมณ์ของ #ตัณหา ดึงไปอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น
    
    นี่พระทุกองค์ เณรทุกองค์ ฆราวาสทุกท่าน จงดูตัวไว้เสมอว่าเรามีจุดบกพร่องขนาดไหน อย่าปล่อยให้กิเลสมันล้นจากใจ ถ้าจะเลว ให้เลวอยู่แค่ใจ
อย่าให้มันไหลมาทางตา อย่าให้มันไหลมาทางปาก อย่าให้มันไหลมาทางกาย
    
    อย่าถือเหตุภายนอกที่เข้ามาว่ากวนใจเรา เหตุภายนอกนี่ห้ามเขาไม่ได้ความวุ่นวายในกิจการงาน กิจที่เหตุที่จะต้องแบกภาระต่างๆ เป็นเรื่องของการ
เกิด ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา งานมันเหนื่อยเท่าไร เราต้องเข้าใจ มันเป็นเรื่องของงาน เพราะว่าเราเสือกเกิดมาทำไม ถ้ารู้ว่างานมันยุ่งแล้วเราเสือกเกิดมาทำไม เรามันเสือกเกิดมาแล้วนี่ เราก็ต้องยุ่งแบบนี้ เมื่อยุ่งมาแล้ว ก็ต้องยุ่งเพื่อใช้หนี้มัน เพื่อไม่ให้ยุ่งต่อไป ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ครบถ้วน อย่าทำจิตใจให้มันเข้าไปกวนประสาทตัวเอง ถือว่าภาระหน้าที่มีอย่างไร ทำไปเพื่อความอยู่เป็นสุข เราชำระหนี้ส่วนที่เป็นอกุศลเพราะการอดทนต่อความทุกข์ นี่เป็นภารกิจของเรา

    ถ้าหากว่าท่านผู้ใดสามารถจะทำจิตให้สงบจากอารมณ์ของความชั่ว คือในด้านของอกุศล จิตน้อมไปในด้านของความดี มีกรรมฐาน ๔๐ หรือมหาสติปัฏฐานสูตร ข้อใดข้อหนึ่ง ในขณะที่ปฏิบัติครั้งหนึ่ง ชั่ว ๑ นาที ๒ นาที ๓ นาที ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ตาม ก็จงภูมิใจว่า เวลานี้เราได้มีโอกาสชนะความชั่ว คือนิวรณ์ ๕ หรือกิเลสได้แล้ว แต่ทว่าเราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าครั้งหนึ่งเราชนะได้ ๑ นาที ๒ นาที หรือ ๓ นาที เดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน ปีหนึ่งนี้ ๓๖๕ วัน ถ้าเราปฏิบัติระงับจิตได้อย่างนั้นครั้งละ ๒-๓ นาที ถ้า ๑๐ ครั้ง ก็ ๓๐ นาที เป็นต้น คิดว่าโอกาสของเรายังน้อมเข้าไปด้านของกุศล

    ขณะใดที่จิตสงัดจากติเลสคือความชั่วของจิต จิตน้อมเข้าไปในด้านของความดี มีกรรมฐาน ๔๐ หรือมหาสติปัฏฐานสูตรข้อใด ข้อหนึ่ง ก็ควรจะภูมิใจว่า เรามีโอกาสชนะกิเลสได้บางตอนบางจุด ถ้าเราสามารถทำให้ชนะได้เรื่อยๆ ไป ไม่ช้ากิเลสก็จะสลายตัวเหมือนกับเราขัดสนิมวัตถุที่มีสภาพใหญ่ เราขัดได้ครั้งละน้อยๆ แต่ขัดบ่อยๆ สนิมก็หมด
   
   ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามว่าเราเลว มันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดี มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน
   
    นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงให้รักษากำลังใจเป็นสำคัญว่า ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้ แล้วมันก็ดีเอง ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา การที่เราต้องดี เพราะรอให้ชาวบ้านเขาสรรเสริญนั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว

    เราต้องการความเมตตาปรานีจากคนอื่นฉันใด บุคคลทั้งหลายก็ต้องการความเมตตาปรานีจากเราเหมือนกัน ฉะนั้น อารมณ์ใจของเราก็คิดไว้เสมอว่า
เราจะรักคนและสัตว์ นอกจากตัวเรา เหมือนกับเรารักตัวเรา เราจะสงสารเขาเหมือนกับที่เราต้องการให้คนอื่นสงสารเรา เราจะไม่อิจฉาริษยาใคร เมื่อบุคคลอื่นใดได้ดี สมมติว่าถ้าเรามีลาภสักการะเรามีความดี ถ้าคนอื่นมาแสดงความยินดีด้วยเราก็พอใจ ฉะนั้น เวลาที่ใครเขาได้ดี แทนที่เราจะอิจฉาริษยาเราก็พลอยยินดีกับความดีของเขา ทำใจให้มันสบายอย่างนี้

