วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ความสำคัญของศีล


ศีลโดยนัยยะแปลว่าปกติ แต่คนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่กลับมองคนที่มีศีลว่าเป็นคนที่ไม่ปกติ ก็คือเป็นคนที่ไม่ปกติในสังคม และมองคนที่ละเมิดศีลว่าเป็นคนที่ปกติ เพราะคนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ถือเอาค่านิยมตามกระแสโลกเป็นที่ตั้ง ซึ่งสวนทางกับกระแสธรรม การละเมิดศีลในยุคปัจจุบันจึงดูเป็นเรื่องที่ปกติมากในสายตาของคนทั่วไปที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม

ด้วยศีลโดยนัยยะแปลว่าปกติ การรักษาศีลจึงคือการรักษาความปกติของความเป็นมนุษย์ เพราะศีลเป็นคุณธรรมความดีที่ทำให้เป็นมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานก็เพราะว่ามนุษย์เป็นผู้ที่มีศีล รู้จักผิดชอบชั่วดี การมีศีลครบ5ข้อทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง คุณค่าความเป็นมนุษย์ก็ลดลงมา ยิ่งศีลขาดมากเท่าไหร่ความเป็นมนุษย์ก็ลดน้อยลงมากเท่านั้น จิตต่ำกว่ามนุษย์ก็จะมี ภูมิจิตของสัตว์นรก ภูมิจิตเปรต ภูมิจิตของอสุรกาย ภูมิจิตของสัตว์เดรัจฉาน ดังนั้นศีลทุกข้อจึงสำคัญหมด จะพร่องหรือขาดข้อใดก็หนึ่งไม่ได้ อย่างที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เพราะเคยมีศีล5มาก่อน เมื่อได้อัตภาพความเป็นมนุษย์มาแล้ว ถ้าไม่ใช้อัตภาพนี้รักษาศีลให้เป็นปกติและไม่เจริญคุณงามความดีที่มีให้ยิ่งๆขึ้นไป แต่มาละเมิดศีลแทน แบบนี้ก็เหมือนกับการมาทำลายความดีเดิมที่ตนเคยมี เมื่อสิ้นอัตภาพมนุษย์ แบบนี้ตายไปย่อมไปเกิดในอบายภูมิแทน

ศีล 5 ข้อ ข้อไหนที่ทำแล้ว ส่งผลร้ายแรงที่สุด?
....ศีลทุกข้อสามารถส่งผลร้ายแรงได้ทั้งนั้น ไม่มีกฏตายตัว ว่าข้อนั้นโทษมากกว่า ข้อนี้โทษน้อยกว่า เพราะขึ้นอยู่ที่องค์ประกอบและขึ้นอยู่ที่รายละเอียดในการกระทำ ทั้งเจตนาในการกระทำ ทั้งปริมาณในการกระทำ ว่าทำเป็นอาจิณกรรมไหม ทั้งขึ้นอยู่กับว่าทำไปแล้วมีผลกระทบในวงกว้างมากน้อยแค่ไหน

....ยกตัวอย่างศีลข้อที่1 ถ้าหากไปฆ่าพระอรหันต์ ไปฆ่าบิดามารดานี่โทษหนัก ถึงขั้นอนันตริกรรมเลยทีเดียว เป็นกรรมหนักมาก ต้องลงอเวจีมหานรกเลย

....ยกตัวอย่างศีลข้อที่2 ถ้าไปขโมยทรัพย์สมบัติของชาติของแผ่นดิน สมบัติในพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นโทษมาก

....ยกตัวอย่างข้อ3 ถ้าไปประพฤติผิดในกาม โดนจับได้เผลอๆโดนยิงตาย มีแต่ความหวาดระแวง ต้องมีตราบาปในใจ โทษมากเหมือนกัน ตายไปต้องลงนรก ไปปีนต้นงิ้วหนาม(สปริง) 

....ยกตัวอย่างข้อ4 ถ้าใช้คำพูดไปกล่าวจาบจ้วง ด่า ปรามาสผู้มีศีลมีธรรม หรือพระอริยะ พระอรหันต์ นี่ก็โทษหนัก ต้องมีนรกเป็นที่ไปเหมือนกัน อย่าคิดว่าคำพูดไม่มีโทษหนักนะ ถ้าไปด่าไปปรามาสคนที่มีบารมีธรรมสูงๆ สามารถทำให้ชีวิตการเป็นอยู่ติดขัด หากินไม่ขึ้น ชีวิตตกอับได้เลยละ หรือไปพูดจายุยงสงฆ์ให้แตกแยกแตกความสามัคคี นี่อนันตริยกรรมเลย แถมยังเป็นกรรมหนักที่สุดในอนันตริยกรรมอีก

