หากตามรู้ลมออกเข้าตามธรรมชาติของกายตนแล้วไม่สงบ ไม่อาจดื่มด่ำไปกับลมอันพอดีของตนได้ สิ่งที่ช่วยได้คือหางานให้จิตทำ โดยอาจไล่ไปตามลำดับ ดังนี้
.
(๐) ผ่อนคลายสีหน้า
.
ดังกล่าวแนะนำไปในครั้งก่อน ว่าควรฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า เพราะมีผลต่อการปรับโหมดร่างกายให้อยู่ในภาวะพัก ซึ่งเอื้อต่อการเกิดสมาธิได้ง่าย และหากสามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ทั่วกาย จะช่วยให้สงบง่ายขึ้น
.
อย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติบางรายอาจพบว่า จิตอยากจะผ่อนคลายกล้ามเนื้อมากกว่าเจริญอานาปานสติ หรือกรรมฐานอื่นที่ตั้งใจไว้ในทีแรก ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะนั่นแสดงว่า ธาตุขันธ์ของกายอาจยังมีปัญหา และอาจย้อนมารบกวนจิตใจให้ไม่สงบในภายหลังอยู่ดี
.
ดังนั้น จึงควรแก้ปัญหาไปโดยลำดับ หรือที่เรียกว่า ทุกข์ให้รู้ และสมุทัยให้ละเสียก่อน คือสะสางและสร้างฐานให้พร้อมมูลก่อน ทำกายให้ดีก่อน จิตจะตั้งมั่นได้มากขึ้นเอง ตามธรรมชาติ (จะแนะนำเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป)
.
(๑) หายใจอย่างผ่อนคลาย ไม่บีบปลายจมูก
.
คือการหายใจแบบไม่เพ่ง ไม่จ้องจะเอาความสงบ เพียงหายใจสบายๆ ด้วยความผ่อนคลาย กล้ามเนื้อใบหน้าหรือตลอดทั่วกายไม่ตึง ไม่เคร่ง ไม่ขมวดขมึง
.
ถ้าวางใจถูก จะรู้สึกเองว่าลมหายใจที่ผ่านจมูกนั้นกว้างขึ้น จะโปร่ง จะโล่ง จะเบา หรือในบางท่าน อาจซ่านสุขที่ปลายจมูกนี้เลย คือเกิดปีติได้ในขั้นนี้ได้เลย ก็สามารถดื่มด่ำในปีตินั้นต่อไป เพื่อสั่งสม หรือฟูมฟักกำลังของจิต ให้ก้าวขึ้นไปยังสมาธิในระดับสูงไปโดยลำดับ
.
(๒) หายใจให้กว้างที่ช่องอก
.
หากลองปฏิบัติในขั้นก่อนแล้วยังไม่สงบ ยังรู้สึกฟุ้งซ่านได้ง่าย ให้ลองขยับมาสำรวจกายตน และหายใจให้ปอดขยับตัวกว้างขึ้น
.
แต่ที่ว่ากว้างในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าให้ฝืนสูดหายใจแรงๆ ยาวๆ เพื่อถ่างอกให้ผายออก นั่นคือสุดโต่งประเภทตึงเกินไป ขณะที่การฟุ้งซ่าน เผลอไปคิดเรื่องต่างๆ คือหย่อนเกินไป ซึ่งล้วนไม่ใช่ทางสายกลาง
.
โดยในที่นี้ หมายแค่ให้สำเหนียกถึงลม ว่ามันขยายช่องอกได้กว้างแค่ไหน พอรู้ได้แล้ว จึงเอาใจไปวางไว้สบายๆ ที่กล้ามเนื้อทรวงอกใกล้รักแร้
.
