วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ช่วยวัดด้วยแรงกายใจ ถึงไม่มีทรัพย์ก็ได้อานิสงส์มาก

พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระเวยยาวัจจกเถระได้เล่าประวัติในอดีตชาติสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้าไว้ว่า เราได้เป็นไวยาวัจกรผู้รับใช้ในกิจทุกอย่างในวัด เราไม่มีไทยธรรมที่จะถวายแด่พระสุคตเจ้า (เพราะไม่มีทรัพย์) เรามีจิตผ่องใส ได้ถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา 
ในกัปที่ 91 จากกัปนี้ เราได้เป็นไวยาวัจกรวัด ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย (คือ ไม่ไปนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน) นี้เป็นผลแห่งการเป็นไวยาวัจกรผู้รับใช้ในกิจทุกอย่างในวัด
 
ในกัปที่ 8 จากกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุจินติยะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพลมาก (พระเจ้าจักรพรรดิ คือ กษัตริย์ผู้ปกครองทวีปทั้ง 4) คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 (คุณธรรมของพระอรหันต์) เราทำให้แจ้งชัดแล้ว กิจในพระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว 

คำอธิบาย และแหล่งอ้างอิง

1. จากเรื่องนี้จะเห็นว่า แม้เป็นคนยากจน ไม่มีเงิน ไม่มีไทยธรรม ไม่มีสมบัติจะทำบุญ แต่เป็นไวยาวัจกร เป็นผู้รับใช้ในกิจทุกอย่างในวัด ก็ได้บุญมาก เพราะฉะนั้น ยามใดเราขัดสนทรัพย์ก็ให้ใช้แรงกายและสติปัญญาช่วยงานพระพุทธศาสนาก็เป็นทางมาแห่งบุญของเรา และเป็นหนทางสู่สวรรค์ได้เช่นกัน เมื่อสั่งสมจนบุญบารมีเต็มแล้วก็หลุดพ้นได้

2. บุญที่ทำให้พระเวยยาวัจจกเถระได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่เฉพาะบุญในชาตินั้นอย่างเดียว เป็นผลบุญรวมที่สร้างมาหลายชาติ แต่บุญนั้นท่านประทับใจจึงกล่าวไว้ในประวัติ 

3. พระเจ้าจักรพรรดิคือกษัตริย์ที่มีบุญมาก ปกครองทวีปทั้ง 4 คือ ชมพูทวีป (โลกที่เราอาศัยอยู่) อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป โดย 3 ทวีปนี้เป็นโลกของมนุษย์ต่างดาวซึ่งอยู่ในอวกาศห่างจากโลกของเรามาก พระเจ้าจักรพรรดิใช้จักรแก้วเดินทางไปยังทวีปเหล่านี้

4. กัป เป็นหน่วยเวลาชนิดหนึ่งซึ่งนานมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า "กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี ฯลฯ หรือว่าเท่านี้ 100,000 ปี เหมือนอย่างว่า นครที่ทำด้วยเหล็ก ยาวหนึ่งโยชน์ (16 กิโลเมตร) กว้างหนึ่งโยชน์ สูงหนึ่งโยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด บุรุษหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่งๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นถึงความสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป กัปนานอย่างนี้"

5. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่ม 71 หน้า 348 - 349, เล่ม 26 หน้า 515-516

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น