วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566

กรรมฐานหลัก

หลักพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปฏิบัติมากที่สุดก็คือ “ให้พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ คือรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ทั้งหยาบและเอียด ทั้งเลวและประณีต ทั้งที่มีในที่ใกล้หรือที่ไกล ทั้งของตัวเราเองและของผู้อื่น ทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเห็นความเป็นสิ่งไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตน”

จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมแล้วยังจะเป็นการกำจัดอนุสัยของกิเลสให้ลดน้อยลงด้วย ซึ่งการปฏิบัติจะต้องพิจารณาดูจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆจึงจะได้ผล ไม่ใช่คิดคำนวณเอาหรือท่องตามตัวหนังสือ ซึ่งนั่นจะเป็นเพียงการท่องเหมือนนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น

๑. ธาตุกรรมฐาน

อีกวิธีหนึ่งในการปฏิบัติอริยมรรคก็คือ “การพิจารณาทุกสิ่งโดยความเป็นธาตุ” คือให้พิจารณาทุกสิ่งโดยเฉพาะร่างกายและจิตใจของเรา ว่าเป็นเพียงธาตุมาปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น คือร่างกายก็มาจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมปรุงแต่งขึ้นมาและอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่ ส่วนจิตใจก็มาจากวิญญาณธาตุปรุงแต่งขึ้นมา จึงไม่มีตัวตนใดๆที่จะมาเป็นเราหรือของเราหรือของใครๆอย่างแท้จริงได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทุกสิ่งเป็นเพียงกระแสการปรุงแต่งของธรรมชาติเท่านั้น ชีวิตจึงเหมือนมายา หรือเหมือนกับความฝันที่พอตื่นขึ้นมาทุกสิ่งในฝันก็จะหายไปหมดสิ้น 

๒. อสุภะกรรมฐาน

อีกวิธีหนึ่งในการปฏิบัติอริยมรรคก็คือ การพิจารณาถึงความไม่งามของร่างกาย ที่เรียกว่า อสุภะ โดยสมัยพุทธกาลนั้นภิกษุที่เจริญแนวทางนี้จะเข้าไปในป่าช้าอันเป็นที่ทิ้งศพของชาวบ้านในสมัยนั้น แล้วก็ไปยืนเพ่งพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆ เช่น ศพที่ขึ้นอืดพอง ศพที่ขึ้นเขียว หรือศพที่มีแต่กระดูก เป็นต้น โดยน้อมเข้ามาในร่างกายของตนเองและแม้ในของคนอื่นว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ ไม่พ้นไปได้ 

การเพ่งอสุภะนี้เป็นการกำจัดราคะ (ความติดอกติดใจ) ในเรื่องเพศโดยตรง คือถ้าเรามองเห็นเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสวยงามเราก็จะเกิดราคะ แต่ถ้ามองเห็นเป็นสิ่งไม่สวยงามก็จะไม่เกิดราคะ วิธีนี้จึงเหมาะสมแก่ผู้ที่มีราคะจัด อีกทั้งการเพ่งซากศพจนเกิดเป็นนิมิตติดตาที่เรียกว่า อสุภะนิมิต และนำนิมิตนั้นมาเพ่งต่อไป ก็จะทำให้เกิดรูปฌานได้อีกด้วย

๓. อนุสติ ๑๐

การปฏิบัติง่ายๆสำหรับผู้ครองเรือนก็คือ การเจริญอนุสติ คือการตามระลึกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่จะใช้ระลึกก็ได้แก่

๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้สั่งสอนสัตว์ให้พ้นทุกข์ (พุทธคุณ ๙)

๒. ธรรมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมที่ปฏิบัติตามแล้วทำให้พ้นทุกข์ได้ (ธรรมคุณ ๙)

๓. สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ที่นำพระธรรมมาสอนแก่เรา (สังฆคุณ ๙)

๔. สีลานุสติ ระลึกถึงคุณของศีลที่ช่วยให้เรามีความปรกติสุข (และคุ้มครองเราไม่ให้ตกไปในอบายภูมิ)

๕. เทวตานุสติ ระลึกถึงธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (คือหิริและโอตตัปปะ) ที่ช่วยคุมครองโลกให้มีความสงบสุข (เราก็ควรเอาอย่างท่านในการมีหิริและโอตตัปปะ)

๖. จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนได้เคยบริจาคไว้ (ทำทานเพื่อละความตระหนี่ในใจ และรู้ว่าทานที่ทำไว้ดีแล้ว จะเป็นเสบียงในการเดินทางในวัฏฏะ ไม่ต้องอดอยาก ยากจน)

๗. มรณานุสติ ระลึกถึงความตายที่จะต้องเกิดขึ้นแก่ตนอย่างแน่แท้ (ทำให้ไม่ประมาทในชีวิต รีบขวนขวายละอกุศล สร้างกุศล)

๘. อานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้า-ออก (มีสติอยู่กับลมหายใจเข้า ออก อย่างต่อเนื่อง)

๙. กายคตาสติ ระลึกถึงอาการ ๓๒ ของร่างกาย มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง เป็นต้นเนื่องๆ (จะได้เห็นความจริงว่า ร่างกายนี้ไม่สวยงาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์อย่างไร เพื่อละคลายความยึดมั่นในตนบ้าง)

