วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

อานิสงส์พระคาถาบารมี30ทัศ

ผู้ใดได้ท่องบ่นทรงจำไว้สาธยายทุกวัน ผู้นั้นจะพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ปรารถนาสิ่งใดก็จะสำเร็จดังความมุ่งหมาย

ครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่บนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ชั้นดาวดึงส์เทวสถาน ท้าวอมรินทราธิราชเสด็จมาเข้าเฝ้า

แล้วท้าวอมรินทราธิราช ได้ทูลถามว่า…

“ธรรมอันประเสริฐ ที่จะสามารถอำนวยมรรคผลให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ขจัดเสียซึ่งภัยอันตราย ที่เกิดขึ้นจากหมู่มนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย ให้พ่ายแพ้ไปด้วยอำนาจอานุภาพ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติ ได้ท่องบ่นสาธยาย(หมายถึง การสวดมนต์)ทรงจำไว้ซึ่งธรรม จะมีอยู่หรือพระพุทธเจ้าข้า”

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า…

“ดูกร มหาราช ธรรมที่ยังผู้ปฏิบัติให้ประสบสุขเช่นนั้นมีอยู่”

ท้าวอมรินทราธิราชจึงทูลถามต่อไปว่า…

“ธรรมนี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้า”

พระบรมครูจึงตรัสว่า…

“พระธรรมนี้ชื่อว่า ปัญญาบารมี”

ท้าวอมรินทราธิราช ทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมนี้ พระบรมศาสดาทรงแสดงซึ่งปัญญาบารมี ที่พระองค์ได้เคยสร้างมาแล้วในอนันตะชาติว่า… ปัญญาบารมี 30 ทัศ เป็นยอดแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ทรงบำเพ็ญมาแล้วอย่างเต็มเปี่ยม จึงได้ตรัสเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลใดได้เขียนไว้สักการบูชาก็ดี ได้สดับฟังทุกวันก็ดี ผู้นั้นจะเป็นผู้มีสมบัติข้าวของมาก ผู้ใดได้ท่องบ่นทรงจำไว้สาธยายทุกวัน ผู้นั้นจะพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ปรารถนาสิ่งใดก็จะสำเร็จดังความมุ่งหมาย เป็นที่รักแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง เทวดาย่อมให้พรและตามรักษาบุคคลนั้น ผู้ใดได้ประพฤติบารมี 30 ทัศนี้ ให้บังเกิดมีแก่ตน ย่อมประสบสมบัติ 3 ประการคือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ แม้จะปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ สาวกภูมิอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะสำเร็จ

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงปัญญาบารมีจบลงแล้ว ท้าวอมรินทราธิราช แสดงตนเป็นอุบาสก น้อมเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีพ เหล่าเทวดาทั้งหลายได้บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก

เครดิตบทความต้นฉบับ : www.84000.org

คำแปลศัพท์พิเศษ : พระรัตนตรัย, พระพุทธเจ้า, บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์, อุบาสก

คำไหว้บารมี 30 ทัศ  

พระพุทธเจ้า ประกอบด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทั้งหลายให้เต็ม เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ทั้งหลาย คำอธิบายบารมี 30 อยู่ด้านล่างบทสวด

คำไหว้บารมี 30 ทัศ(แบบครูบาศรีวิชัย)

ทานะ ปาระมี สัมปันโน , ทานะ อุปะปารมี สัมปันโน , ทานะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
สีละ ปาระมี สัมปันโน , สีละ อุปะปารมี สัมปันโน , สีละ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
เนกขัมมะ ปาระมี สัมปันโน , เนกขัมมะ อุปะปารมี สัมปันโน , เนกขัมมะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
ปัญญา ปาระมี สัมปันโน , ปัญญา อุปะปารมี สัมปันโน , ปัญญา ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
วิริยะ ปาระมี สัมปันโน , วิริยะ อุปะปารมี สัมปันโน , วิริยะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
ขันตี ปาระมี สัมปันโน , ขันตี อุปะปารมี สัมปันโน , ขันตี ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
สัจจะ ปาระมี สัมปันโน , สัจจะ อุปะปารมี สัมปันโน , สัจจะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
อะธิฏฐานะ ปาระมี สัมปันโน , อะธิฏฐานะ อุปะปารมี สัมปันโน , อะธิฏฐานะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
เมตตา ปาระมี สัมปันโน , เมตตา อุปะปารมี สัมปันโน , เมตตา ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อุเปกขา อุปะปารมี สัมปันโน , อุเปกขา ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
ทะสะ ปาระมี สัมปันโน , ทะสะ อุปะปารมี สัมปันโน , ทะสะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน เมตตา ไมตรี กะรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมีสัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ นะมามิหัง

