วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

“รู้ตัวทั่วพร้อม” เป็น #สัมปชัญญะ

การอยู่ด้วยการรู้เท่าทัน ตรงกับคำว่า สัมปชัญญะ คำนี้มีความหมายว่า “รู้ตัวทั่วพร้อม” เป็นองค์ธรรมที่เกื้อกูลกับสติ หรือเรียกได้ว่า เป็นธรรมที่เอื้อกับสติ จึงเรียกสององค์ธรรมนี้ติดกันว่า “สติสัมปชัญญะ”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แสดงธรรมเรื่อง “การอยู่ด้วยการรู้เท่าทันธรรมดาของชีวิต” ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหัวข้อเรื่อง “ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย” ท่านกล่าวถึงเรื่องการอยู่ด้วยการรู้เท่าทันธรรมดาของชีวิตไว้ว่า
.
พระพุทธศาสนาสอนและฝึกฝนมนุษย์ เพื่อให้พัฒนาศักยภาพตนเองจากปุถุชนไปสู่ความเจริญก้าวหน้า (อริยบุคคล) ต้องอาศัยคุณธรรมเป็นอนุสติ (การระลึก) เพื่อให้เตือนใจตนเอง และพัฒนาไปถึงขั้นสูงสุดคือ การรู้เท่าทันว่าเป็นธรรมดา และ การมีปัญญารู้เท่าทันตามเหตุและปัจจัย
.
@@@@@
.
สำหรับมรณานุสติ หรือมรณสติ ทำให้เข้าใจว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่คู่กับความเกิด เกิดแล้วต้องดับ เมื่อเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็จะทำให้สบายใจ คลายทุกข์ เมื่อเข้าใจความตายเป็นแบบนี้แล้ว ควรระลึกได้ว่า ความตายนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน แต่จะมาถึงเราในวันไหนนั้นยังไม่แน่นอน อาจช้าหรือเร็วก็ได้
.
ฉะนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ขอให้เร่งขวนขวายทำกิจหน้าที่ และความดีต่าง ๆ สิ่งที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดนี้คือหลักที่เรียกว่า มรณสติ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนให้ระลึกถึงความตาย และมีความไม่ประมาท ดังนี้ว่า
.
    ”น เหว ติฏฐํ นาสีนํ สยานํ น ปตฺถคุ“ 
.
แปลความได้ว่า “อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลาย ที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ก็หาไม่“
.
หมายความว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้อาจจะมีความประมาทในขณะยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำอยู่ ปล่อยเวลาให้ผ่านไป แต่ในเวลานั้นขอให้เข้าใจว่า อายุสังขารของเราหาได้ประมาทตามเราไปด้วยไม่ คือ 
.
อายุสังขารของเราเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง มีความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ และมีความเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา เป็นแบบอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหยุดยั้งสภาวะธรรมนี้ได้
.
@@@@@
.
เมื่ออายุสังขารเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราระลึกได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราจึงไม่ควรที่จะประมาทและนิ่งเฉย พระองค์ทรงกล่าวต่อไปอีกว่า…
.
    “ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส กิจฺจกโร สิยา นโร น จ มชฺเชติ“ 
.
แปลความได้ว่า “เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรกระทำกิจหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท”
.
อันนี้คือ การนำความรู้เท่าทันธรรมดามาใช้ในทางที่เป็นกุศลและเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา ในทางพระพุทธศาสนาก็ว่าความเกิดนั้นนำมาและนำไปสู่ความตาย 
.
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความขวนขวายไม่ประมาท พระพุทธศาสนาจึงสอนเช่นนี้ มนุษย์ก็จะได้ไม่ประมาท จึงต้องสอนให้ตรงข้ามเพื่อให้มนุษย์ขวนขวายที่จะกระทำความดี 
.
@@@@@
.
ตรงกับพระพุทธพจน์ในคาถาธรรมบทที่ว่า
.
    ”ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเฬ พหู เอวํ ชาเตเน มจฺเจน กตตฺพฺพํ กุสลํ พหุ“ 
.
แปลความได้ว่า “ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกองนี้ นายช่างที่ฉลาดสามารถนำเอามาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม มีคุณค่าได้ฉันใด ชีวิตคนเราที่ได้เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ประกอบกุศลกรรมความดีให้มาก ฉันนั้น“
.
การเกิดมาแล้ว พึงกระทำความดีให้มาก เฉกเช่น นายช่าง (ดอกไม้) ร้อยกรองมาลัยจากกองดอกไม้ออกมาได้สวยงาม ก่อนความตายจะมาเยือน เราได้ทำประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่นแล้วหรือยัง

.................
ที่มา : ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ภาพ : https://pixabay.com
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/157642.html#cxrecs_s
By nintara1991 ,22 March 2020

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น