พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ ดังนี้.
ได้ยินว่า เมื่อภิกษุนั้นกำลังผ่าฟืนอยู่ที่ประตูเรือนไฟ งูตัวหนึ่งเลื้อยออกจากระหว่างไม้ผุ ได้กัดเข้าที่นิ้วเท้า ภิกษุนั้นมรณภาพในที่นั้นทันที. เรื่องที่ภิกษุนั้นมรณภาพได้ปรากฏไปทั่ววัด. ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ได้ยินว่า ภิกษุรูปโน้นกำลังผ่าฟืนอยู่ที่ประตูเรือนไฟ ถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ ณ ที่นั้นเอง.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุรูปนั้นจักได้เจริญเมตตาแผ่ถึงตระกูลพญางูทั้งสี่แล้ว งูก็จะไม่กัดภิกษุนั้น.
แม้ดาบสทั้งหลายซึ่งเป็นบัณฑิตแต่ปางก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติ ก็ได้เจริญเมตตาในตระกูลพญางูทั้ง ๔ ปลอดภัยอันจะเกิดเพราะอาศัยตระกูลพญางูเหล่านั้น แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ แคว้นกาสี ครั้นเจริญวัย สละกามสุข ออกบวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด สร้างอาศรมบทอยู่ที่คุ้งแม่น้ำแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ เพลิดเพลินในฌาน เป็นครูประจำคณะ มีหมู่ฤๅษีแวดล้อมอยู่อย่างสงบ.
ครั้งนั้น ที่ฝั่งคงคา มีงูนานาชนิดทำอันตรายแก่พวกฤๅษี พวกฤๅษีโดยมากได้ถึงแก่กรรม ดาบสทั้งหลายจึงบอกเรื่องนั้นแก่พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์เรียกประชุมดาบสทั้งหมด แล้วกล่าวว่า หากพวกท่านเจริญเมตตาในตระกูลพญางูทั้ง ๔ งูทั้งหลายก็จะไม่กัดพวกเธอ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไป พวกเธอจงเจริญเมตตาในตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้วจึงตรัสคาถานี้ว่า :-
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่า วิรูปักขะ
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่า เอราปถะ
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่า ฉัพยาปุตตะ
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่า กัณหาโคตมกะ.
พระโพธิสัตว์ ครั้นแสดงตระกูลพญางูทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว จึงกล่าวว่า หากพวกท่านจักสามารถเจริญเมตตาในตระกูลพญางูทั้ง ๔ นั้น งูทั้งหลายก็จักไม่กัดไม่เบียดเบียนพวกท่าน แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ที่ไม่มีเท้า
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์สองเท้า
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์สี่เท้า
ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์มีเท้ามาก.
พระโพธิสัตว์ ครั้นแสดงเมตตาภาวนาโดยสรุปอย่างนี้แล้ว
บัดนี้ เมื่อจะแสดงด้วยการขอร้อง จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
ขอสัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามาก อย่าได้เบียดเบียนเราเลย.
บัดนี้ เมื่อจะแสดงการเจริญเมตตาโดยไม่เจาะจง จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
ขอสัตว์ผู้ข้องอยู่ สัตว์ผู้มีลมปราณ สัตว์ผู้เกิดแล้วหมดทั้งสิ้นด้วยกัน จงประสบพบแต่ความเจริญทั่วกัน ความทุกข์อันชั่วช้า อย่าได้มาถึงสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งเลย.
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พวกท่านจงเจริญเมตตาไม่เฉพาะเจาะจง ในสรรพสัตว์อย่างนี้ เพื่อให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอีก จึงกล่าวว่า :-
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระคุณหาประมาณมิได้ บรรดาสัตว์เลื้อยคลาน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็นสัตว์ประมาณได้.
พระโพธิสัตว์แสดงว่า เพราะธรรมทั้งหลายอันทำประมาณมีราคะภายในของสัตว์เหล่านั้นยังมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์เลื้อยคลานเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีประมาณ แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย อย่างนี้ว่า ด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัยอันหาประมาณมิได้ ขอสัตว์ทั้งหลายอันมีประมาณเหล่านี้ จงทำการปกป้องรักษาพวกเราทั้งกลางคืนกลางวันเถิด
เพื่อแสดงกรรมที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
เราได้ทำการรักษาตัวแล้ว ป้องกันตัวแล้ว
ขอสัตว์ทั้งหลายจงพากันหลีกไป
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์.
พระโพธิสัตว์ผูกพระปริตรนี้ให้แก่คณะฤๅษี ก็พระปริตรนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ในชาดกนี้ด้วยคาถาทั้งหลายตอนต้น เพราะแสดงเมตตาในตระกูลพญานาคทั้งสี่ หรือเพราะแสดงเมตตาภาวนาทั้งสอง คือโดยเจาะจงและไม่เจาะจง ควรค้นคว้าหาเหตุอื่นต่อไป.
