ควรใช้คาถานี้ไปภาวนาจนกว่าจะเป็นฌานสมาบัติ เรื่องฌานนี่เรื่องเล็ก ท่านว่าจะคว้าอะไรมามันก็เป็นฌานทันที เพราะมีการคล่องอยู่แล้ว คาถาก็เห็นจะเป็นมงกุฎพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าอย่างนี้ว่า อิติปิ โส วิเสเสอิ อิเสเสพุทธนาเมอิ อิโสตัง พุทธปิติอิ ท่านกล่าวว่าคาถานี้ถ้าไปเรียนและภาวนาทำให้เป็นฌาน นิมิตต่าง ๆ จะแจ่มใส คนที่ตาไม่ดีก็อ่านหนังสือออกได้ หรือว่า เวลามืด ๆ ก็สามารถจะมองเห็นหนังสือได้ และมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามประสงค์ ถ้าใช้คาถานี้เป็นฌาน เป็นอันว่าท่านย้ำมาว่ามืด ๆ ก็อ่านหนังสือออกและท่านบอกว่าท่านก็มาทำ มาทำได้ไม่นานทำเพียงครู่เดียวจิตเข้าถึงฌาน ๔ ทรงฌาน ๔ สบาย ๆ ก็เลยว่าถึงฌาน ๘ ถึงฌาน ๘ สบายก็หลบลงมาถึงฌานสี่ในรูปฌาน ทำไปทำมาก็ลองหลับตาอ่านหนังสือก็เห็นอ่านออก แต่วิธีนี้ท่านว่าจะใช้ทั่ว ๆ ไปไม่ได้ เอาไว้แต่เมื่อมันจำเป็น จำเป็นจริง ๆ ไม่ต้องหยิบหนังสือมา เป็นแต่เพียงนึกว่าจะอ่านหนังสือ มันก็มีความเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้นเขาว่าอย่างไร วงเล็บของท่านมีไว้ว่าใครอ่านแล้วเอาไปทำได้จงอย่าทำตนเป็นคนวิเศษ เวลาอ่านหนังสือต่อหน้าคนมันอ่านไม่ออกจริง ๆ ก็ใช้ไฟใช้แว่นส่อง ถ้ามันจำเป็นจริง ๆ ก็เอาจิตจับภาพหนังสือนั้นเสียใช้ใจอย่างเดียว ก็จะอ่านหนังสืออก นี่เป็นวิธีปฏิบัติของท่าน ท่านก็เล่าต่อไป ต่อไปนี้ผมจะว่าย่อ ๆ ตามแบบของท่าน อะไรที่ไม่เข้าใจจะอธิบายสักนิดหน่อย
ต่อมาท่านเจริญพระพุทธคุณทั้งบท พระพุทธคุณทั้งบทก็คือ อิติปิ โส ภควา หมดเลย ความจริงท่านว่าทั้งบท ท่านว่าพุทธคุณทั้งบทนี่ก็ไม่ถูก ผมค้าน ท่านบันทึกไว้อย่างนี้ ท่านว่าท่านเล่นอิติปิ โส ทั้งบท ท่านว่ามันสบายใจดี จนกระทั่งจิตเป็นฌาน ๔ รู้สึกว่าเป็นสุข จนกระทั่งถือรูปพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ว่าอิติปิ โส ไปด้วย เอาจิตจับรูปพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ไปด้วย แต่ตอนนี้ผมไม่เห็นท่านอธิบายไว้ว่าอย่างไร ท่านว่าทำไปคาถาสั้นก็ทำเป็นฌานได้ คาถายาวก็ทำเป็นฌานได้ อิติปิ โส ทั้งบทก็ทำเป็นฌานได้ไม่เห็นจะมีอะไรเป็นสำคัญ ถ้าใจมันเป็นฌานเสียแล้ว ฟังของท่านไว้นะ ความรู้ต่าง ๆ ของท่านเรียนกันมาแล้ว ผมก็ว่าตามแบบแล้วจะเล่าให้ฟัง ตอนไหนที่สมควรสำหรับท่าน ท่านก็เอาไปใช้ ตอนไหนที่ไม่สมควรก็ไม่ต้องนำไปใช้
จากหนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๓๕ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น