วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

#พุทธมารดา

“ แม่ ” หรือ “ มารดา ” คำคำนี้เป็นคำสูง เป็นมงคลแห่งคำอันควรเทิดไว้เหนือบรรดาคำทั้งปวงในภาษาศาสตร์

คำว่า “ แม่ ” จะฟังดูยิ่งใหญ่ที่สุดในตอนไหน อาจตอบได้ว่า ในตอนที่ลูกนอนป่วย อยู่คนเดียวที่ไหนสักแห่งหนึ่งในโลกซึ่งไร้ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด กับในตอนที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองไปตกระกำลำบากอยู่ในบ้านอื่นเมืองไกล ซึ่งมองไปทางไหนก็ไม่มีใครที่เคยรู้จักมักคุ้นสักคน และอีกตอนหนึ่งซึ่งจะชัดเจนเห็นพระคุณแม่มากที่สุด ก็คือตอนที่กุลสตรีทั้งหลายกลายสถานภาพมาเป็น “ แม่คน ” ด้วยตนเองดูบ้าง หลังจากที่เป็นคน “ มีแม่ ” มาก่อนหน้านั้นนานแล้ว กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อเป็น “ แม่คน ” จึงเข้าใจ “ แม่ตน ” นั่นเอง

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระพุทธมารดามาก ทั้งในทางคำสอนและในทางพระจริยวัตรที่ประทับไว้เป็นรอยแห่งความดีให้อนุชนเจริญรอยตาม ในแง่จริยวัตรนั้นปรากฏว่า ในพรรษาหนึ่งซึ่งเป็นช่วงต้นพุทธกาล พระองค์ถึงกับเสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาแล้ว เคยมีนักศึกษาคนหนึ่งถามผู้เขียนว่า เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไม่น่าจะมีจริง ผู้เขียนถามกลับไปว่า เธอเอาอะไรมาวัดว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไม่มีอยู่จริง นิสิตคนนั้นอึ้งไป ความจริงเรื่องที่เราควรสนใจกันมากกว่าเรื่องความมีอยู่ของสวรรค์ก็คือ การมองให้ทะลุถึงแก่นของคติที่ว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่างหาก

ต่อปัญหานี้ผู้เขียนอยากจะถอดรหัสเสียใหม่ว่า พระพุทธจริยาในตอนนี้ท่านคงไม่ต้องการมุ่งแสดงให้เห็นว่า การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์นั้น มีความสมจริงหรือไม่สมจริงหรอก แต่สิ่งที่ท่านต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็นก็คือ พระพุทธองค์ทรงต้องการจะบอกพวกเราว่า ขนาดพระมารดาของพระองค์นั้นแม้จะเสด็จสวรรคตไปอุบัติเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้วก็ตาม ( เวลาฟังธรรมเสด็จลงมาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ) สถานที่หรือภพที่พุทธมารดาประทับอยู่กับสถานที่หรือภพซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์โลดแล่นอยู่ซึ่งคือโลกของเรานั้น แม้จะอยู่กัน ” คนละภพ - คนละมิติ ” ก็จริงอยู่ แต่ถึงกระนั้น “ ความต่างแห่งภพ ” ก็หาได้เป็นอุปสรรคแห่งความกตัญญูที่บุตรจะพึงตอบสนองต่อผู้เป็นมารดาของตนแต่อย่างใดไม่

พูดให้ฟังง่ายกว่านั้นก็คือ แม้แม่ของพระองค์จะตายไปอยู่ไกลกันคนละภพคนละโลกแล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงแสวงหาวิธีที่จะทดแทนพระคุณแม่ให้เสร็จสิ้นจนได้ แล้วคนธรรมดาสามัญอย่างเราเล่า อยู่ห่างกับคุณแม่แค่เพียงฝาห้องกั้น อยู่บ้านคนละหลังหรืออยู่ห่างกันแค่ชั่วยกหูโทรศัพท์ถึง ใกล้กันขนาดนี้ ภพเดียวกันขนาดนี้ แต่เราทั้งหลายเคยทำอะไรที่แสดงให้เห็นว่า เราเป็นลูกกตัญญูต่อมารดาบิดา เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ทรงวางพุทธจริยาเอาไว้ให้เห็นบ้างหรือไม่

