หลวงปู่เกิดวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2422 โยมบิดาชื่อ แจ้ โยมมารดาชื่อ อินทร์ พอหลวงปู่ทิมท่านอายุได้ 17 ปี โยมบิดาก็ได้นำตัวไปฝากกับท่านพ่อสิงห์ ที่วัดได้เล่าเรียนหนังสือกับพ่อท่านสิงห์เป็นเวลาหนึ่งปี ก็สามารถเรียนรู้เข้าใจอ่านออกเขียนได้ แล้วโยมบิดาจึงมาขอลาหลวงปู่ทิมให้กลับมาช่วยทำงานที่บ้าน พออายุครบบวชหลวงปู่ทิมท่านจึงได้อุปสมบท ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2449 ที่ วัดระหารไร่ โดยมีพระครูขาว วัดทิมมา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอาจารย์เกตุเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อท่านบวชแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัด 1 พรรษา จึงได้ขออนุญาตพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี พอใกล้เข้าพรรษาท่านก็ได้กลับมาที่วัด ตลอดเวลาที่หลวงปู่ทิมท่านธุดงค์ไปนั้น ท่านก็ได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ ทั้งกับพระภิกษุและกับฆราวาส อีกทั้งยังได้ศึกษาตำราของหลวงปู่เฒ่าสังข์ ซึ่งเป็นปู่แท้ๆ ของท่าน ซึ่งเป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองเวทวิทยาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้นต่อมาเมื่อ หลวงปู่ทิม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดระหารไร่ ท่านก็ได้ซ่อมแซมกุฏิและอื่นๆ อีกหลายอย่าง ด้วยความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อท่าน เมื่อท่านดำริว่าจะก่อสร้างพระอุโบสถก็สามารถสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยในระยะ เวลาเพียงหนึ่งปีเศษ ต่อมาท่านก็ได้ก่อสร้างโรงเรียนประชาบาล โดยมีทางอำเภอและจังหวัดมาช่วย ใช้เวลาเพียง 8 เดือนก็แล้วเสร็จ สามารถเปิดให้นักเรียนได้เข้าเรียนได้ และท่านก็ยังชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง งานทุกอย่างก็สำเร็จเรียบร้อยทุกประการ เนื่องจากความเคารพเลื่อมใสของญาติโยมและชาวบ้านที่มีต่อหลวงปู่ทิม ประวัติพระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิมพิมพ์เศียรโต คาถาพระเครื่องหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ คาถาขุนแผนหลวงปู่ทิม
หลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ท่านเป็นพระสมภะ ไม่ยินดียินร้ายกับลาภยศสรรเสริญ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวนเมื่อปี พ.ศ. 2478 ท่านก็ไม่ได้บอกใครและไม่ได้ไปรับจนทางจังหวัดได้มอบตราตั้งให้ทางอำเภอนำมา มอบให้ท่านที่วัด และเป็นพระครูทิม อิสริโก อยู่มาจนถึงปี พ.ศ. 2497 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตร ท่านก็ไม่ยอมบอกใคร จนทางอำเภอได้ส่งหนังสือไปที่วัด ชาวบ้านจึงได้รู้กันและได้จัดขบวนแห่มารับท่านไปรับสัญญาบัตรพัดยศ ที่เจ้าคณะจังหวัด และได้เป็นพระครูภาวนาภิรัต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2507
เมื่อหลวงปู่ทิม ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์ พระครูภาวนาภิรัต แล้วบรรดาศิษยานุศิษย์จึงได้ประชุมกัน ขออนุญาตหลวงปู่ทิม จัดงานฉลองสมณศักดิ์ให้กับท่าน เพื่อให้ญาติโยมได้มีโอกาสแสดงความยินดีและแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ที่ หลวงปู่ทิมท่านได้มีเมตตาต่อเหล่าลูกศิษย์ หลวงปู่ทิมจึงขัดไม่ได้ นายสาย แก้วสว่าง ในฐานะไวยาวัจกรและศิษย์ใกล้ชิดจึงได้นัดประชุมกรรมการและชาวบ้าน ปรึกษากันว่าจะจัดฉลองสมณศักดิ์และเพื่อหารายได้สบทบทุนในการก่อสร้างกุฏิ และบูรณะซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุดในครั้งนี้ โดยจะขออนุญาต หลวงปู่ทิมเพื่อจัดทำเหรียญรูปเหมือนของท่าน เอาไว้แจกแก่พวกญาติโยมและศิษย์ทั้งหลาย เพื่อเป็นที่ระลึกในการร่วมกันทำบุญในงานวันฉลองสมณศักดิ์ของท่าน เพราะใครๆ ก็ย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่า หลวงปู่ทิมเป็นพระที่น่าเคารพบูชาอย่างยิ่ง ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในพระธรรมพระวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระมักน้อยสมถะ ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้น และเป็นอาหารมังสวิรัติ หลวงปู่ทิม ท่านไม่ฉันพวกเนื้อสัตว์ แม้ในยามปัจฉิมวัยที่ท่านอาพาธท่านก็ยังปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย เคร่งครัดรักษาศีล ยึดมั่นพระธรรมวินัย เท่าที่สังเกตดูปรากฎว่า ท่านจะฉันเช้าประมาณ 7 โมงเช้า และฉันน้ำชาเวลา 4 โมงเย็น ถ้าเลยเวลาแล้วหลวงปู่จะไม่ยอมฉันเป็นเด็ดขาด แม้แต่น้ำชา ท่านฉันมื้อเดียวมาตลอด 50 ปีแล้ว โดยที่ไม่มีอาหารพวกเนื้อหมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิดเลย แม้แต่น้ำปลาก็ไม่เคยฉัน อาหารที่หลวงปู่ทิม ท่านฉันก็เป็นพวกผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน น้ำพริกกับเกลือป่น เป็นประจำอยู่เป็นนิจตลอดมา เนื้อหนังมังสาและผิวพรรณของท่านก็คงเป็นปกติอยู่ตามเดิม พละกำลังของ หลวงปู่ทิมท่านก็แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะอำนาจบารมีของท่านที่เคยได้สร้างสมมาในชาติปางก่อน จึงทำให้ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดและบริสุทธิ์ในธรรมวินัย ดำรงชีวิตมาได้อย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ หลวงปู่ทิม ท่านยังแข็งแรงสมบูรณ์ เดินไปไหนมาไหนได้สะดวก ท่านสายตาดีมากยังมองอะไรได้ชัดเจนดี ฟันก็ไม่เคยหักแม้แต่ซี่เดียว ถึงแม้ว่าอายุของท่านเกือบจะ 100 ปีแล้วก็ตาม จนท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2518 หน้าหอสวดมนต์ วัดระหารไร่ สิริอายุได้ 96 ปี พรรษาที่ 69
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น