โอกาสนี้ บรรดาท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปก็โปรดฟังปกิณกะคำสอน คำว่า ปกิณกะ แปลว่า เล็กๆ น้อยๆ
ทั้งนี้ก็เพราะว่า คำสอนหลักใหญ่ๆ เราสอนกันมาแล้ว เมื่อสักครู่นี้ท่านได้ฟังธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงกับพระโมคคัลลาน์ฟังว่า
“ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น และความดับเหตุของธรรมนั้น สมเด็จพระมหาสมณะตรัสอย่างนี้”
ท่านฟังเพียงเท่านี้ ท่านก็ได้สำเร็จพระโสดาบัน และต่อมาพระโมคคัลลาน์ฟังธาตุกรรมฐาน ๔ จบ ท่านเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรฟังเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐานจบ ท่านก็เป็นพระอรหันต์
เป็นอันว่า ความรู้ที่บรรดาท่านทั้งหลายได้ศึกษามาทุกอย่างทุกข้อ ผมเคยได้บอกไว้แล้วว่า กรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ใน กรรมฐาน ๔๐ ก็ดี ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ก็ดี ถ้าท่านจับบทใดบทหนึ่งโดยเฉพาะ กรรมฐานไม่ต้องทั้ง ๔๐ เฉพาะข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม หรือมหาสติปัฏฐานสูตรไม่จำเป็นต้องทั้งหมด ข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม เพราะในนั้นมีทั้งสมถะและวิปัสสนาควบอยู่แล้ว ถ้าท่านทำเข้าถึงจริงๆ ท่านก็เป็นอรหันต์ทุกองค์
วันนี้เมื่อฟังธรรมของท่านทั้ง ๒ เราก็ลองมาเอาธรรมของท่านทั้ง ๒ ที่ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้วมาพิจารณา ที่พระโมคคัลลาน์ฟังธาตุ ๔ เขาฟังกันอย่างไร ในพระบาลีท่านกล่าวว่า
“สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง”
“การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา”
นี่แสดงว่าเวลาเขาฟังกันน่ะ เขาฟังแล้วเขาก็คิด ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ท่านมีปัญญามาก บวชเข้ามา ๗ วัน ก็เป็นอรหันต์ และอีกองค์หนึ่งคือ พระสารีบุตร ๑๕ วัน เป็นอรหันต์ แต่สำหรับท่านที่มีปัญญาน้อย คือบริวาร ฟังเทศน์จบเดียวก็เป็นอรหันต์ ใคร่ครวญตรงนี้ให้ดีนะครับ คือว่าเราบวชกันบวชเพื่อหวังค่าว่า
“นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตะวา”
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี่สำหรับกำลังใจของท่านที่ยังเข้าไม่ถึงนี่ ผมเห็นใจ แต่ขอได้โปรดอย่าละความพยายาม การตัดน่ะตัดกันเป็นจุดๆ
วันนี้ก็จะขอพูดถึงธาตุ ๔ ที่พระโมคคัลลานะฟังแล้วก็เป็นอรหันต์ วิธีฟังนั้นก็ไม่สำคัญ ฟังก็คือใช้หูฟัง แต่ว่าการฟังที่ใช้หูฟังเฉยๆ น่ะ มันไม่มีประโยชน์ ถ้าเราจะฟังใช้แต่สัญญาเป็นความจำ จำว่า ธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วก็ ธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกันชั่วคราว ต่อไปก็มีความเสื่อมและก็มีการสลายตัว แล้วก็จำได้เท่านี้ อย่างนี้เรียกว่า สัญญา จึงไม่มีการบรรลุมรรคผล
แต่ว่าสำหรับท่านทั้งหลายที่ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระทศพล ท่านคิดตามว่าธาตุ ๔ มันไม่ใช่อยู่ข้างนอก
ธาตุ ๔ ธาตุดิน ไม่ใช่อยู่ที่แผ่นดิน
ธาตุน้ำ ไม่ใช่อยู่ในแม่นํ้า ลำคลองหรือในทะเลมหาสมุทร
ธาตุไฟ ไม่ใช่ไฟในเตาหรือไฟในตะเกียง
ธาตุลม ไม่ใช่ลมพัดในอากาศ