นั่นเป็นพุทธจริยาของพระองค์ต่อพระพุทธมารดาคนแรก ซึ่งถือกันว่าเป็น “ แม่บังเกิดเกล้า ” แท้ ๆ ของพระองค์ ต่อแม่คนที่สองหรือพระมารดาเลี้ยง ( พระมาตุจฉา ) ที่ชื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีเล่า ในฐานะที่ทรงเป็น “ ลูกเลี้ยง ” ทรงตอบแทนพระคุณพระมารดาเลี้ยงของพระองค์อย่างไร

พุทธประวัติบันทึกเอาไว้ว่า ราวพรรษาที่ ๕ ขณะเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงมีพระประสงค์จะผนวชเป็นภิกษุณีในพระธรรมวินัย ( พุทธศาสนา ) แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตในทันที ทั้งนี้เพราะทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า การทรงเพศเป็นภิกษุณีเป็นเรื่องฝืนกระแสสังคมในสมัยนั้น และเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อภยันตรายเป็นอันมาก ดังปรากฏในเวลาต่อมาว่า ภิกษุณีรูปหนึ่งซึ่งถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตามที กระนั้นก็ยังไม่วายถูกคนใจร้ายปลุกปล้ำข่มขืนจนกลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาวในวงการศาสนาขณะนั้น

แต่ในที่สุด ท่ามกลางความยากลำบากในการฝ่าฝืนกระแสสังคมสมัยนั้น พระพุทธองค์ก็ยังทรงเปิดโอกาสให้พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี ได้ผนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่ “ สิทธิสตรี ” อย่างแท้จริงในเวทีโลกมาตราบจนบัดนี้ และในเวลาต่อมาก็ทรงอนุเคราะห์ทดใช้ค่าน้ำนมให้แก่พระแม่น้าของพระองค์จนหมดหนี้ศักดิ์ต่อกันด้วยการที่ทรงเป็น “ พระบิดา ” ในทางธรรมให้แก่พระนางสมดังคำที่ภิกษุณีมหาปชาบดีโคตมีกราบทูลเล่าเอาไว้ก่อนเสด็จปรินิพพานว่า

“ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของมหาชนชาวโลก

หม่อนฉันได้ชื่อว่าเป็นพระมารดา ( ในทางรูปกาย ) ของพระองค์

แต่ในขณะเดียวกัน

พระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดา ( ในทางธรรม ) ของหม่อมฉันด้วย

พระองค์ทรงโปรดประทานสุขจากพระสัทธรรม

อันทำให้หม่อนฉันได้ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกแห่งพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง

หม่อมฉันเองได้อภิบาล พระรูปกาย ของพระองค์ขึ้นมาจนเติบใหญ่

ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้ทรงอภิบาล พระธรรมกาย ( คุณธรรม ) ที่น่ารื่นรมย์ใจของหม่อมฉันให้เจริญวัยไม่น้อยไปกว่ากัน

หม่อมฉันได้น้อมถวายกษีรธาราให้พระองค์ทรงดื่มพอดับกระหายได้เป็นครั้งคราว

แต่พระองค์เล่าก็ได้ทรงโปรดประทานกษีรธารา คือพระธรรมให้หม่อมฉันได้ดื่มดับกระหายได้อย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน ฉันนั้น ...”

