อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตนบรร เจิดจ้า
บุญเพรงพระากสวรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า ฝึกพื้น ใจเมือง
เป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอดกับประวัติศาสตร์ไทยที่มักจะเขียนไม่ตรงกัน สอนไม่ตรงกัน หรือเราที่เขียนไม่ตรงกับชาวบ้าน กรุงศรีอยุธยาแตกได้ยังไง? พม่าทำลายอะไรของเราไปบ้าง? เราทำลายอะไรไปบ้าง? ใครเป็นคนเผาเมืองกันแน่? ใครดี ใครเลว ใครดำ ใครขาว?
การทำศึกสงครามในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาถือว่ามีสงครามน้อยใหญ่อยู่ตลอดเวลา แต่สงครามที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มีอยู่สองครั้ง นั่นคือ การเสียกรุงครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ซึ่งถือเป็นยุคที่ถูกนำมาผลิตซ้ำผ่านสื่อต่าง ๆ มากที่สุดยุคหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเสียกรุงก่อนที่พระนเรศวรมหาราชจะสามารถนำกำลังพลกู้เอกราชคืนแก่กรุงศรีอยุธยาได้ และแผ่ขยายอำนาจอย่างยิ่งใหญ่) และการเสียกรุงครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่ทำให้เกิดความเสียหายหนักหน่วง จนเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชขับไล่พม่าออกจากการยึดพื้นที่หัวเมืองต่าง ๆ ได้แล้วก็ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทน
และในการเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็กลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง ว่าสุดท้ายแล้วใครกันที่เผากรุงศรีอยุธยา? ใช่พม่าทั้งหมดหรือ? หรือคนไทยกันเองที่เผาทำลายและขโมยของมีค่าในเวลาที่บ้านเมืองวุ่นวาย?
ข้อมูลในช่วงเสียกรุงครั้งที่สองมีอยู่มาก มีทั้งของฝั่งไทย พม่า และบันทึกของตะวันตก มีหลายส่วนที่ตรงกันอยู่นั่นคือส่วนที่ว่ากรุงศรีอยุธยานั้นโดนเผาทำลายจริงในช่วงสงคราม แต่ในช่วงหลังสงครามนั้นรายละเอียดไม่เหมือนกัน
ในศึกสงครามไทย – พม่าครานั้น พม่าได้ยกทัพใหญ่มาสองทัพ โดยโจมตีพร้อมกันทั้งฝ่ายใต้และเหนือ ไล่ทำศึกเรื่อยมากว่าจะถึงพระนครศรีอยุธยาก็สามารถรวมกำลังพลจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตีแตกมาเป็นพรรคพวกจำนวนมากมาล้อมกรุงศรีฯไว้ แต่เกิดปัญหาตรงที่เป็นช่วงหน้าน้ำทำให้ไม่สามารถตีกรุงศรีแตกได้ในตอนนั้น เมื่อน้ำลดก็ใช้ปืนใหญ่ยิงโจมตีทั้งทางน้ำและทางบก ทำให้พลเมืองขัดสนเสบียงอาหาร โดยพม่าใช้เวลา 2-3 ปีล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้กว่าจะตีแตกในที่สุด
ข้อมูลตาม พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวง กล่าวถึงเหตุการณ์วันเสียกรุงไว้ว่า
“…ครั้น ณ วันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุน นพศก เพลาบ่ายสี่โมง พม่ายิงปืนป้อมสูงวัดท่าการ้อง วัดนางปลื้ม ระดมเข้ามา ณ กรุง แล้วเอาเพลิงจุดเชื้อที่รากกำแพง ครั้นเพลาค่ำกำแพงกรุงทรุดลงหน่อยหนึ่ง พม่าก็เข้ากรุงได้ เอาไฟเผาพระราชวัง และวัดพระศรีสรรเพชญ์…”
คือพม่ายิงปืนใหญ่ และเผากำแพงให้ทรุดลงมาจนสามารถบุกเข้ากรุงได้ในที่สุด
จากคำบอกเล่าของหนังสือ พระราชพงศาวดารพม่า โดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“เมื่อกองทัพพม่าเข้าในกำแพงพระนครศรีอยุธยาได้แล้ว ก็จุดเพลิงเผาสังหารพระมหาราชธานีพินาศด้วยอิทธิอัคนีผลาญ พระมหากษัตริย์สยามทรงพระนามพระเอกาทัสราชา (เป็นพระนามสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 เมื่อเป็นเจ้าฟ้า) นั้น ก็ต้องพิฆาตในเวลากำลังโกลาหลกัน…”
และได้เล่าหลังจากนั้นว่าพม่ารีบยกทัพกลับกรุงอังวะเพื่อทำศึกกับจีน
หนังสือ หมายเหตุก่อนเสียกรุงฯ กับคำพิพากษาแผ่นดิน ให้ข้อมูลตรงกับพงศาวดารพม่าในประเด็นนี้ นั่นคือหลังจากตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ทัพพม่าพักอยู่ประมาณ 9-10 วัน ก่อนรีบยกทัพใหญ่กลับพม่าเนื่องจากกำลังมีศึกกับจีนฮ่อที่กรุงอังวะ
“…ครั้นสมโภชเสร็จแล้วสีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ทราบข่าวว่าจีนฮ่อมาติดกรุงอังวะ สีหะปะเต๊ะแม่ทัพจึงจัดพลทหารพลเมืองชายหญิงมอบให้นายทัพนายกอง 406 คน ควบคุมรวบรวมพลทหารพลเมืองอยุธยา 106,100 คน มอบแบ่ง
ให้นายทัพนายกองเสร็จแล้ว สีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาไปยังกรุงรัตนะบุระอังวะแต่กลับไปทางท่าไร่…”
ก่อนที่จะยกทัพใหญ่กลับ ก็ได้แต่งตั้งคนไทยที่ไปเข้ากับพม่าให้เป็นเจ้าหัวเมืองต่าง ๆ
ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เราคุ้นเคยกันดีและเกิดในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 นั่นคือการโจมตีค่ายบางระจัน เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาเล่าซ้ำในรูปแบบสื่อสมัยใหม่เพื่อปลุกความรักชาติกันหลายรอบหลายเวอร์ชัน แท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ ?