อธิบาย บารมี 30 ทัศ

การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาตินั้นๆ บารมีที่บำเพ็ญนั้นคือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี รวมเรียกว่าบารมี ๓๐ (๓ x ๑๐) โดยแบ่งเป็นบารมีชั้นธรรมดา ๑๐ (บารมี) บารมี ชั้นกลาง ๑๐ (อุปบารมี) และ บารมีชั้นสูง ๑๐ (ปรมัตถบารมี) รวมเป็นบารมี ๓๐ ประการ ในอรรถกถาจริยาปิฎกพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ ได้จัดชาดกเรื่องต่างๆ ลงในบารมีทั้ง ๓๐ ประการ มีนัยโดยสังเขปที่น่าศึกษา ดังนี้

๑. ทานบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีวิราช (๒๗/๔๙๙) ทรงบำเพ็ญทานอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร (๒๘/๕๔๗) และทรงบำเพ็ญทานปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกระต่ายป่าสสบัณฑิต (๒๗/๓๑๖)

๒. ศีลบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญศีลบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัตทันต์เลี้ยงมารดา (๒๗/๗๒) ทรงบำเพ็ญศีลอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญานาคภูริทัต (๒๘/๕๔๓)

๓. เนกขัมมบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นอโยฆรราชกุมาร (๒๗/๕๑๐) ทรงบำเพ็ญเนกขัมมอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นหัตถิปาลกุมาร (๒๗/๕๐๙) และทรงบำเพ็ญเนกขัมมปรมัตถบารมี ในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจูฬสุตโสม (๒๗/๕๒๗)

๔. ปัญญาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นสัมภวกุมาร (๒๗/๕๑๕) ทรงบำเพ็ญปัญญาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์วิธุรบัญฑิต (๒๘/๕๔๖) และทรงบำเพ็ญปัญญาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นเสนกบัณฑิต (๒๗/๔๐๒)

๕. วิริยบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญากปิ (๒๗/๕๑๖) ทรงบำเพ็ญวิริยอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสีลวมหาราช (๒๗/๕๑) และทรงบำเพ็ญวิริยปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก (๒๘/๕๓๙)

๖. ขันติบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญขันติบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นจูฬธัมมปาลราชกุมาร (๒๗/๓๕๘) ทรงบำเพ็ญขันติอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นธัมมิกเทพบุตร (๒๗/๔๕๗) และทรงบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส (๒๗/๓๑๓)

๗. สัจจบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญสัจจบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นวัฏฏกะ (ลูกนกคุ่ม (๒๗/๓๕) ทรงบำเพ็ญสัจจอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน (๒๗/๗๕) และทรงบำเพ็ญสัจจปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุตโสม (๒๘/๕๓๗)

๘. อธิษฐานบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญากุกกุระ (๒๗/๒๒) ทรงบำเพ็ญอธิษฐานอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นมาตังคบัณฑิต (๒๗/๔๙๗) และทรงบำเพ็ญอธิษฐานปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเตมิยราชกุมาร (๒๘/๕๓๘)

๙. เมตตาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสามดาบส (๒๘/๕๔๐) ทรงบำเพ็ญเมตตาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกัณหาทีปายนดาบส (๒๗/๔๔๔) และทรงบำเพ็ญเมตตาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเอกราช

๑๐. อุเบกขาบารมี พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นกัจฉปบัณฑิต (๒๗/๒๗๓) ทรงบำเพ็ญอุเบกขาอุปบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นพญามหิส (๒๗/๒๗๘) และทรงบำเพ็ญอุเบกขาปรมัตถบารมีในขณะที่เสวยพระชาติเป็นโลมหังสบัณฑิต (๒๗/๙๔) หมายเหตุ เลขหน้าเป็นลำดับเล่มพระไตรปิฎก เลขหลังเป็นลำดับชาดก เช่น (๒๗/๒๗๓) หมายถึง พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ชาดกเรื่องที่ ๒๗๓)

การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติหนึ่ง ๆ มิใช่ว่าจะทรงบำเพ็ญบารมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทรงบำเพ็ญทานบารมี หรือทรงบำเพ็ญศีลบารมีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในชาติเดียวกันนั้น ได้บำเพ็ญบารมีหลายอย่างควบคู่กันไป แต่อาจเด่นเพียงบารมีเดียว ที่เหลือนอกนั้นเป็นบารมีระดับรอง ๆ ลงไป เช่น ในชาติที่เป็นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ บารมี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น