วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

พระนิปันนัญชลิกเถระ

พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระนิปันนัญชลิกเถระได้เล่าประวัติในอดีตชาติสมัยพระติสสพุทธเจ้าไว้ว่า ท่านออกบวชแล้วบำเพ็ญ "รุกขมูลิกังคธุดงค์" คือ เดินธุดงค์เข้าไปในป่าชัฏใหญ่แล้วปลักกลดอยู่ตามโคนไม้ 
ระหว่างอยู่ในป่าท่านอาพาธหนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าติสสะทรงทราบ จึงเสด็จไปโปรด ขณะนั้นท่านนอนอยู่ ไม่สามารถจะลุกได้ จึงประคองอัญชลีเหนือเศียร กระทำการนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า 

ท่านกล่าวว่า "เรามีจิตเลื่อมใส มีจิตโสมนัส ถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์แล้วได้ทำกาละ (มรณภาพ) ณ ที่นั้น" บุญนั้นส่งผลให้ท่านไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เสวยสมบัติในภพนั้นแล้วเสวยสมบัติในสวรรค์ชั้นอื่นๆอีก 5 ชั้น 

ท่านกล่าวว่า ในกัปที่ 92 จากกัปนี้ เราถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้อุดมบุรุษ ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย (คือ ไม่ไปนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน) นี้เป็นผลแห่งการถวายบังคม 

ในกัปที่ 5 จากกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 5 ครั้ง (5 ชาติ) มีพระนามเหมือนกันว่า มหาสิขะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพละมาก (พระเจ้าจักรพรรดิ คือ กษัตริย์ผู้ปกครองทวีปทั้ง 4)

ในพุทธกาลนี้ เราเกิดในเรือนมีตระกูลแห่งหนึ่ง เจริญวัยแล้วเลื่อมใสในพระศาสดา จึงออกบวช ไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 (คุณธรรมและคุณวิเศษของพระอรหันต์) เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว 
       
คำอธิบาย และแหล่งอ้างอิง

1. ความตายเป็นแค่การเปลี่ยนภพภูมิเปรียบเหมือนการย้ายบ้าน ถ้าเรามีบุญมากจะปลอดภัย จะได้ไปเกิดอยู่ในภพภูมิที่ดี เช่น สวรรค์ และพรหมโลก และมีสุขสบายมากๆ ไม่ต้องทำมาหากิน มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขด้วยบุญยาวนานหลายล้านๆๆๆๆๆๆๆๆๆปี   

2. บุญส่วนบุญบาปส่วนบาป แม้ท่านจะบวชและตั้งใจไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า เมื่อบาปกรรมที่เคยทำไว้ตามทันก็ส่งผลให้ท่านอาพาธ แต่ด้วยพระกรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรด ทำให้ท่านได้สร้างบุญใหญ่ด้วยการไหว้และยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ช่วงวาระสุดท้าย เป็นเหตุให้ได้ไปสุคติยาวนาน ดังนั้น การไม่ทำบาปทั้งปวงดีที่สุด สร้างแต่บุญอย่างเดียวแล้วจะมีความสุขความสำเร็จ มีอายุยืนทุกชาติ 

3. บุญที่ทำให้พระนิปันนัญชลิกเถระได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่เฉพาะบุญในชาตินั้นอย่างเดียว เป็นผลบุญรวมที่สร้างมาหลายชาติ แต่บุญนั้นท่านประทับใจจึงกล่าวไว้ในประวัติ 

4. กัป เป็นหน่วยเวลาชนิดหนึ่งซึ่งนานมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า "กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี ฯลฯ หรือว่าเท่านี้ 100,000 ปี เหมือนอย่างว่า นครที่ทำด้วยเหล็ก ยาวหนึ่งโยชน์ (16 กิโลเมตร) กว้างหนึ่งโยชน์ สูงหนึ่งโยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด บุรุษหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่งๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นถึงความสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป กัปนานอย่างนี้"

5. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่ม 71 หน้า 307 - 309, เล่ม 26 หน้า 515-516

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น