นี่หมายถึงว่าร่างกายของเรานี้ มันประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ของที่มีสภาพแข็ง เช่น หนัง เนื้อ กระดูก อย่างนี้เรียกว่า ธาตุดิน
เสลด น้ำลาย น้ำเลือด นํ้าเหลือง นํ้าหนอง ปัสสาวะ นํ้าเหงื่อ นํ้าไคล อย่างนี้เรียกว่า ธาตุนํ้า
อาการพัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเข้าออกเป็นต้น เรียกว่า ธาตุลม
ความอบอุ่นในร่างกายเรียกว่า ธาตุไฟ
นี่ร่างกายของเราจะทรงอยู่ได้ก็เพราะธาตุ ๔ มันมีความสามัคคีกัน ถ้าธาตุทั้ง ๔ นี้มันยังมีกำลังสมํ่าเสมอกันเพียงใด ร่างกายของเราก็เป็นร่างกายที่ปกติ มีความสมบูรณ์เปล่งปลั่งไปด้วยผิวพรรณวรรณะ กำลังวังชาก็ดี แต่ว่าธาตุ ๔ นี่ถ้าปราศจากความสามัคคีกันขึ้นมาเมื่อไร ธาตุนํ้า ลดหย่อนลงไป ร่างกายก็ทรุดโทรม ที่หมอเวลารักษาเขาต้องให้นํ้าเกลือช่วย หรือว่าให้เลือดช่วย เพราะว่าธาตุนํ้ามันทรุดโทรม มันหย่อนลงไป ร่างกายจึงหมดกำลังกลายเป็นร่างกายที่มีโรค
ถ้า ธาตุดิน มันหย่อนหมายความว่า อาหารที่เรากินเป็นคำข้าวหรืออาหารที่เป็นก้อน กินเข้าไปมีประโยชน์ไม่พอเลี้ยงแก่ร่างกาย ร่างกายก็ไม่สามารถจะสร้างกำลังให้เกิดความสมบูรณ์แบบได้ นี่ธาตุดินที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ในเมื่อหาของไปเสริมไม่ได้ มันก็ย่อหย่อนลงไปอย่างนี้ก็เกิดโรค
ธาตุไฟ คือ ความอบอุ่นในร่างกายสลายตัวไป ย่อหย่อนลงไป ความเย็นมันเกิดขึ้นมามาก อย่างนี้ร่างกายก็มีโรคภัย กำลังก็ตกไป
ถ้า ธาตุลม ในร่างกายไม่สะดวกในการพัดไปมา ก็ทำให้ร่างกายของเราถอยกำลังลง ที่เรียกว่าปอดทำงานไม่เต็มที่หายใจไม่สะดวก หายใจไม่เต็มที่ อย่างนี้ร่างกายก็ทรุดโทรม
เป็นอันว่า ร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ มันมีสภาพทรงตัวชั่วคราว มันไม่มีสภาพทรงตัวถาวรตลอดกาลตลอดสมัย ถ้าเราเห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียง ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุลม ธาตุไฟ ที่มันประกอบเป็นร่างกายโดยเท่านั้น แล้วก็ธาตุดินนี่มีสภาพเสื่อม เมื่อเสื่อมลงๆ ในที่สุดมันก็สลายตัว พัง ถ้าพิจารณาอย่างนี้เป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนา
จะเห็นว่าร่างกายมีธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกันนี่เป็น สมถภาวนา แล้วก็รู้ว่าการประชุมกันของมัน ไม่ใช่ประชุมถาวร มันเป็นการประชุมกันชั่วคราว มันสามัคคีกันชั่วคราวเท่านั้น ต่อไปไม่ช้าไม่นานเท่าไรมันก็คลายความสามัคคี ความเข้มแข็งของธาตุดินก็ย่อหย่อนลงไป ความอิ่มเอิบของธาตุนํ้าย่อหย่อนลงไป ความอบอุ่นของธาตุไฟย่อหย่อนลงไป ความไหวไปมาของธาตุลมในกายย่อหย่อนลงไป หย่อนลงไปเท่าไร เราก็แก่มากขึ้นมาเท่านั้น
นี่เราเห็นว่าสภาพของร่างกายทรุดโทรม นี่แสดงว่าธาตุนํ้า ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟมันมีสภาพไม่เต็ม ๑๐๐ % ในเมื่อเปอร์เซ็นต์มันลดลงไปเท่าไร ความทรุดโทรมของร่างกายก็มีมากเท่านั้น ในที่สุดธาตุใดธาตุหนึ่งหมดสภาพ
ถ้าธาตุดินหมดสภาพ อาหารที่เข้าไปปรนเปรอในร่างกาย ไม่มีประโยชน์กับร่างกาย การเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน ที่เรียกว่า ตับ ไต ไส้ ปอด หรือว่าม้าม มีหัวใจเป็นต้นที่ทำงาน หรือว่าไตก็ทำตามที่ทำงาน เพื่อเป็นการบำรุงทรงไว้ซึ่งร่างกายให้ปกติ สิ่งเหล่านี้มันเป็นดินมันย่อหย่อนกำลังลงไป ทำงานไม่ปกติร่างกายก็โทรม กลายเป็นคนป่วย ถ้ามันหย่อนกำลังลงมากก็กลายเป็นคนป่วยที่ลุกไม่ขึ้น