....ยกตัวอย่างข้อ5 ถ้าดื่มสุราแล้วขาดสติ ไปทำเรื่องร้ายแรงที่ส่งผลกับคนส่วนมาก หรือไปเบียดเบียนผู้ที่มีคุณ ก็โทษหนักเหมือนกัน

......สรุปคือร้ายแรงได้ทุกข้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่รายระเอียด และองค์ประกอบปลีกย่อยต่างๆ หลายองค์ประกอบด้วยกัน จึงอย่าไปประมาทไปทำละเมิดศีล

ศีลช่วยแก้กิเลสในระดับหยาบไม่ให้ล่วงออกมาทางกายวาจา สมาธิช่วยแก้กิเลสในระดับกลางคือนิวรณ์ ปัญญาหรือวิปัสสนาช่วยแก้กิเลสที่ละเอียดที่เป็นอนุสัย ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ย่อมจะมีกิเลสด้วยกันทุกคน เพียงแต่มีกิเลสที่หนักเบาแตกต่างกันเท่านั้นเอง เมื่อขณะยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสอยู่ ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในจิต ยังขจัดไม่ได้หมด ก็ต้องอาศัยศีล เพื่อให้อยู่ในขอบเขตของธรรม ไม่ก้าวล่วงออกนอกศีลนอกธรรม ยกตัวอย่างถึงจะมีความโลภ ถ้าหากเรามีศีล เราก็ไม่ก้าวล่วงไปทำเรื่องที่ผิดศีลธรรมเพราะความโลภของเรา ถึงเราจะยังมีความโกรธ ถ้าเรามีศีลเราก็จะไม่ไปทำร้ายใครเพราะความโกรธของเรา ศีลจึงเป็นพื้นฐานเป็นรากฐานของความดี ถ้าศีลไม่มีไม่ต้องพูดไปไกลถึงพระนิพพาน เพราะแค่นรกหรืออบายภูมิก็ยังไม่พ้น

ศีลกับการทำสมาธิ
...หลักสำคัญที่จิตจะรวมเป็นฌานได้ คือจิตต้องเกิดปิติคือมีความอิ่มเอิบทางใจเกิดขึ้น เมื่อมีความอิ่มเอิบทางใจเกิดขึ้น จิตจึงจะก้าวข้ามนิวรณ์ไปสู่สมาธิในระดับฌาน เหตุนี้หากศีลไม่บริสุทธิ์ ฌานก็เกิดได้ยาก เพราะว่าไม่มีศีลไปเป็นตัวชำระและล่อเลี้ยงจิตให้เกิดสภาวะของความอิ่มเอิบทางใจ อย่างพระภิกษุเองก็ต้องมีการชำระศีล ถ้าพระภิกษุศีลขาดหรือพร่อง ก็ทำฌานได้ยาก เวลาทำสมาธิวิบากของการระเมิดศีลจะดึงจิตไม่ให้จิตรวมเป็นสมาธิ อย่างพระธุดงค์ที่ท่านกล้าออกปฏิบัติธุดงค์ตามป่าเขาตามถ้ำ ก็เพราะท่านเชื่อในความบริสุทธิ์ในศีลของท่าน

....ศีลบริสุทธิ์คือศีลไม่พร่อง ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ทุก5ข้อต้องบริสุทธิ์หมดจดหมด ไม่มีที่ให้ติ ข้อนี้ผมเคยลองมาก่อน ลองทำสมาธิในวันระหว่างวันที่ศีลบริสุทธิ์กับวันที่ศีลไม่บริสุทธิ์ วันใดศีลบริสุทธิ์จะเข้าสมาธิได้เร็ว ตั้งมั่นได้นานกว่า ตรงนี้จะยากตรงข้อวาจา ข้อวาจาดูเหมือนรักษายากที่สุด วิธีการที่ผมใช้คือพยายามพูดให้น้อยที่สุด คิดทุกครั้งก่อนพูด ไม่พูดพร่ำเพรื่อ พอไม่พูดคำพูดจะไปผลุดเกิดที่ใจ คือจะไหลเหมือนน้ำ เพราะปกติคิดแล้วมักจะพูดออกมาทันที แต่พอทรงอารมณ์ไม่พูด คำพูดจึงไปผลุดที่ใจแทน แต่อาการนี้จะอยู่สักระยะแล้วหายไป เมื่อศีลเราบริสุทธิ์หมดจดในทุกๆข้อ เวลาทำสมาธิจิตจะรวมเป็นสมาธิเร็ว เหตุเพราะจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล จะมีอารมณ์ที่อิ่มเอิบในความดีเป็นปกติ จะไม่เกาะอารมณ์ความชั่วที่เป็นกิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมอง เวลาไปทำสมาธิเมื่อจิตมีสภาวะมีกำลังที่ดีอยู่แล้ว จึงรวมเป็นสมาธิได้รวดเร็วขึ้น 

