วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565

#สร้างบุญให้เกิดขึ้นที่ใจทุกเวลา

 

อิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นนะสร้างบุญขึ้นมาได้ เช่น เราเดินไปก็ระลึกพุทโธไป เรานั่งอยู่ก็ระลึกพุทโธ เรานอนอยู่ก็ระลึกพุทโธ พยายามทำให้มันติดต่อ ทำการทำงานก็ระลึกพุทโธอยู่ อย่างท่านฯ ไปสอนชาวบ้านนอกนะ ถึงฤดูทำไร่ เขาไปดายหญ้า สับจอบสับเสียมลงดิน ก็ให้ระลึกพุทโธ เวลาเกี่ยวข้าวก็เหมือนกันแหละ เกี่ยวกอหนึ่งก็พุทโธ เกี่ยวกอสองก็พุทโธ หมายความว่า งานที่เราทำก็ได้ บุญเราก็ได้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีปัญญา ทำการงานทุกอย่าง อย่าทิ้งพุทโธ เพราะเหตุไร เพราะว่าบุญเกิดทางใจ
.
บุญนั้นไม่ได้เกิดแต่การบริจาคทานอย่างเดียว บุญเกิดจากการรักษาศีล บุญเกิดจากการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญภาวนา เป็นบุญที่สามารถทำได้ไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่าหรือเด็ก หญิงหรือชาย หรือคนเจ็บป่วยก็ตาม สามารถทำได้
.
คนที่มีสติปัญญา ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นบุญแล้ว ทำการทำงานก็เป็นบุญ ทุกสาขาอาชีพที่เป็นอาชีพบริสุทธิ์ ถ้าเราระลึกพุทโธคราวใด บุญก็เกิดขึ้นคราวนั้น ไม่ต้องหาไกล คนมีปัญญาไม่ต้องหาไกล หาอยู่ในกาย หาอยู่ในวาจา หาอยู่ในจิต
.
ศาสนานั้นอยู่ในธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ท่านฯ บอกว่า มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วินัย ขันธปัญญธาตุ อายตนะอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ในตัวเราหรอกหรือ เพราะเหตุนั้นศาสนาจึงอยู่ในตัวเรา สมบูรณ์แบบไม่บกพร่อง นอกจากเราจะเสริมสร้างให้มัน เพื่อให้เรารู้จักศาสนาในตัวของเรา นี่คือบุคคลผู้ที่เป็นพุทธแท้ ท่านบอกอย่างนั้น
.
ศาสนายังแบ่งออกเป็นศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ศาสนาภายนอก คือ พระสงฆ์ สามเณร วัด กุฎี วิหาร ศาลาการเปรียญ เจดีย์ เป็นต้น ส่วนศาสนาภายใน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่ในบุคคล แต่บุคคลไม่รู้ว่า อะไรคือศาสนาภายนอก ภายใน การบำรุงพระพุทธศาสนาเราจะต้องบำรุงไปพร้อมกัน ภายนอกก็บำรุง ภายในก็บำรุง ถ้าเราจะบำรุงแต่ภายนอก ทิ้งภายในเสีย เราก็ไม่รู้จักศาสนาอยู่ในตัวเราเอง
.
อุปมาเปรียบเหมือน ทุกคนมีสองขา ขาหนึ่งมัดติดไว้เสียไม่ใช่ หมายความว่า เราเดินได้ แต่ไม่สะดวก นั่นคือรักษาแต่ศาสนาภายนอก ศาสนาภายในไม่รักษา
.
เหมือนกันกับรักษาศาสนาภายใน ภายนอกไม่รักษา ก็เปรียบเหมือนมีสองขา แต่ใช้ขาเดียว
.
เพราะฉะนั้นการบำรุงศาสนา จึงต้องบำรุงไปพร้อมกัน ทั้งศาสนาภายนอกและศาสนาภายใน ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะไม่เข้าใจอย่างนี้ ท่านจึงว่า ทำอะไรให้มีสติปัญญา
.
เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 
จากหนังสือ "รำลึกวันวาน" โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

อมตะธรรม ประเทศไทย
#ธรรมะ #อมตะธรรม #ธรรมะสอนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น