วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

วิธีนั่งสมาธิโดยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ใหญ่
สายกรรมฐาน องค์ท่านเมตตาสอนว่า “การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจ คือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง”
การนั่งสมาธิภาวนา คือการทำจิตใจของตน
ให้ตั้งมั่น ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส ทำใจ
ให้สงบสบาย หลวงปู่มั่น องค์ท่านกล่าวว่า “การภาวนา คือการอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุขใจ ที่ยังมิได้รับการอบรมจากการภาวนา”

ก่อนอื่นที่เราจะนั่งสมาธิภาวนา ให้หาสถานที่อันเป็นมุมสงบ นั่งเข้าที่เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น ไม่เอียงซ้ายนัก ไม่เอียงขวานัก ไม่ก้มนัก ไม่เงยนัก ทำตัวให้สบายๆ ดูท่าการประทับนั่งของพระพุทธรูปเป็นแบบอย่าง (หากไม่สะดวกที่จะนั่งอยู่ขัดสมาธิอยู่กับพื้น ก็ให้นั่งบนเก้าอี้หรืออะไรก็ได้ตามแต่สะดวก) เราเริ่มฝึกหัดนั่งใหม่ๆ อาจจะปวดแข้งเจ็บขาบ้างเป็นธรรมดา แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ให้พยายามอดทนต่อสู้กับเวทนาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น หากสู้ไม่ไหวจริงๆ ให้สลับสับเปลี่ยนอิริยาบถ ออกไปเดินจรงกรมเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวด

เมื่อนั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ให้กล่าวคำอธิษฐานภาวนา เพื่อเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระสงฆ์ กล่าวตามดังนี้

“สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระสงฆ์ บูชาคุณบิดามารดา บูชาคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลาย ขอจงเป็นพลวปัจจัยแด่พระนิพพานของข้าพเจ้า และขอให้ข้าพเจ้ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้แจ้งถึงพระนิพพาน เอาชนะกิเลสความไม่ดีทั้งหลายที่อยู่ภายในใจได้ตลอดกาลนานเทอญ”
ภายหลังจากที่กล่าวคำอธิษฐานเสร็จ ให้กำหนดคำบริกรรมภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าว่า “พุท ” หายใจออก “โธ ” หายใจเข้า “ธัม ” หายใจออก “โม ” หายใจเข้า “สัง” หายใจออก “โฆ ” และให้ระลึกคำบริกรรมภาวนา “พุทโธ ธัมโม สังโฆ ” ๓ หน แล้วให้ระลึกเอาคำบริกรรมภาวนาว่า “พุทโธ ” แต่เพียงคำเดียว โดยตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้า “พุท” ก็กำหนดรู้ ลมหายใจออก “โธ ” ก็กำหนดรู้ สติกำหนดอยู่กับคำบริกรรมภาวนา หากจิตคิดแส่สายไปทางอื่น ก็ดึงจิตกลับมาให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น หากยังไม่ได้ผล ให้เร่งคำบริกรรมภาวนาเร็วๆ “พุทโธๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ”

ให้หมั่นกระทำบำเพ็ญอยู่เป็นประจำ การทำครั้งสองครั้งอยากจะให้จิตสงบก็เป็นไปได้ยาก หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมักจะสอนลูกศิษย์ที่มานั่งสมาธิภาวนากับองค์ท่านเสมอว่า “เหมือนกะเราปลูกต้นไม้ เราต้องรักษาต้นรักษาโคนมัน ใส่ปุ๋ยรดน้ำ โคนมันดีต้นมันก็ต้องดี ดอกผลไม่มีใครบังคับมันเกิดเอง ต้นมันดีดอกผลมันดี อันนี้เอาอะไรเป็นต้น คือดวงใจเป็นต้น เมื่อใจเราดีแล้ว ทำอะไรก็ดี หาอะไรก็ดี เมื่อใจไม่ดีแล้ว นึกพุทโธ พุทโธ ตัดมันเสีย ”

คำบริกรรมภาวนานั้นจะใช้บทใดก็ได้ตามความชอบ บางท่านจะใช้กรรมฐานห้าเป็นคำบริกรรม คือ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง) หรือระลึกมรณัสสติเป็นอารมณ์ คือ ตาย ตาย ตาย ฯลฯ

ที่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนให้ใช้คำบริกรรมภาวนาบทว่า “พุทโธ ” นั้น เพื่อต้องการให้น้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้ามาไว้ที่ใจ “ธัมโม ” น้อมเอาคุณของพระธรรมเจ้ามาไว้ที่ใจ “สังโฆ ” น้อมเอาคุณของพระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาไว้ที่ใจ ท่านถึงว่า “พระอยู่ที่ใจ ” คือมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเรานั่นเอง

เมื่อจะเลิกจากการนั่งสมาธิภาวนา ให้ยกมือประนมขึ้นระหว่างคิ้วตรงศีรษะครั้งหนึ่ง พร้อมกับกล่าวคำว่า “สาธุ ” ภายในใจ ต่อจากนั้นตั้งใจแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ครั้นเมื่ออธิษฐานเสร็จ ก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้กระทำบำเพ็ญในครั้งนี้ ไปให้กับผู้มีอุปการะคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย กล่าวตามดังนี้

“ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิภาวนา ข้าพเจ้าขอแผ่ส่วนบุญไปให้แก่บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย เทวาอารักษ์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย พระอินทร์ พระพรหม ยม ยักษ์ ครุฑ คนธรรภ์ กุมภัณฑ์ นาคทั้งหลาย รุกขเทวดา อากาศเทวดา ภุมเทวดา เปรต ผี อสุรกายทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิตอยู่และหามีชีวิตไม่ ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ อย่าได้มีเวรมีภัย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงอยู่เป็นสุขเสมอเถิด ขอจงได้รับส่วนแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำบำเพ็ญในครั้งนี้ด้วยเทอญ..."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น