ตั้งแต่นั้น คณะฤๅษีตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ เจริญเมตตา รำลึกถึงพระพุทธคุณ เมื่อฤๅษีรำลึกถึงพระพุทธคุณอยู่อย่างนี้ บรรดางูทั้งหลายทั้งหมดต่างก็หลีกไป แม้พระโพธิสัตว์ก็เจริญพรหมวิหาร มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
คณะฤๅษีในครั้งนั้น ได้เป็น พุทธบริษัท ในครั้งนี้.
ส่วนครูประจำคณะ คือ เราตถาคต นี้แล.
จบ อรรถกถาขันธปริตตชาดกที่ ๓
อหิสูตร
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ
รูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งใน
เมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่
เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู ๔
เป็นไฉน คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักขะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๑ ตระกูล
พญางูชื่อฉัพยาปุตตะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู ๔ จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอ
พึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ๔ จำพวกนี้
เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน ฯ
ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขะ
ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อเอราปถะ
ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อฉัพยา-
ปุตตะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสกุลพญางูทั้งหลายชื่อ
กัณหาโคตมกะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่
ไม่มีเท้า ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๒ เท้า
ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๔ เท้า ความเป็น
มิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก สัตว์ไม่มีเท้าอย่า
เบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้า
อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา ขอ
สรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่ จงได้พบ
เห็นความเจริญเถิด อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ
พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง
จะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ ความรักษาอันเรากระทำแล้ว
ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย เรานั้น
กำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗
พระองค์อยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๙๓๗-๑๙๗๐ หน้าที่ ๘๓-๘๔.
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1937&Z=1970&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=67&items=1
อรรถกถาอหิสูตรที่ ๗
พึงทราบวินิจฉัยในอหิสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อิมานิ จตฺตาริ อหิราชกุลานิ นี้ ตรัสหมายถึงพิษที่ถูกงูกัด พิษที่ถูกงูกัดเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พิษเหล่านั้นทั้งหมดอยู่ภายในตระกูลพระยางูทั้ง ๔ เหล่านี้.
บทว่า อตฺตคุตฺติยา คือ เพื่อคุ้มตน. บทว่า อตฺตรกฺขาย คือ เพื่อรักษาตน.
บทว่า อตฺตปริตฺตาย คือ เพื่อป้องกันตน. อธิบายว่า เราจึงอนุญาตปริตไว้ดังนี้.
บัดนี้ ภิกษุพึงทำปริตนั้นโดยวิธีใด เมื่อทรงแสดงวิธีนั้น จึงตรัสว่า วิรูปกฺเขหิ เม เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วิรูปกฺเขหิ ได้แก่ มีเมตตาจิตกับงูตระกูลวิรูปักขะ.
แม้ในตระกูลงูที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อปาทเกหิ ได้แก่ มีเมตตาจิตกับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย.
แม้ในสัตว์ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สพฺเพ สตฺตา ความว่า ก่อนแต่นี้ ภิกษุกล่าวเมตตาเจาะจงด้วยฐานะประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ จึงเริ่มคำนี้ เพื่อกล่าวเมตตาไม่เจาะจง.
ในบทเหล่านั้น คำว่า สัตว์ ปาณะ ภูตเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคำกล่าวถึงบุคคลเท่านั้น.
บทว่า ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ ความว่า จงเห็นแต่อารมณ์ที่เจริญใจเถิด.
บทว่า มา กญฺจิ ปาปมาคมา ความว่า สัตว์อะไรๆ อย่าประสบสิ่งอันเป็นบาปลามกเลย.
ในบทว่า อปฺปมาโณ พุทฺโธ นี้พึงทราบพุทธคุณว่า พุทฺโธ แท้จริง พุทธคุณเหล่านั้น ชื่อว่าสุดที่จะประมาณได้.
แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้แล.
บทว่า ปมาณวนฺตานิ ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยประมาณแห่งพระคุณ.
บทว่า อุณฺณานาภี ได้แก่ แมงมุมมีขนที่ท้อง.
บทว่า สรพู ได้แก่ ตุ๊กแกในเรือน.
บทว่า กตา เม รกฺขา กตา เม ปริตฺตา ความว่า การรักษาและการป้องกัน ข้าพเจ้าได้ทำแล้วแก่ชนประมาณเท่านี้.
บทว่า ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ ความว่า สัตว์ทั้งหลายแม้ทั้งหมดอันข้าพเจ้าทำการป้องกันแล้ว จงหลีกไปเสีย. อธิบายว่า อย่าเบียดเบียนข้าพเจ้าเลย ดังนี้.
จบอรรถกถาอหิสูตรที่ ๗