"เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก”
⭐รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยประเทศ รวมเวลา 7 เดือน
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน โดยทรงบรรยายความในพระทัยลงในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่มีถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ที่พระองค์ตรัสเรียกอย่างลำลองว่า ‘แม่เล็ก’) ครั้งเสด็จฯ เยือนฝรั่งเศสว่า
ถึงแม่เล็ก,
ด้วยตั้งแต่ฉันออกมาครั้งนี้ ยังไม่เคยได้ความคับแค้นเดือดร้อนเหมือนอย่างครั้งนี้เลย การที่แม่เล็กรู้สึกหนักในเรื่องที่ฉันจะมาเมืองฝรั่งเศสประการใด ขอให้เข้าใจว่าฉันหนักกว่าสิบเท่าอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ที่มาเอง
เนื่องจากสยามต้องเจ็บช้ำน้ำใจจากกรณีพิพาทครั้งสำคัญกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ปากน้ำหรือวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จพระราชดำเนินประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากท่าราชวรดิษฐ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 และในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าได้ถูกเรียกขานพระนามในยุคนั้นว่า สมเด็จรีเจนท์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้คือการได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมกับฉายพระรูปเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรป เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระเจ้าซาร์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยมีบรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนมายุแล้วรวมถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารร่วมเดินทางไปด้วย
พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จนิวัติพระนครพร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวสยามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วันหลังจากนั้นพระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของสยาม
*พระบรมฉายาลักษณ์จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2440
#วันนี้ในอดีต #รักษ์ราชย์
#เรียนรู้ประวัติศาสตร์ทุกวันกับครูน้ำเพ็ชร
ที่มา : เพจรักษ์ราชย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น