๑๐. อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ อันได้แก่ นิพพานว่าเป็นที่พักผ่อนของจิตวิญญาณอันดิ้นรน (เมื่อระลึกถึง.. จึงควรปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์๘ เพื่อเข้าถึงพระนิพพานในที่สุด)

๔. สัญญา - ความสำคัญมั่นหมาย

การเจริญอริยมรรคอีกแนวทางหนึ่งก็คือ
การเจริญสัญญา คือสัญญาหรือความจำสิ่งต่างๆได้ หรือความสำคัญมั่นหมายของเรานี้ปรกติมันจะเป็น สัญญาวิปลาส คือผิดเพี้ยนไม่ตรงกับความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้เกิดอนุสัยของกิเลสขึ้นมา คือเรามักจะมีสัญญาว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นตัวตนอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงต้องมาเจริญสัญญาใหม่ให้เป็นไปในทางที่จะไม่เกิดอนุสัยของกิเลส แต่จะเกิดความเคยชินของปัญญาหรือของอริยมรรคขึ้นมาแทน ซึ่งสัญญาที่ควรเจริญก็ได้แก่

๑. อนิจจสัญญา ความกำหนดหมาย ว่าไม่เที่ยง (ในขันธ์ทั้ง ๕)

๒. อนัตตสัญญา ความกำหนดหมาย ว่าไม่ใช่ตัวตน (ในอายตนะทั้งในและนอก)

๓. อสุภสัญญา ความกำหนดหมาย ว่าไม่งาม น่าเกลียด (ในอวัยวะต่างๆของร่างกาย)

๔. อาทีนวสัญญา ความกำหนดหมาย ว่าเป็นโทษ (จากโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในร่างกายของเรา)

๕. ปหานสัญญา ความกำหนดหมาย ในการละ (อกุศลวิตก ๓)

๖. วิราคสัญญา ความกำหนดหมาย ในธรรมอันปราศจากราคะ (ความสงบเย็นของนิพพาน)

๗. นิโรธสัญญา ความกำหนดหมาย ในธรรมเป็นที่ดับ (ดับสนิทเพราะคืนกิเลส)

๘. สัพพโลเกอนภิรติสัญญา ความกำหนดหมาย ในความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง (คือในกามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ)

๙. สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ความกำหนดหมาย ว่าไม่เที่ยงในสังขารทุกกลุ่ม (ทั้งภายในและภายนอก)

๑๐. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ความกำหนดหมาย ในความสกปรกน่าเกลียดของอาหารที่กินเข้าไปจนกระทั่งถ่ายออกมา

๑๑. อนิจเจทุกขสัญญา ความกำหนดหมาย ในความทุกข์จากความไม่เที่ยง

๑๒. ทุกขนัตตสัญญา ความกำหนดหมาย ในความเป็นอนัตตาแห่งทุกข์ทั้งปวง

๑๓. อัฏฐิกสัญญา ความกำหนดหมาย ในศพที่มีแต่กระดูก

๑๔. ปุฬวกสัญญา ความกำหนดหมาย ในศพที่มีแต่หนอน

๑๕. วนีลกสัญญา ความกำหนดหมาย ในศพที่ขึ้นเขียว

๑๖. อุทธุมกสัญญา ความกำหนดหมาย ในศพที่ขึ้นพอง

๑๗. มรณสัญญา ความกำหนดหมาย ในความตายที่จักมีแก่ตนเป็นแน่แท้

การเจริญสัญญานี้ก็เหมือนกับการเจริญอนุสติ คือให้หมั่นพิจารณาอยู่เสมอๆไม่ว่าจะทำกิจวัตรใดอยู่ หรือต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายตลอดทั้งวันจนกระทั่งหลับ พอตื่นขึ้นก็รีบทำต่อทันที คือทำให้เกิดเป็นความเคยชินยิ่งกว่าความเคยชินตามธรรมดา เพื่อให้กระทุ้งเข้าไปถึงจิตใต้สำนึก หรือเปลี่ยนจิตใต้สำนึกให้ฉลาดหรือมีปัญญามากขึ้น คือทำให้มีสัญญาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลโดยตรงของการเจริญสัญญาต่างๆก็ได้แก่

อสุภสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้หวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นเข้าไปดื่มด่ำอยู่ในเมถุนธรรม (การร่วมเพศ) แต่มีความวางเฉยหรือมีความรู้สึกปฏิกูล (สกปรกน่าเกลียด) ดำรงอยู่ในจิต

มรณสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้หวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ จากความยินดีในชีวิต จะได้ไม่ประมาท

อาหาเรปฏิกูลสัญญาเป็นเครื่องทำให้จิตถอยกลับจากตัณหาในรสของอาหารทั้งหลาย

สัพพโลเกอนภิรติสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากความเป็นจิตที่ติดอยู่ในโลก

อนิจจสัญญาเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ

อนิจเจทุกขสัญญา เมื่อเจริญอยู่เป็นอันมาก สัญญาว่าความน่ากลัวอันแรงกล้าย่อมปรากฏขึ้น ในความไม่ขยัน ในความเกียจคร้าน ในความทอดทิ้งการงาน ความประมาท ความไม่ประกอบความเพียร และความสะเพร่า เปรียบเหมือนมีเพชฆาตเงื้อดาบอยู่ตรงหน้า

ทุกขนัตตสัญญาอันเป็นเครื่องทำให้จิตถอยกลับจากมานะว่าตน ทั้งในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหลายภายนอกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น