วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องศพที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พาปฏิบัติ

ครั้งหนึ่ง มีเหตุเด็กผู้ชายป่วยไข้ตายลง ชื่อเด็กชาย นงค์ นามสกุล จันทะวงษา อายุประมาณ ๖ ขวบ เป็นไข้ตายอยู่ที่กระท่อมเถียงนา เพราะเป็นหน้ากำลังดำนากัน ตามปกติพ่อแม่ในชนบทบ้านนอกทางภาคอีสานสมัยนั้น เมื่อถึงหน้าฤดูทำนาก็ต้องหอบลูกจูงหลานไปนาด้วย แม้ลูกหลานจะป่วยไข้ แต่พอเอาไปได้ก็ต้องเอาไป เพื่อจะได้เยียวยารักษากันไป พร้อมกับทำนาไปด้วยเพื่อจะเร่งงานนาให้เสร็จทันกับฤดูกาล แต่วันนั้นบังเอิญเด็กมีไข้ขึ้นสูง เยียวยาไม่ทัน ในที่สุดก็ตาย ทำให้พ่อแม่พี่น้องมีความเศร้าโศกเสียใจมาก

เมื่อตายแล้วพ่อแม่ญาติพี่น้องต้องการจะให้นำศพเด็กเข้าไปทำบุญที่บ้าน แต่มาขัดข้องเรื่องของความคิดเห็นตามประเพณีโบราณว่า คนที่ตายในทุ่งในป่าห้ามไม่ให้เอาผ่านเข้าบ้าน โบราณท่านถือ และอีกอย่าง คนตายโหงหรือตายอย่างกะทันหัน เช่น ตายจากอุบัติเหตุ ผูกคอตาย ฆ่ากันตาย ยิงกันตาย เหล่านี้เป็นต้น โบราณท่านห้าม ไม่ให้หามผ่านเข้าบ้าน และห้ามเผา ให้ฝังครบสามปีแล้วจึงขุดเอากระดูกขึ้นมาเผาได้ เลยทำให้ชาวบ้านหนองผือสมัยนั้นถกเถียงกันไปถกเถียงกันมา ในที่สุดญาติโยมจึงนำปัญหานี้ไปปรึกษาสอบถามกับท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านได้แก้ความสงสัยนี้ให้แก่ญาติโยมบ้านหนองผือ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า

“พวกหมูป่า อีเก้งกวาง ที่ยิงตายในกลางป่ายังเอามาเข้าบ้านเรือนได้ นี่มันคนตายแท้ๆ ทำไมจะเอาเข้าบ้านเข้าเรือนไม่ได้”

ดังนั้น ญาติโยมชาวบ้านจึงนิ่งเงียบไป ทำให้หูตาสว่างขึ้นมา สุดท้ายก็นำเอาศพเด็กชายคนนำเข้าไปทำบุญที่บ้าน และเผาเหมือนกันกับศพของคนตายตามปกติธรรมดาทุกอย่าง ภายหลังต่อมาชาวบ้านหนองผือจึงไม่ค่อยถือในเรื่องนี้เป็นสำคัญ คนตายทุกประเภทจึงทำเหมือนกันหมด

สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนักอยู่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือช่วงระยะ ๕ พรรษานั้น มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือมีพระที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่านมรณภาพลง ๒ รูป คือ พระอาจารย์สอ กับ พระอาจารย์เนียม แต่มรณภาพลงคนละเดือน โดยเฉพาะพระอาจารย์เนียมมรณภาพเมื่อตอนเช้าด้วยอาการสงบ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทราบเรื่องทุกอย่าง พอตอนเช้า ท่านพระอาจารย์มั่นก็พาพระเณรไปบิณฑบาตภายในหมู่บ้านตามปกติ ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่นั้น ท่านพูดขึ้นเป็นสำเนียงอีสานว่า

“ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ พ่อออกแม่ออก ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ”

ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ กับกลุ่มญาติโยมที่รอใส่บาตรทุกกลุ่ม จนสุดสายบิณฑบาต คำพูดของท่านนั้นหมายความว่า พระอาจารย์เนียมอยู่กับที่แล้ว ไม่กระดุกกระดิกแล้ว หรือตายแล้ว ซึ่งญาติโยมตอนนั้นบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจความหมาย ภายหลังจึงเข้าใจชัดว่าพระอาจารย์เนียมมรณภาพแล้วเมื่อเช้านี้

เมื่อญาติโยมทั้งหลายได้ทราบอย่างนั้นแล้วจึงบอกต่อ ๆ กันไป แล้วพากันเตรียมตัวไปที่วัดในเช้าวันนั้น

สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรบิณฑบาตเสร็จแล้วกลับถึงวัด ล้างเท้าขึ้นบนศาลาหอฉัน วางบาตรบนเชิงบาตร ลดผ้าห่ม คลี่ผ้าสังฆาฏิที่ซ้อนออก ห่มเฉพาะจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อยแล้วพับเก็บผ้าสังฆาฏิ จึงเข้าประจำที่ฉัน เตรียมจัดแจกอาหารลงบาตร เพราะมีโยมตามส่งอาหารที่วัดด้วย เสร็จแล้วอนุโมทนายถาสัพพีตามปกติ จึงพร้อมกันลงมือฉัน

ฝ่ายพวกชาวบ้านญาติโยมภายในหมู่บ้านที่จะมาวัดในเช้าวันนั้น ก็กำลังบอกกล่าวป่าวร้องให้ผู้คนประชาชนไปที่วัด เพื่อจะได้จัดเตรียมเอาเครื่องใช้ไม้สอยและอุปกรณ์จำเป็นในการที่จะทำงานฌาปนกิจศพตามประเพณี ทั้งคนเฒ่าคนแก่ หนุ่ม ๆ แข็งแรงก็ให้ไปด้วย ผู้มีมีดพร้า ขวานจอบ เสียม ก็ให้เอาไปด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไปปราบพื้นที่ที่จะทำเป็นที่เผาศพชั่วคราว สำหรับพวกที่มีพร้ามีขวานให้ไปตัดไม้ที่มีขนาดให้หน่อย ยาวประมาณ ๒ วากว่า ๆ มาทำเป็นไม้ข่มเหง (ไม้ข่มเหง สำหรับพาดข้างหีบศพบนเชิงตะกอนเพื่อกันไม่ให้ศพตกจากเชิงตะกอนว่าไม้ข่มเหง) หรือไม้ข่มหีบศพที่อยู่บนกองฟอนไม่ให้ตกลงมาจากกองฟอนขณะไฟกำลังลุกไหม้อยู่

ส่วนคนเฒ่าคนแก่รู้หลักในการที่จะทำเกี่ยวกับศพ ก็เตรียมฝ้ายพื้นบ้านพร้อมด้ายสายสิญจน์เพื่อนำไปมัดตราสัง ภูไท (ชื่อชนกลุ่มหนึ่งของจังหวัดสกลนครที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีนิสัยรักสงบ อยู่กันเป็นกลุ่มตามเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผิวขาวเหลือง มีภาษาพูดเฉพาะ เข่น ชาวบ้านหนองผือ เป็นต้น) เรียกว่า มัดสามย่าน (คือห่อศพด้วยเสื่อแล้วมัดเป็นสามเปลาะ โดยมัดตรงคอ ตรงกลางและตรงข้อเท้า) นอกจากนั้นก็มีธูปเทียน ดอกไม้ กะบองขี้ไต้ น้ำมันก๊าด พร้อมทั้งหม้อดินสำหรับใส่กระดูกหลังจากเผาเสร็จ เป็นต้น

