วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

ปุชฉา- มรรคตามหลักธรรมอริยสัจ 4 มีอะไรบ้าง?

วิสัชนา- มรรค
ทาง/หนทาง/ข้อฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 
เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ 8 มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ได้แก่

1.สัมมาทิฏฐิ - เห็นชอบ
 ได้แก่ แนวความคิดที่ถูกต้อง ความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

2.สัมมาสังกัปปะ - ดำริชอบ 
ได้แก่ ความนึกคิดที่ปราศจากโลภะ ปลอดโปร่งจากกาม ปราศจากความเห็นแก่ตัว มีความเสียสละ /ความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ ไม่พยาบาทเคียดแค้นชิงชัง 
มีความเมตตากรุณา/ความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ ความคิดไม่เบียดเบียน ไม่คิดทำร้ายผู้อื่น

3.สัมมาวาจา- เจรจาชอบ 
ได้แก่ วจีสุจริต การละเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
4.สัมมากัมมันตะ-กระทำชอบ ได้แก่ การกระทำที่เว้นจากการกระทำชั่วทาง กาย 3 อย่าง คือการละเว้นจากการฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์ การละเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ และการละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
5.สัมมาอาชีวะ- เลี้ยงชีพชอบ 
ได้แก่ การประกอบอาชีพสุจริต
6.สัมมาวายามะ-ความเพียรชอบ 
ได้แก่ ความเพียรตามหลักธรรม ปธาน 4 ได้แก่
   1.)สังวรปธาน
เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด 
มิให้เกิดขึ้น
   2.)ปหานปธาน
เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
   3.)ภาวนาปธาน
เพียรเจริญทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
   4.)อนุรักขนาปธาน
เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่น 
และ ให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์

7.สัมมาสติ - ระลึกชอบ 
ได้แก่ การมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นนิจ/ การกำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน /การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง มีสติกำกับดูสิ่งต่างๆและความเป็นไปทั้งหลายโดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมันตามหลักธรรมสติปัฏฐาน 4(การตั้งสติกำหนดพิจารณาทางกาย เวทนา จิตและธรรม)

8.สัมมาสมาธิ-ตั้งจิตมั่นชอบ 
ได้แก่ ความตั้งใจมั่น โดยการที่กุศลจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน รวมเรียกว่าฌาน 4

มรรคมีองค์ 8(มัชฌิมาปฏิปทา) ทางสายกลางเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อันเป็นทางสู่จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือพระนิพพาน

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม/ประมวลศัพท์ ป.อ.ปยุตโต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น