    ตราบใดที่เราเป็นคน เราจะสร้างคนอื่นให้รอดพ้นจากความเป็นคนไม่ได้ เมื่อไหร่เราเลิกเป็นคน ทำใจตนให้เป็นพระ เมื่อนั้นแหละเราก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ให้คนอื่นเลิกเป็นคนได้ แต่ถ้าเรายังเป็นคนอยู่ และเข้าไปยุ่งกับคนอื่น บางทีคน ๆ นั้นเขามีส่วนเป็นคนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วเมื่อเราเข้าไปยุ่งอีกราย จะกลายเป็นการเพิ่มเติมเปอร์เซ็นต์ในการเป็นคนให้แก่เขามากขึ้น แทนที่จะช่วยให้เขาพ้นจากความเป็นคน ก็กลายเป็นการเพิ่มความเป็นคนให้แก่เขา เรื่องมันก็จะไปกันใหญ่

     คนที่ทรงศีลบริสุทธิจะไปรู้เรื่องของสมาบัติไม่ได้ ถ้าขืนไปสู่รู้สู่เห็นเข้าเมื่อไร ก็ผิดเมื่อนั้นแหละ เมื่อทำถึงฌานสมาบัติแล้ว จึงจะเข้าใจว่าความรู้สึกเดิมของเรานั้น ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องเป็นอารมณ์เข้าใจ
     
    เมื่อเป็นผู้ทรงฌานสมาบัติแล้ว จะคิดว่ามีความเข้าใจเรื่องพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ก็ไม่ได้อีก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะกำลังใจละเอียดไม่พอ 
     
    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า จงยับยั้งชั่งใจในตัวเองอย่ามีความประมาทในตัวเอง #คิดว่าอะไรเราอ่านหนังสือแล้วเรารู้นะ #นั่นน่ะชวนลงนรกดีมากที่สุด เพราะว่าการเข้าใจผิดที่เรียกว่า “มิจฉาทิฐิ” มีความเห็นผิด ถ้ามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด มันก็ปฏิบัติผิด ถ้าคนที่ปฏิบัติผิด มีความเข้าใจผิด เขามีที่เก็บมีที่อยู่ คือมี #สำนักพญายม ควบคุมอยู่

     ทุกท่านที่ปฏิบัติพระกรรมฐานด้วยความจริงใจ ตั้งใจจริงมีศีลบริสุทธิ์ ตั้งใจทรงสมาธิให้ตั้งมั่น ตั้งใจรักษาปัญญาให้แจ่มใส รู้เท่าทันความเป็นจริง แต่ว่ายังไม่ถึงพระโสดาปัตติมรรค ก็ควรจะภูมิใจว่าเข้าอยู่ในเขตของความดี คือ เราอยู่ในเขตของคนดี แต่ว่าเราจะดีมากจะดีน้อยนั้น ประมาทไม่ได้ #ถ้ารู้ตัวว่าดีเมื่อไรก็เสดงว่าเราแล้วเมื่อนั้น

    จงจำพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อัตตนา โจทยัตตานัง” #จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดของตนไว้เสมอ คือให้มีความรู้สึกว่าเรายังชั่วอยู่ เรามันชั่วตรงไหน ไปนั่งดูนิวรณ์ ๕ ว่านิวรณ์ ๕ ประการยังมีอาการสิงใจเราอยู่บ้างหรือเปล่า ถ้านิวรณ์ ๕ ประการ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือในเวลาใดเวลาหนึ่ง มันเข้ามากวนใจเราได้ แสดงว่าเรายังมีช่องโหว่แห่งความชั่วในด้านฌานโลกีย์ ถ้านิวรณ์ ๕ ไม่สามารถจะสิงใจเราได้ แสดงว่าเราดีขึ้นถึงระดับของผู้ทรงฌาน

🙏🏻พระธรรมคำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง) ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี
📖หนังสือพ่อสอนลูก หน้าที่ ๒๐~๒๔
📍เพจ:คำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
       (ธรรมทาน)

🖊พิมพ์โดย นภา อิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น