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เมื่อฉันจังหันเสร็จและทำสรีรกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ได้ลุกจากอาสนะที่นั่ง เดินลงจากศาลาหอฉันไปที่กุฏิศพพระอาจารย์เนียม พระเณรทั้งหลายก็ติดตามท่านไปด้วย ไปถึงท่านก็สั่งการต่างๆ ตามที่ท่านคิดไว้แล้ว คือคล้าย ๆ กับว่าท่านจะเอาศพของพระอาจารย์เนียมเป็นเครื่องสอนคนรุ่นหลัง หรือทอดสะพานให้คนรุ่นหลัง ๆ ทั้งพระเณร พร้อมทั้งญาติโยมชาวบ้านหนองผือเอาเป็นคติตัวอย่าง

ท่านจึงไปยืนทางด้านบนศีรษะของศพแล้วก้มลงใช้มือทั้งสองจับมุมเสื่อทั้งสองข้างของศพ ทำท่าทางจะยกศพขึ้นอย่างขึงขังจริงจัง พระเณรทั้งหลายเห็นกิริยาอาการของท่านอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าใจความหมายว่าท่านต้องการจะให้ยกศพหามไปที่กองฟอนเดี๋ยวนั้น โดยไม่ต้องตกแต่งศพหรือทำโลงใส่เลย

ดังนั้น พระเณรทั้งหลายจึงพากันกรูเข้าไปช่วยยกศพนั้นจากมือท่าน หามไปที่กองฟอนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าพระเณรทั้งหลายเข้าช่วยหามมากแล้ว ท่านจึงปล่อยให้พระจัดการหามกันเอง ท่านเพียงแต่คอยสั่งการตามหลังเท่านั้น แล้วท่านก็เดินตามหลังขบวนหามศพนั้นไป ในตอนนี้พวกญาติโยมชาวบ้านกำลังทยอยเข้ามาที่บริเวณวัด

ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเดินไปอยู่นั้น ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเดินถือฝ้ายพื้นบ้านเข้ามาหาท่าน ท่านเห็นจึงหยุดเดินและถามขึ้นว่า

“พ่อออก ฝ้ายนั่นเอามาเฮ็ดอีหยัง..? ” (หมายความว่าโยมจะเอาฝ้ายนั้นมาทำอะไร)

โยมนั้นก็ตอบท่านว่า “เอามามัดสามย่านแหล่วข้าน้อย” (มัดตราสัง)

ท่านพูดขึ้นทันทีว่า “ผูกมัดมันเฮ็ดอีหยัง มันสิดิ้นรนไปไส มันฮู้พอแฮงแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้อย่างอื่นสิยังมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ่มซะซือ”

(หมายความว่า ผูกมัดทำไม ศพมันจะดิ้นไปไหนเพราะตายแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้อย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ้งเสียเปล่าๆ)

โยมคนนั้นก็เลยหมดท่า พูดจาอะไรไม่ออก เก็บฝ้ายนั้นแล้วเดินตามหลังท่านพระอาจารย์มั่นเข้าไปยังที่ที่เผาศพพระอาจารย์เนียม

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเดินไปถึงที่เผาศพแล้ว มีโยมหนุ่ม ๆ แข็งแรงกำลังแบกหามท่อนไม้ใหญ่พอประมาณ ยาว ๒ วากว่าๆ (ทางนี้เรียกว่าไม้ข่มเหง) มาที่กองฟอน ท่านพระอาจารย์มั่นเหลือบไปเห็นจึงพูดขึ้นทันทีว่า

“แบกมาเฮ็ดหยังไม้นั่น... ? ” (หมายความว่า แบกมาทำไมไม้ท่อนนั้น)

พวกโยมก็ตอบท่านว่า “มาข่มเหงแหล่วข้าน้อย” (หมายความว่า เอาไม้นั้นมาข่มศพบนกองฟอนเพื่อไมให้ศพตกออกจากกองไฟ)

ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า “สิข่มเหงมันเฮ็ดหยังอีก ตายพอแฮงแล้ว ย่านมันดิ้นหนีไปไส” (หมายความว่า จะไปข่มเหงทำไมอีกเพราะตายแล้ว กลัวศพจะดิ้นหนีไปไหน)

