อย่าลืมแม่บทของการเจริญพระกรรมฐาน คือ อานาปานัสสติ
เมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๓๖ #สมเด็จองค์ปฐม ได้ทรงพระเมตตามาสอนเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ที่ร่วมไปปฏิบัติพระกรรมฐานที่วิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร แล้วไม่ค่อยได้ผล มีความสำคัญดังนี้
๑. กรรมฐานเที่ยวนี้ล้มเหลวอีกแล้วหรือเจ้า เหตุก็เพราะเจ้าปล่อยให้ถีนะมิทธะ (ความง่วง) เข้าครอบงำจิต จึงเป็นผลให้นิวรณ์กดดันจิตให้สิ้นกำลังที่จักเจริญพระกรรมฐานให้ได้ผล จำเอาไว้ เพราะเจ้ามีความประมาทในนิวรณ์ ๕ มากเกินไป จึงทำให้จิตสิ้นเรี่ยวแรงที่จักต่อสู้กับนิวรณ์ ๕ ประการ ต่อไปห้ามคิดว่านั่งต่อไปอีกนิดน่า ไม่เป็นไร ถ้ารู้สึกว่าความง่วงเข้าแทรกเมื่อไหร่ อาการง่วงหาวปรากฏ ให้รีบลุกขึ้นเดินทันที
๒. ถ้าระงับไม่ได้ก็ชนะไม่ได้ ห้ามโต้แย้งเป็นอันขาดว่า นั่นเป็นการหลับในฌาน หากกล่าวเช่นนั้นก็เป็นการเข้าข้างกิเลสมากเกินไป
๓. การหยิบเอาบันทึกคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานขึ้นมาดูนั้น ถ้าอารมณ์นิวรณ์ ๕ แทรกได้แล้ว การพิจารณาก็จักไม่มีผล เพราะปัญญามันไม่เกิด เพราะฉะนั้น ต้องตื่นตัวปลุกจิตให้ระงับนิวรณ์ ๕ ในขณะนั้น แต่ถ้าหากระงับได้ตลอดเวลา ก็ควรจะระงับ เมื่อระงับได้แล้วนั่นแหละ จึงจักหวนกลับมาพิจารณาธรรมต่าง ๆ ได้
๔. อย่าลืมแม่บทของการเจริญพระกรรมฐาน คือ อานาปานัสสติ หมั่นเติมพลังให้แก่ดวงจิตเข้าไว้จักได้มีกำลัง ถ้าหากทำได้ก็ให้ทำจิตถึงฌาน ๔ เห็นภาพนิมิตกสิณเป็นแก้วแล้ว จิตชุ่มชื่นดีแล้ว หวนกลับมาจับอารมณ์วิปัสสนาญาณอันนั้นแหละจักเป็นผลดีทั้งสมถะและวิปัสสนาญาณ
๕. อย่าท้อถอยนะ ผิดแล้วก็เริ่มต้นใหม่ หมั่นกำหนดจิตรู้ลมเข้าออกอยู่เนือง ๆ จิตจักได้เคยชิน จักภาวนาควบคู่ไปด้วยก็ได้ ไม่ภาวนาก็ได้ ให้หมั่นกำหนดรู้อยู่เสมอ สมาธิจิตจักได้ทรงตัว
๖. รู้อย่างเบา ๆ มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้การเข้าออกของลมหายใจ อย่าไปรู้แบบหนัก ๆ จิตมีวิตกกังวลแบบนั้นจักไม่เป็นผล เป็นอัตตกิลมถานุโยค จิตหนักสมาธิหนักเกินไป ไม่เป็นผล
วิจารณ์ :
สำหรับพวกที่ยังไม่ได้กสิณ อาจคิดว่าตนทำไม่ได้ ผมขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
๑. ความสำคัญหรือหลักในการปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็คือ การระงับนิวรณ์ ๕ ให้ได้ก่อน
๒. แม่บทที่ทำให้จิตสงบ เป็นฌาน เป็นสมาธิได้ คืออานาปานัสสติ ผู้ใดไม่สนใจจุดนี้ ก็อย่าหวังที่จะทำให้จิตสงบและทรงตัวได้
๓. ผู้ไม่ได้กสิณ ให้สังเกตเอาเสียงเป็นหลักสำคัญ หากหูได้ยินเสียงดี แต่จิตเราไม่รำคาญในเสียง คงพิจารณาได้ต่อเนื่องนั่นคือ จิตถึงปฐมฌาน จัดเป็นอัปปนาสมาธิ ซึ่งมีกำลังพอพิจารณาตัดกิเลสให้ขาดได้แล้ว หากจับรู้ลมหายใจเข้าและออกควบกับคำภาวนาอยู่ แล้วคำภาวนาหายไป จิตสงบดี หูได้ยินเสียงเบาลง นั่นเป็นฌานที่ ๒ หากปฏิบัติต่อไป รู้สึกว่าตัวแข็งขยับตัวไม่ได้ อย่าตกใจ อย่ากลัวตาย ขณะนั้นเสียงจะเบาลงมาก ขณะนั้นจิตเข้าสู่ฌานที่ ๓ และหากเสียงหายไป หูไม่ได้ยินเสียงเลย กายจะเบา จิตจะเบาสบาย ขณะนั้นเป็นฌานที่ ๔ อย่างหยาบ และหากรู้สึกว่าแม้แต่กายก็ไม่มี หายไปด้วย จิตเบาสบาย และเป็นสุขมาก ขณะนั้นเป็นฌาน ๔ อย่างละเอียด ให้ใช้หลักนี้เป็นข้อสังเกต
๔. อาการง่วงเหงาหาวนอนเกิด อย่าฝืน ให้ลุกขึ้นเคลื่อนไหวร่างกายโดยการเดิน ถ้าระงับนิวรณ์ ๕ ไม่ได้ การปฏิบัติก็ไม่มีผล
๕. อารมณ์จริงต้องเบา ๆ สบาย ๆ หากหนักและเครียดไม่ใช่อารมณ์จริง ตึงเกินไปก็ไม่มีผล หย่อนเกินไปก็ไม่มีผล การบรรลุต้องใช้ทางสายกลางทั้งสิ้น
#ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
#รวมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ #โอวาทธรรม
#อย่าลืมแม่บทของการเจริญพระกรรมฐาน_คือ_อานาปานัสสติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น