การรู้คุณและแทนคุณมารดาบิดาผู้ให้กำเนิดนั้นเป็นพุทธจริยา หรืออารยวัตร ( ข้อปฏิบัติอันประเสริฐ ) ที่แม้แต่พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นอัครบุคคลของโลกก็ไม่ทรงละเลย วิญญูชนทุกหนทุกแห่ง ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมในโลกก็ยกย่องสรรเสริญว่า มารดาบิดาเป็นอัครบุคคลที่หาได้ยาก เป็นหนึ่งไม่มีสอง เสียแล้วเสียเลย สิ้นแล้วสิ้นเลย นอกจากนี้แล้วปราชญ์ทั้งหลายยังเห็นตรงกันอีกว่ามารดาบิดาเป็นบุพการีชนที่คนเป็นบุตรธิดา จักต้องตอบแทนพระคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณสายตะวันออกอย่างขงจื๊อก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ยกย่องเรื่องความกตัญญูต่อมารดาบิดามาก ท่านสอนศิษยานุศิษย์ว่า

“ นอกจากความเจ็บป่วยอันเป็นสามัญของตนเองแล้ว อย่าได้ทำเหตุอื่นใดอันจะส่งผลให้มารดาต้องน้ำตาตกเป็นอันขาด ”

ท่านพุทธทาสภิกขุก็เคารพนับถือในโยมมารดาของท่านมาก แม้บวชเข้ามาแล้วก็ได้เพียรทดแทนพระโยมแม่ด้วยประการต่าง ๆ เท่าที่สติปัญญาในขณะนั้นจะพึงทำได้ แต่ยังไม่ทันตอบแทนพระคุณของโยมแม่ได้อย่างที่ตั้งใจ โยมแม่ของท่านก็มาจากไปเสียก่อน

“ อาตมามีความเสียใจอยู่อย่างหนึ่ง เสียใจอย่างยิ่งว่า สมัยเมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ อาตมาไม่มีความรู้อะไร แม้บวชแล้วก็มีความรู้ธรรมะโง่ๆ เง่าๆ งูๆ ปลา ๆอย่างนั้นแหละ ถ้ามีความรู้อย่างเดี๋ยวนี้จะช่วยแม่ได้มาก ให้พอใจรู้ธรรมะอย่างยิ่ง แต่แม่ชิงตายไปเสียก่อน ก่อนที่อาตมาจะมีความรู้พอจะสอนธรรมะลึกๆให้แม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่นึกแล้วก็ว้าเหว่อยู่ไม่หาย ...

อาตมายังคงคาราคาซัง ไม่ได้ให้ความรู้สูงสุดที่พอใจแก่แม่ เพราะว่าแม่ชิงตายเสียก่อน ... แต่แม่ก็สนใจธรรมะเหลือประมาณ แม้แรกบวชแรกเรียนนักธรรมอย่างโง่ๆ ก็อุตส่าห์เขียนส่งไปให้แม่ หรือพูดให้แม่ฟังอยู่เสมอ แต่เป็นความรู้ธรรมะเด็กๆ ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้รู้ธรรมะชั้นผู้ใหญ่ แต่แม่ตายเสียแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ..”

. พระพุทธเจ้า พระพุทธสาวก ปูชนียบุคคลอย่างท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอาทิยังสู้อุตส่าห์หาวิธีทดแทนพระคุณมารดาจนสุดความสามารถถึงเพียงนี้ แต่กระนั้นท่านก็ยังออกตัวว่าที่ทำมานั้นยังเล็กน้อยเกินไป

ดูเอาเถิด จริยาวัตรอันสูงล้ำด้วยคุณธรรมที่ยอดคน ยอดครู ของโลกปฏิบัติต่อมารดาบังเกิดเกล้าของตน เราปุถุชนคนสามัญ หากตอบแทนพระคุณของแม่ได้น้อยกว่านี้ ( ทั้งๆ ที่มีโอกาสมากกว่า ) ก็นับว่าน่าอาย ที่ได้แต่เอ่ยอ้างว่าตนเป็นศิษย์มีครู แต่หาเจริญรอยตามปฏิปทาแห่งครูของตนให้สมกับที่ชอบเอ่ยอ้างแต่อย่างใดไม่ .

ท่าน ว . วชิรเมธี   

๏๛สาธุ อนุโมทนา วันทามิ๛๏🙏💖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น