พวกโยมได้ฟังเช่นนั้นก็เลยวางท่อนไม้เหล่านั้นทิ้งไว้ที่พุ่มไม้ข้าง ๆ นั้นเอง แล้วมานั่งลงคอยสังเกตการณ์ต่อไป

ก่อนเผานั้น ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งให้พลิกศพตะแคงขวา แล้วตรวจตราดูบริขารในศพโดยที่ไม่ได้ตบแต่งศพแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีจีวรของศพปกปิดอยู่เท่านั้น แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นสายรัดประคดเอวของศพ จึงดึงออกมาโยนไปให้พระที่อยู่ใกล้ ๆ พร้อมกับพูดว่า

“นี่ประคดไหม ใครไม่มีก็เอาไปใช้เสีย”

แล้วท่านก็พาพระเณรสวดมาติกาบังสุกุล จนจบลง แล้วจึงให้ตาปะขาวจุดไฟใส่กระบองแล้วยื่นให้ท่าน เมื่อท่านรับแล้วพิจารณาครู่หนึ่งจึงไปวางไฟลงใต้ฟืนในกองฟอน ไม่นานไฟก็ติดลุกไหม้ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเปลวโพลงสูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วในที่สุดไฟเริ่มใหม่ทั้งฟืนทั้งศพ ทำให้ศพที่ถูกไฟไหม้อยู่นั้นมีน้ำมันหยดหยาดย้อยถูกเปลวไฟเป็นประกายวูบวาบพร้อมกับเสียงดังพรึบ ๆ พรั่บ ๆ ไปทั่ว จนที่สุดคงเหลือแต่เถ้าถ่านกับกองกระดูกเท่านั้น เอง

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจังหันหน้าเดินออกมาข้างนอก ปล่อยให้ญาติโยมดูแลเอง ในขณะที่ท่านกำลังเดินออกมา ท่านเหลือบไปเห็นโยมผู้ชายคนหนึ่งถือหม้อดินใหญ่ขนาดกลางกำลังเดินเข้ามาหาท่าน ท่านจึงถามโยมคนนั้นทันทีว่า

“พ่อออก เอาหม้อนั้นมาเฮ็ดหยัง” (หมายความว่า โยมเอาหม้อดินนั้นมาทำอะไร)

โยมคนนั้นตอบท่านว่า “เอามาใส่กระดูกแหล่วข้าน้อย” (หมายความว่า เอามาใส่กระดูกขอรับ)

ท่านจึงชี้นิ้วลงบนพื้นดินพร้อมกับถามโยมคนนั้นว่า “อันนี้แม่นหยัง” (หมายความว่า อันนี้คืออะไร)

โยมตอบท่านว่า “ดินขอรับ”

ท่านจึงชี้นิ้วไปที่หม้อดินที่โยมถืออยู่พร้อมกับถามอีกว่า “นั่นเด้..เขาเอาอีหยังเฮ็ด” (หมายความว่า นั้นเขาทำด้วยอะไร)

โยมตอบท่านว่า “ดิน ข้าน้อย”

ท่านจึงสรุปลงพร้อมกับชี้นิ้วทำท่าทางให้ดูว่า “นั่นก็ดิน นี่ก็ดิน ขุดลงนี้แล้วจึงกวาด..ลงนี่ มันสิบ่ดีกว่าหรือ” (หมายความว่าหม้อใบนั้นก็ทำด้วยดิน ตรงพื้นนี้ก็ดิน ขุดเป็นหลุมแล้วให้กวาดกระดูกและเถ้าถ่านต่าง ๆ ลงด้วยกันจะไม่ดีกว่าหรือ) ท่านจึงบอกให้โยมนั้นเอาหม้อไปเก็บไว้ใช้ โดยบอกว่า

“ให้เอาหม้อใบนั้นไปใช้ต้มแกงอย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าที่จะเอามาใส่กระดูก”

เมื่อโยมได้ฟังเช่นนั้น จึงนำหม้อดินไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป....

คัดลอกปกิณกธรรมจากหนังสือ "บูรพาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร" โดย ท่านพระอาจารย์พยุง ชวนปัญโญ

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น