วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566

อานาปานัสสติกรรรมฐานนั้น มีอุบายเป็นเครื่องนำมา ดังต่อไปนี้:-

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 363
[อุบายเป็นเหตุนำอานาปานัสสติกรรมฐานมา]
ในอธิการว่าด้วยอานาปานัสสติกรรรมฐานนั้น มีอุบายเป็นเครื่องนำมา ดังต่อไปนี้:-
จริงอยู่ ภิกษุนั้น รู้ว่ากรรมฐานไม่ปรากฏ ควรพิจารณาสำเหนียกอย่างนี้ว่า ชื่อว่า ลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ มีอยู่ในที่ไหน ? ไม่มีในที่ไหน ของใครมี ? ของใครไม่มี ?

ภายหลัง เมื่อภิกษุนั้น พิจารณาดูอยู่อย่างนี้ ก็รู้ได้ว่า ลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ (ของทารกผู้อยู่) ภายในท้องของมารดา ไม่มี พวกชนผู้ดำน้ำก็ไม่มี. พวกอสัญญีสัตว์ คนตายแล้ว ผู้เข้าจตุตถฌาน ท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยรูปภพและอรูปภพ ท่านเข้านิโรธ ก็ไม่มีเหมือนกัน แล้วพึงตักเตือนตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า แน่ะบัณฑิต ! ตัวเธอไม่ใช่ผู้อยู่ในท้องของมารดา ไม่ใช่ผู้ดำน้ำ ไม่ใช่เป็นอสัญญีสัตว์ ไม่ใช่คนตาย ไม่ใช่ผู้เข้าจตุตถฌาน ไม่ใช่ผู้พร้อมเพรียง ด้วยรูปภพ และอรูปภพ ไม่ใช่ผู้เข้านิโรธ มิใช่หรือ ?

ตัวเธอยังมีลมหายใจเข้าและหายใจออกอยู่แท้ ๆ, แต่ตัวเธอก็ไม่สามารถจะกำหนดได้ เพราะยังมีปัญญาอ่อน.

ภายหลัง เธอนั้น ควรตั้งจิตไว้ด้วยอำนาจที่ลมถูกต้องโดยปกตินั่นเอง ให้มนสิการเป็นไป. จริงอยู่ ลมหายใจเข้าและหายใจออกนี้ กระทบโครงจมูกของผู้มีจมูกยาวผ่านไป, กระทบริมฝีปากข้างบนของผู้มีจมูกสั้นผ่านไป. เพราะฉะนั้น เธอนั่น จึงควรตั้งนิมิตไว้ว่า ลมหายใจเข้าและหายใจออก ย่อมกระทบฐานชื่อนี้. 

ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงตรัสว่า ...
☝☝☝ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวการเจริญอานาปานัสสติ แก่ภิกษุผู้หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่.*
//* ม. อุป. ๑๔/๑๙๖-๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น