ที่มาของ "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ"
1. ณ แดนหิมวันตประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมมเทพยดา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์
มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าป่าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับพระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า
"นะโม" หมายถึง ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ
2. กล่าวฝ่ายอสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระกิตติศัพท์ของพระบรมศาสดา ก็มีจิตปรารถนา ที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลนพระบรมศาสดาว่า มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ พอนานวันเข้า พระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลก จนทำให้อสุรินทราหูอดรนทนอยู่มิได้ จึงเหาะมาในอากาศ ตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา
พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม ชำระจิตอันหยาบกระด้าง ของอสุรินทราหู ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า
"ตัสสะ" แปลว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง
3. เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก มีชื่อเรียกว่า ชั้น กามาวจร มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมตอบปัญหา แก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวาร ท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า
"ภะคะวะโต" แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
4. ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ เจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ชั้นที่ ๒ ท่านสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกเทวราชได้ทูลถามปัญหาแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และ ทรงตอบปัญหา จนทำให้ท้าวสักกเทวราช ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า
"อะระหะโต" แปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง
5. "สัมมาสัมพุทธัสสะ" เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญ ของท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ
"สัมมาสัมพุทธัสสะ" หมายถึง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ดังนั้น การตั้งนะโมจึงเป็นการไหว้ครู สรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมครูของสามโลก จึงขอนำคาถาฎีกานะโมมาไว้ให้ท่านทั้งหลายได้สวดท่องป้องกันภัยในทุกทิศ ประสิทธิทุกศาสตร์ ดังคำกล่าวที่ว่า "ท่องนะโมโตเต็มโลก"
นะโม สาตาคิริยักโข ตัสสะ อะสุรินโท ปะวุจจะติ
ภะคะวะโต จาตุมมะหาราชา อะระหะโต สักโก ตะถา
สัมมาสัมพุทธัสสาติ มะหาพรัหเมหิ ปะวุจจะติ ฯ
การเปล่งวาจาว่าบทนมัสการ ต้องว่า ๓ จบเสมอ มีเหตุผลดังนี้
จบที่ ๑ เพื่อนมัสการพระวิริยาธิกพุทธเจ้า ระยะกาลบำเพ็ญพระบารมี ๑๖ อสงไขย ๑ แสนกัป
จบที่ ๒ เพื่อนมัสการพระสัทธาธิกพุทธเจ้า ระยะกาลบำเพ็ญพระบารมี ๘ อสงไขย ๑ แสนกัป
จบที่ ๓ เพื่อนมัสการพระปัญญาธิกพุทธเจ้า ระยะกาลบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขย ๑ แสนกัป
อีกมติหนึ่งให้เหตุผลว่า.-
จบที่ ๑ เป็นบริกรรม
จบที่ ๒ เป็นอุปจาร
จบที่ ๓ เป็นอัปปนา.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น