ศีลไม่บริสุทธิ์สมาธิจะเกิดไหม?
...ถึงศีลไม่บริสุทธิ์สมาธิก็เกิดได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ระดับของการระเมิดศีล ถ้าระเมิดเล็กๆน้อยๆ นานๆทีแบบไม่เจตนา หรือขาดเพียงไม่กี่ข้อ จนไม่ถึงกับทำให้จิตหยาบ แบบนี้ก็ยังสามารถทำสมาธิได้อยู่ แต่ถ้าเล่นศีลขาดกระจุยทั้ง5ข้อ จนจิตหยาบแบบที่ว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ของความชั่วเกาะกินจิตใจ แบบนี้ยาก เพราะอารมณ์ความชั่วจะเข้ามาปิดกั้น ทำให้สมาธิไม่เกิด

แล้วทำไมพระองคุลิมาลที่ฆ่าคนตายตั้ง999คน ละเมิดศีล ทำไมยังทำสมาธิหรือบรรลุมรรคผลได้?
...ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าพระองคุลิมาลจริงๆท่านบรรลุธรรมตอนที่มีศีล ไม่ได้บรรลุตอนที่ไม่มีศีล คือพระองคุลิมาลท่านหยุดเบียนเบียดผู้อื่นแล้ว กลับตัวกลับใจหันมามีศีลรักษาศีลเป็นผู้ไม่เบียดเบียน จึงทำภาวนาสามารถบรรลุมรรคผลได้ ไม่ใช่บรรลุตอนไม่มีศีลตรงนี้คนเข้าใจผิดกันมาก และชอบยกมาเป็นข้ออ้างว่าพระองคุลีมาลไม่มีศีลยังสามารถทำสมาธิได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

เกี่ยวกับการสมาทานศีลและการรับศีล 
....หลายท่านอาจจะคิดว่าการจะมีศีลได้ต้องไปขอรับจากพระ หรือจำเป็นต้องสมาทานศีลก่อน จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ที่มีศีล ต้องเข้าใจว่าการสมาทานศีลหรือการรับศีลจากพระนั้น ก็เพื่อเป็นการตั้งสัจจะหรือตั้งใจว่าต่อจากนี้เราจะรักษาศีลแล้วนะ จะไม่ประพฤติชั่วเบียดเบียนคนหรือสัตว์อื่น โดยอย่างการรับศีลจากพระก็เหมือนกับให้พระเป็นพยานเพื่อเป็นเครื่องระลึกจะได้มีสติ ระลึกว่าตอนนี้เราตั้งใจว่าจะรักษาศีล(รับศีล)แล้ว จะทำให้สามารถระลึกถึงศีล แล้วรักษาศีลได้ง่ายขึ้น ศีลจึงคือการสำรวมกาย วาจา ใจ สำรวมไว้ เพื่อไม่ให้ล่วงออกมาทางกายและวาจา เป็นการป้องกันไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น(ทั้งคนและสัตว์อื่น)อันนี้ศีลแบบปุถุชนคือยังมีการบังคับ อาจมีพลั้งเผลอ ส่วนศีลของพระอริยะที่เข้าถึงธรรม จิตจะเข้าถึงศีลโดยอัติโนมัติ คือเป็นศีลอัติโนมัติเป็นศีลที่เกิดจากวิหารธรรมจริงๆ โดยไม่ต้องสมาทานหรือรับศีลเพื่อให้ใครเป็นพยาน เพราะเกิดเป็นศีลโดยอัติโนมัติ ศีลจะรวมเข้าที่จิตจนเป็นศีลอัติโนมัติ

สรุปให้
....ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นรากฐานของความดี การมีศีลที่บริสุทธิ์ก็อุปมาเหมือนกับการมีขาที่แข็งแรงมั่นคง พร้อมที่จะก้าวเดิน (ก้าวไปสู่การปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้น) ถ้าไม่มีศีล อย่าพึ่งไปพูดถึงเรื่องไปสวรรค์ ไปนิพพานเลย แค่นรกก็ยังไม่พ้นเลย ผู้ที่มีศีลทำสมาธิก็จะเกิดสมาธิเกิดฌานได้ง่าย ผู้ที่ทุศีลหรือไม่มีศีลเวลาไปทำสมาธิจิตจะสงบได้ยาก เพราะไม่มีอานิสงค์ที่เกิดจากศีลไปชำระจิตให้เกิดปิติธรรม เพราะผู้ที่จะทำฌานให้เกิดได้ต้องผ่านขั้นปิติธรรม จิตต้องระเอียดในระดับหนึ่ง ผู้ไม่มีศีลจึงทำสมาธิได้ยาก แต่ถึงแม้จะทำสมาธิได้ สมาธิก็จะไม่มั่นคง เสื่อมได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น