ค่ายบางระจัน หรือ ค่ายบ้านระจัน เป็นค่ายของชาวบ้านที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับทัพพม่าในครั้งก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยสามารถต้านการรุกรานของพม่าได้ถึง 9 ครั้ง กินเวลายืดเยื้ออยู่ประมาณ 5 เดือนกว่า และพ่ายแพ้ให้กับพม่าในการโจมตีครั้งที่ 10
ซึ่งหากยึดตาม พระราชพงศาวดารพม่า ได้กล่าวถึงค่ายบ้านระจันไว้ว่า
“…ครั้นนั้นพม่ารีดเอาเงินทองและลูกสาวราษฎรไทยชาวเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี ได้ความเดือดร้อน จึงนายแท่น นายโช นายอิน นายเมือง ชาวบ้านศรีบัวทองเมืองสิงค์ นายดอก ชาวบ้านกรับ นายทองแก้วชาวบ้านโพทเล รวม 6 นายเป็นหัวหน้า มีพรรคพวกมาก จึงเกลี้ยกล่อมพวกไทยร่วมใจกันเป็นทหารสมัครคิดจะต่อรบพม่า นายโชคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย 20 คนเศษแล้ว พากันหนีมาหาพระอาจารย์ธรรมโชติเขานางบวช ซึ่งมาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้นบ้านระจัน นายแท่นและพวกได้ชักชวนไทยได้อีกว่า 400 คนก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ บ้านระจัน 2 ค่าย พระอาจารย์ก็ทำเครื่องรางแจกให้มีน้ำใจ…
…การที่ไทยอาสารบพม่า 10 ครั้งสิ้นเวลา 5 เดือนเศษนั้นเสียชีวิตคนไทย 1,000 เศษแต่ผลาญพม่ามอญตายลงถึง 3,000 เศษ”
สรุปความได้ว่าค่ายบ้านระจันสามารถต้านพม่าได้ถึง 9 ครั้งตามที่กล่าวไปแล้ว
แต่นักวิชาการบางคนยกให้การยืนหยัดสู้พม่าของค่ายบ้านระจันเป็นการสู้เพื่อปกป้องหมู่บ้านตัวเองมากกว่าสู้เพื่อประเทศชาติ เพราะเป็นเพียงค่ายเล็ก ๆ ทางตอนบน มีอีกหลายค่ายหลายหมู่บ้านด้วยกันที่รวมตัวกันเองเพื่อต่อต้านพม่าเพียงแต่ไม่สามารถต้านทานได้นานเท่าค่ายบ้านระจัน หรือนักวิชาการบางคนกลับไม่คิดว่าเรื่องตำนานบ้านระจันมีอยู่จริงเสียด้วยซ้ำ
ยังมีช่วงเวลาหลังจากเสียกรุงที่ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอีก สรุปแล้วความเสียหายทั้งหมดเกิดจากพม่าจริงหรือ? หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก จากหนังสือหลายเล่มบอกตรงกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายหลังกรุงแตก ในจุดนั้นไม่ได้มีใครมาควบคุมดูแลความเรียบร้อยหรือรักษากฎหมายกันอีกต่อไป
มีจดหมายจากบาทหลวงคอร์บอกเล่าเหตุการณ์ถึงบาทหลวงเลอฟิศกาล เดอ มะลากา ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1769 (พ.ศ. 2312) ได้ความว่า
“…ปีก่อนและในปีนี้ พวกจีนและชาวสยามไม่ได้หากินอย่างอื่นนอกจากเที่ยวทำลายพระพุทธรูปและพระเจดีย์ พวกจีนได้ทำให้เงินทองในเมืองสยามไหลไปเทมา
การที่ประเทศสยามกลับตั้งตัวได้เร็วเช่นนี้ก็เพราะความหมั่นเพียรขอพวกจีน ถ้าพวกจีนไม่ใช่เป็นคนมักได้แล้วในเมืองสยามทุกวันนี้ ก็คงไม่ได้มีเงินเหลือใช้เป็นแน่ เพราะพวกพม่าได้ขนไปจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นการที่ได้มีการค้าขายกันในทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะพวกจีนได้ไปเที่ยวขุดเงินทองที่ฝังไว้ตามดินและบรรจุไว้ตามพระเจดีย์นั่นเอง