เพียงเท่านี้ ผู้ปฏิบัติจะพบว่า ลมจะค่อยๆ กว้างขึ้นเอง อย่างเป็นธรรมชาติ และช่วยให้จิตใจอันฟุ้งได้ง่าย สงบลงได้ด้วย เพราะจิตมีงานทำมากขึ้น ง่ายกว่าการไปจดจ่อที่จุดเล็กๆ จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งอาจจะยังยากสำหรับผู้ใหม่ ค่อยๆ ปรับจูนจิตใจที่ฟุ้ง และยังปั่นป่วนจากชีวิตประจำวัน โดยไม่หักดิบเกินไปนัก
.
(๓) หายใจให้ลึกถึงช่องท้อง
.
ไม่จำเป็นต้องฝืนหายใจให้ลึกเช่นกัน เพียงหายใจลึกลงไปในลำคอ คล้ายกำลังกลืนอะไรบางอย่าง จะรู้สึกเสมือนลมไหลลงไปในช่องท้องได้ชัดขึ้นเอง
.
วิธีนี้ อาจทำให้ช่องท้องพองตัวมากกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เหนื่อย และสงบลงเองได้ง่าย เพราะมีพท.ผิวมาก รู้สึกถึงการขยับไหวได้มาก และมีการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะซ้ำๆ แบบไม่ต้องจดจ่อยาวนานนัก แต่ก็ไม่สั้นเกินไป ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตซีโรโทนิน ฮอร์โมนแห่งความสงบแบบตื่นตัว จึงเหมาะกับฝึกผู้ใหม่ หรือช่วงเริ่มเข้ากรรมฐานที่จิตใจยังฟุ้งซ่านอยู่
.
นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของปมประสาทที่เรียกว่า Solar Plexus ซึ่งจะก่อให้เกิดความอุ่นร้อน หรือที่ชาวจีนเรียกว่าปราณได้ง่าย จึงเป็นการบำรุงสุขภาพที่ดีอีกด้วย
.
(๔) หายใจแบบประสาน ตามรู้ลมตลอดสาย
.
ในที่นี้ หมายถึงการหายใจแบบกว้างและลึกพร้อมๆ กัน คือไม่บีบจมูกให้แคบ สูดลมสบายๆ ตั้งแต่ปลายจมูก ลึกลงไปในลำคอ พร้อมๆ กับตามรู้ลมที่ไหลผ่านช่วงอกที่กว้างขึ้นจากการวางใจสบายๆ ไว้ที่กล้ามเนื้อทรวงอกแถวรักแร้ แล้วปิดท้ายด้วยการตามรู้การขยายพองของช่องท้อง
.
ก่อนจะกักลมไว้ แต่ไม่ใช่กลั้นอยู่พักหนึ่ง เพื่อปลุกความตื่นตัว มีเวลาให้ร่างกายแลกเปลี่ยนก๊าซนานขึ้น จะรู้สึกถึงความอุ่นร้อนในช่องท้อง ที่ยังให้เกิดความสงบได้มากขึ้น
.
และเมื่อหายใจออก ก็ตามรู้ลมอุ่นสบาย ที่รวยรินขึ้นมาตลอดสายจนผ่านปลายจมูกออกจนหมด แล้วพักหายใจนิ่งไว้เล็กน้อย
.
เหล่านี้ เป็นการตามรู้ไปตลอดสาย ทั้งลมออกลมเข้า และเป็นงานให้จิตทำมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ลองทำวิธีต่างๆ ข้างต้นมาแล้วก็ยังไม่สงบ
.
หรือสงบเป็นบางครั้ง แต่พอชินกับวิธีก่อนๆ มาแล้ว อาการตื่นตัวที่เกิดจากความสนใจจะเรียนรู้สิ่งใหม่ในกายตนหมดไป จากที่เคยช่วยให้สงบ ก็เริ่มไม่ได้ผล ความฟุ้งซ่านกลับมาครอบงำได้ง่ายดุจเดิม
.
โดยวิธีนี้ จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติหลุดไปคิดฟุ้งซ่านง่ายนัก ทั้งยังมีประโยชน์ในการปรับธาตุขันธ์ เพราะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ ปลุกปราณสุริยะ ที่เป็นพลังหยางของชีวิตอีกด้วย
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น