วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

#เกิดมาทำไม_เกิดเพื่ออะไร ?

🟥
ปุจฉา :
ดิฉันเกิดปัญหาถามตัวเองขึ้นมาว่าเกิดมาทำไม?เกิดเพื่ออะไร ? อะไรนำพาให้เกิด ? เกิดมาแล้วมีแต่ทุกข์ ทำไมคนเราจึงอธิษฐานขอเกิดกันอยู่ร่ำไป

วิสัชนา :
ที่มีปัญหากับเจ้าตัวว่า “เกิดมาทำไม” “เกิดเพื่ออะไร” คำว่าเกิดมาทำไม ตอบว่า...เพราะกรรมทำให้เกิด ถามว่าเกิดมาเพื่ออะไร ตอบว่า...เกิดมาเพื่อสร้างบารมีหนีจากความหลงของเจ้าตัวที่เคยหลงมา ถามว่าอะไรนำมาให้เกิด ตอบว่า...อวิชชาความโง่ๆ พาให้เกิด อวิชชานั้นแบ่งออกเป็นแปด

๑. ไม่รู้ทุกข์
๒. ไม่รู้ทุกขสมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. ไม่รู้ทุกขนิโรธ คือความดับแห่งทุกข์
๔. ไม่รู้ทางดำเนินให้ถึงทางดับทุกข์เพิ่มทุกข์เข้าอีก
๕. ไม่รู้จักอดีต
๖. ไม่รู้จักอนาคต
๗. ไม่รู้ทั้งอดีตอนาคตโยงใส่กัน
๘. ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือลูกโซ่ที่เกี่ยวคล้องเป็นสาย
มันเป็นบ่วงวงกลมคล้องคอจิตใจเราอยู่ อวิชชา ๘ ก็ว่า

คำว่า “อวิชชา” แปลว่าไม่ใช่วิชชา ถ้าแปลให้เข้าใจง่าย ก็คือความโง่ความหลงของเราแต่ละท่านๆ นั่นเอง ถ้าจะอธิบายในเรื่องนี้ให้พิสดารก็ต้องยาวเหยียดมาก จะอย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องอธิบายยาวเหยียด ทำไมคนเราจึงอธิษฐานขอเกิดกันอยู่ร่ำไป ตอบว่า...เพราะกรรมบันดาล ยังไม่เห็นทุกข์ในโลกพอ เพราะมีความหวังในโลกอยู่ เพราะเข้าใจว่า มันพอใช้พอสอยอยู่ ถ้าจะตอบให้ถึงที่แล้ว ก็คือบารมียังอ่อนอยู่นั่นเอง

เมื่อผู้อธิษฐานขอเกิด ก็แปลว่ามีความพอใจยินดีในการเกิด ส่วนเป้าหมายในการเกิดแตกต่างกันออกไปตามเจตนา ตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละคน ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่บางท่านอยากเกิดมาอีก เพื่อสร้างบารมี เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกฯ หรือพระอรหันตขีณาสพ สาวกหรือสาวิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไป จำพวกที่ต้องการแบบนี้คือต้องการไปทางโลกุตรกุศล จำพวกหนึ่งนั้นต้องการเกิดเป็นเศรษฐีกฎุมพี ปรารถนาในโลกีย์ยุ่งเหยิงอยู่ บางจำพวกต้องการปรารถนาเกิดอีก เพื่อต้องการเสวยกามารมณ์ล้วนๆ บางจำพวกต้องการมาสนองเวร สนองภัยกับผู้อื่นที่อาฆาตจองเวรผูกใจเจ็บไว้

สรุป ความปรารถนาทั้งหลายมันก็เป็นไปตามกรรมและผลของกรรมอีกละ ถ้าหากว่าจิตยอมรับด้วยจิตเองว่าการเกิดเป็นทุกข์ ไม่ปรารถนาที่จะเกิดอีก พูดมาถึงตรงนี้ก็ตีความหมายว่า เป็นเพียงความคิด มันไม่อยากเกิดเพราะมันทุกข์ ก็อดที่จะทอดถอนใจไม่ได้ว่า เป็นความคิดที่วิ่งวนตัวตัณหาเสียอีกแล้วกระมัง ? ตอบข้อนี้ว่า...มันไม่เป็นตัณหาดอก และก็ไม่กลายเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์โดยไม่รู้ตัวดอก พระบรมศาสดาและพระอริยสาวกผู้ที่สร้างบารมีแก่กล้ามาแล้ว ก็ต้องยืนยันอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่มีความหมายในคิวสุดท้าย

_______________________________________________
วิสัชนาธรรมโดยหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

ที่มาของบทความ: คัดมาจากหนังสือหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐, เดือนกันยายน
Cr.#ธรรมะ #พ่อแม่ครูอาจารย์
ขออนุญาตนำมาเผยแผ่เป็นธรรมทานค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น