วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ในหลวงรัชกาลที่ 9  : หลวงปู่ครับ “สาวกภูมิ” กับ “พุทธภูมิ” ต่างกันอย่างไร ? 

หลวงตามหาบัว : พุทธภูมิก็เหมือนดั่งเรานั่งรถไฟ นั่งรถไฟไปเชียงใหม่ หรือนั่งรถไฟไปอุดรฯ นั่นแหละ...พุทธภูมิ  แต่ถ้าเรานั่งจักรยานมา หรือนั่งมอเตอร์ไซค์ ขี่มอเตอร์ไซค์ไป นั่นแหละ...สาวกภูมิ
เพราะฉะนั้น  การเป็นพุทธภูมิก็คือการนำคนไปได้เยอะๆ  ส่วนสาวกภูมินั้นนำไปได้น้อยๆ ไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ 1 คน หรือ 3-4 คน ก็ว่ากันไป นั่นคือสาวกภูมิ  เข้าใจไหมล่ะ พ่อหลวง
ในหลวงรัชกาลที่ 9 : เข้าใจแล้วหลวงปู่...  แล้ว “นิพพาน” เป็นอย่างไรนะ หลวงปู่ ?
หลวงตามหาบัว : อ้อ...พ่อหลวง  เหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ  รู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน  อยู่บนกุฏินี่เหรอ  วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะ แต่พอพระมหากษัตริย์มาถึงนี่แล้ว บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ  แต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งหมด  แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละคือวัดป่าบ้านตาด  นี่แหละ...พระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 : ขอบารมีหลวงปู่ช่วยต่ออายุให้แม่หลวง (สมเด็จย่า) 
หลวงตามหาบัว :พ่อหลวงนั่นแหละก็จัดการเองได้ ขอเองได้ จัดการเอง  อาตมาต่อให้ไม่ได้หรอก
ในหลวงรัชกาลที่ 9 :เอาล่ะ... ได้เวลาแล้ว จะกลับแล้ว  หลวงปู่มีอะไรจะบอกไหม ?
หลวงตามหาบัว :การเป็นพุทธภูมิ สร้างบารมีเพื่อความเป็นพุทธะ พอจบพุทธภูมิได้ก็เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว  พระพุทธเจ้าก็มีพุทธกิจ 5 คือ  ตอนเช้าบิณฑบาต  ตอนบ่ายสอนคหบดีมนุษย์ทั่วไป  ตกเย็นสอนนักบวช สมณชีพราหมณ์  ตอนกลางคืนแก้ปัญหาเทวดา  พอมาตอนเช้ามืดเล็งญาณดูสัตว์โลก สัตว์โลกตัวไหนมีกิเลสเบาบางพอที่จะบรรลุธรรมได้ ท่านก็จะเล็งญาณดู รีบไปโปรดก่อน
พระพุทธเจ้าสร้างบารมีพุทธภูมิจนได้เป็นพระพุทธเจ้า  เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระพุทธกิจ 5 อย่างนี้  แต่...ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของประเทศไทยปรารถนาอะไร ทำงานกันจนไม่มีเวลาจะพักผ่อน  เอาล่ะๆ อาตมาจะให้พร
ในหลวงรัชกาลที่ 9 :อยากให้ท่านอาจารย์อยู่กับหลวงปู่ไปนานๆ 
พระอาจารย์ภูสิต ขันติธโร : เจริญพร มหาบพิตร ... อาตมาก็อยากจะอยู่  แต่ถ้าถึงเวลาที่อาตมาจะต้องเอาตัวเองให้รอด อาตมาก็ขอเอาตัวเองให้รอดก่อน  เพราะทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถึงเวลาไปก็ต้องไปเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น