เมื่อพวกจีนได้ทำลายวัดภูไทย ซึ่งเป็นวัดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงเรียนสามเณรนั้น วัดนี้เมื่อทำลายลงแล้วพวกจีนได้พบทองเป็นอันมากพอบรรทุกเรือยาวได้ถึงสามลำ ในวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงผนวชเรียกวัดประดู่ วัดเดียวเท่านั้นได้พบเงินถึง 5 ไห และวัดอื่น ๆ ก็มีเงินทุกวัดมากบ้างน้อยบ้าง
พวกจีนเท่ากับสงครามกับพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองแดง เครื่องมือของจีนที่ทำลายพระพุทธรูปนั้นก็คือบานหน้าต่าง บานประตู และเสาโบสถ์ วัดต่าง ๆ เวลานี้เปรียบก็เท่ากับเตาไฟ ฝาผนังก็ดำหมด และตามลานวัดก็เต็มไปด้วยถ่าน พระพุทธรูปหักพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พระเจ้ากรุงสยามองค์ใหม่ก็หาได้จัดการป้องกันพุทธศาสนาตามที่ควรทำไม่ เพราะเหตุว่าทรงเกรงว่าคนจะเอาใจออกห่าง…”
ข้อความข้างต้นปรากฏในหนังสือหมายเหตุก่อนเสียกรุงฯ กับคำพิพากษาแผ่นดิน
ทั้งหมดทั้งมวล สามารถสรุปสาเหตุการเสียกรุงครั้งที่ 2 ออกมาได้หลายทิศทาง บ้างว่าเป็นเพราะพระมหากษัตริย์อ่อนแอ บ้างว่าเป็นเพราะฝ่ายในที่มีอำนาจเทียบเท่ากษัตริย์ บ้างว่าเพราะข้าราชการและระบบอ่อนแอ บ้างว่าไม่สามารถหากำลังพลเข้ากองทัพได้มากพอ บ้างว่าได้รับข่าวสารมาผิดทำให้ยกทัพไปต้านกองทัพพม่าผิดที่ และบ้างก็ว่ามีไส้ศึกคนไทยอยู่ในพระนคร (แต่บางฉบับบอกว่าเป็นชาวพม่า) ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าคิดวิเคราะห์กันต่อไป
และน่าเสียดายที่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของประเทศเรากับประเทศเพื่อนบ้านสักเท่าไร โดยเฉพาะประเทศพม่าที่เคยทำศึกสงครามกันมาแต่ก่อน เป็นประเทศที่อยู่ติดกับเรา หลังจากนั้นแล้วเป็นอย่างไร? ในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้เราเชื่อมโยงกันอย่างไร?
แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่วัยเด็กประถม มัธยม หรือตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับได้เรียนกันมากที่สุด กลับกลายเป็นประวัติศาสตร์เมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว มีภาพยนตร์มากมายที่ถ่ายทอดความเสียสละของบรรพบุรุษ แต่เรื่องที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่สิบปี ในช่วงอายุของเรานี่เอง
หลังจากได้มีโอกาสไปค้นคว้าหาข้อมูลมาแล้วจะพบว่าแต่ละฉบับบางอย่างเขียนไม่ตรงกัน บางอย่างตรงกัน บางเล่มมีข้อมูลน้อย บางเล่มข้อมูลละเอียด เพราะฉะนั้นเราจะเป็นต้องฟังความหลายด้าน หาข้อมูลจากหลายสำนักและชั่งน้ำหนักด้วยตัวเอง เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว ไม่มีกล้องบันทึกภาพ ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่สามารถเชื่อได้ 100% เพราะฉะนั้นต้องใช้วิจารณญาณมากก่อนที่จะปักใจเชื่อไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ
การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 / พลตรีจรรยา ประชิตโรมรัน
พระราชพงศาวดารพม่า / พระนิพนธ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
เสียแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และ 2 / จิตรสิงห์ ปิยะชาติ
หมายเหตุก่อนเสียกรุงฯ กับคำพิพากษาแผ่นดิน / สถาปัตย์ เชื้อมงคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น