วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ของพระอานนท์ ที่แปลกกว่าพระอรหันต์เถระรูปอื่น

**การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ของพระอานนท์ ที่แปลกกว่าพระอรหันต์เถระรูปอื่น**
**พระอานนท์ผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ากลับบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ช้า และในอิริยาบถที่แปลก**

**ประวัติพระอานนท์ เอตทัคคะในทางพหูสูตร**

พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดานามว่า พระนางกีสาโคตมี มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา (พระราชโอรสของพระเจ้าอา) ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอนุรุทธะและอุบาลี เมื่อท่านบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานี ได้ บรรลุเป็นพระโสดาบัน

**ได้รับเลือกเป็นพุทธอุปัฎฐาก**

**ในช่วงปฐมโพธิกาลหลังจากตรัสรู้แล้ว 20 พรรษานั้น ยังไม่มีพระภิกษุใดปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นประจำ มีแต่พระภิกษุผลัดเปลี่ยนวาระกันปฏิบัติ**เช่น พระนาคสมาละ พระนา คิตะ พระอุปวาณะ พระสาคตะ และพระเมฆิยะ เป็นต้น

บางคราวการผลัดเปลี่ยนบกพร่อง องค์ที่ปฏิบัติอยู่ออกไป แต่องค์ใหม่ยังไม่มาแทน ทำให้พระพุทธองค์ต้องประทับอยู่ตามลำพัง ขาดผู้ปฏิบัติ บางครั้งพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ก็ดื้อดึงขัดรับสั่งของพระพุทธองค์ 

 
 **พระพุทธองค์ ได้รับความลำบากพระวรกายเพราะถูกปล่อยให้ประทับอยู่ตามลำพังหลายครั้ง จึงมีพระดำรัสรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เลือกสรรภิกษุทำหน้าที่ปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ** ภิกษุทั้งหลายมีฉันทามติมอบหมายให้พระอานนท์เถระรับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดกาลเป็นนิตย์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อม จะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดี 

 
 **ซึ่งพระอานนท์ ได้ทูลขอพร 8 ประการ ก่อนที่พระเถระจะตอบรับทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก** ดังนี้:- 
1) ขออย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์ 
2) ขออย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์ 
3) ขอได้โปรดอย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์ 
4) ขอได้โปรดอย่าพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ 
5) ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้ 
6) ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาถึงแล้ว 
7) ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใดขอให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยได้เมื่อนั้น 
8) ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ขอได้โปรดตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์อีกครั้ง 
 
 โดยให้เหตุผลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ 1-4 ข้างต้น ก็จะมีคนพูดติฉินนินทา ได้ว่า พระอานนท์ ปฏิบัติบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดา จึงได้ลาภสักการะมากมายอย่างนี้ การปฏิบัติอุปัฏฐากมิได้หนักหนาอะไรเลย และถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ 5-7 ก็จะมีคนพูดได้อีกว่าพระอานนท์ จะบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดาไปทำไม แม้กิจเพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุเคราะห์

อนึ่ง โดยเฉพาะถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อสุดท้ายแล้ว หากมีผู้มาถามข้าพระองค์ว่า ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ทราบ เขาก็จะตำหนิได้ว่า พระอานนท์ ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกหนแห่ง ดุจเงาตามพระองค์ แต่เหตุไฉนจึงไม่รู้แม้แต่เรื่องเพียงเท่านี้"

 
 พระบรมศาสดา เมื่อได้สดับคำชี้แจงของพระอานนท์แล้ว จึงประทานสาธุการ และพระราชทานอนุญาตให้ตามที่ขอทุกประการ ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระเถระก็ปฏิบัติหน้าที่บำรุงอุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดมา ตราบเท่าถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน

**********

**การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ของพระอานนท์**

เจ้าชายอานนท์ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายศากยะท่านอื่น ๆ คือ เมื่อบวชได้ไม่นานเจ้าชายองค์อื่น ๆ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ **คงเหลือที่พระอานนท์กับพระเทวทัตเท่านั้นที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ สำหรับพระอานนท์ได้บรรลุธรรมเบื้องต้นคือพระโสดาบันเท่านั้น ส่วนพระเทวทัตได้แค่อภิญญาแต่ยังไม่บรรลุธรรมใด ๆ**

**เสียใจที่ตนยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ ทั้งที่พระพุทธเจ้ากำลังใกล้จะปรินิพพาน**

**ในกาลที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยังเป็นพระโสดาบันอยู่ เกรงจะบรรลุอรหันต์ไม่ทันพระบรมศาสดาที่กำลังจะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีกออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกเธอมาแล้ว ตรัสเตือนให้เธอคลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์**ว่า.... 

 **“อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา”**

**การบรรลุธรรมที่แปลกกว่าพระอรหันต์เถระรูปอื่น**

**หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้สามเดือนพระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน 500 องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม** **แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ในขณะที่องค์คณะปฐมสังคยานาเป็นการรวมพระอรหันตสาวกทั้งหมด เว้นแต่พระอานนท์ ท่านจึงได้เร่งเพียรธรรม โดยหวังว่าจะบรรลุธรรมก่อนที่จะมีการสังคายนาขึ้น**

**ท่านเร่งทำความเพียรอย่างหนักแม้ในคืนสุดท้ายก่อนปฐมสังคายนา แต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย** **ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน เพราะต้องการพักผ่อน ด้วยปลงใจว่า ไม่ควรหักโหมในการปฏิบัติมากนัก ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์**

(ซึ่งเป็นแง่คิดแก่นักปฏิบัติธรรม ในการรู้จักปรับสภาพการปฏิบัติของตนให้เหมาะสม หรือที่ใช้กันในทางพระคือการปรับอินทรีย์ ไม่ให้หักโหมนักหรือไม่ให้ย่อหย่อนนัก)

**นับว่าเป็นการบรรลุในระหว่างอิริยาบถทั้ง 4 คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง 4 อย่าง คือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน เป็นการบรรลุเป็นพระอรหันต์ที่แปลกกว่าพระเถระรูปอื่น ๆ**

#พระไตรปิฎก #รวมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น