หรือว่าธาตุน้ำหย่อนลงไปอย่างท้องร่วงหนักๆ หรือว่าคนที่เป็นโรคอหิวาต์ ธาตุน้ำน้อยถอยลงไป ความร้อนมันก็เกิดเพราะอะไร ธาตุน้ำมันต้องพอดิบพอดีกับธาตุไฟ มันยังจะมีความอุ่นพอสมควร ถ้าธาตุน้ำน้อยลงไป ธาตุไฟมันก็มีกำลังสูง ความจริงกำลังมันเท่านั้น แต่ความร้อนมันก็สูงเพราะไม่มีธาตุนํ้าเป็นเครื่องต่อต้าน จะเห็นว่าคนที่เป็นโรคท้องร่วงมีความร้อนภายในมากนี่เป็นอย่างนี้
หากว่าธาตุไฟมันน้อยไป ธาตุดินสมบูรณ์ ธาตุลมสมบูรณ์ ธาตุนํ้าสมบูรณ์ ธาตุไฟย่อหย่อนลงไป จับร่างกายที่ไหนก็เต็มไปด้วยความเย็นชืด อย่างนี้ก็เป็นโรคลุกไม่ไหวเหมือนกัน กำลังกายมันก็สิ้นมันก็เสื่อม
หากธาตุลมย่อหย่อนลงไป หายใจไม่สะดวก หายใจไม่ทั่วท้องที่เดิมเรียกกันว่าอย่างนั้น ความคล่องของลมหายใจไม่มี ประสาททั้งร่างกายมันก็รวนไปหมด ความอ่อนเปลี้ยของร่างกายก็ปรากฏขึ้น
นี่พิจารณาแบบนี้ เป็นการพิจารณาทั้ง สมถะและวิปัสสนา ร่วมกัน เราก็ต้องนั่งคิดต่อไปว่า
ร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ นี้มันทรงสภาพตลอดกาลตลอดสมัยไหม เราดูตัวเราอาจจะไม่เห็น ดูคนที่เขาแก่กว่าเรา คนแก่ทุกคนเขาเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาวมาก่อน
ถ้าจะขอภาพถ่ายและภาพเขียนในวัยรุ่น หรือความเป็นหนุ่มเป็นสาว จะเห็นว่าท่านผู้นี้มีร่างกายเปล่งปลั่ง สวยสดงดงาม มีความอิ่มเอิบสมบูรณ์บริบูรณ์ แต่ว่าเวลาที่ท่านแก่ลงไป ดูสภาพของท่านเป็นอย่างไร มันน่ารักตรงไหนไหม เป็นอันว่ามีแต่คล้ายๆ เราพูดกันง่ายๆ ว่าผีดิบเดินได้ก็แล้วกัน ไม่มีอะไรเป็นเรื่องน่ารัก ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ก็จงดูร่างกายของเรา ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น
เมื่อสภาวะมันเป็นอย่างนั้น ที่สุดมันเป็นอย่างไร ในที่สุดทุกคนก็ตาย ถ้าพิจารณาอย่างนี้เป็นทั้งธาตุ ๔ แล้วก็ มรณานุสสติกรรมฐาน เป็นสมถภาวนา แล้วก็ล้วงต่อไปอีกว่า ร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ นี้ ที่เรารักใคร่ปรารถนาว่าเป็นเราเป็นของเรา บางทีเห็นคนเขามีผิวพรรณร่างกายอิ่มเอิบ มีความรัก มีความปรารถนา มีความใคร่อยากจะได้เป็นคู่ครอง เราก็ลองพิจารณาดูว่าธาตุ ๔ คือ ร่างกายของเขา จะมีสภาพเหมือนคนแก่ไหม
เมื่อเราเห็นว่าคนแก่ เคยเป็นคนหนุ่มคนสาวมาก่อน เมื่อแก่มีหนังเหี่ยวร่างกายซูบซีด หูฝ้า ตาฟาง ผมหงอก ฟันหัก มีสภาพไม่สมบูรณ์ แล้วคนที่เรารักล่ะ เขาจะทรงสภาพตามนั้นอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไหม มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าคนก่อนมีสภาพฉันใด คนที่หลังก็มีสภาพฉันนั้น
นี่จะเห็นได้ว่าร่างกายนี้มันไม่ทรงตัว เมื่อร่างกายไม่ทรงตัว เราก็พิจารณาต่อไปว่าธาตุ ๔ ที่ประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ ในร่างกายนี้ มีสภาพสะอาดหรือว่าสกปรก หันไปดูอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด นํ้าเหลือง นํ้าหนองที่มีอยู่ในร่างกาย จะเห็นว่ามันสกปรกสิ้นดี เป็นที่รังเกียจของเรา ตัวนี้สำคัญมากท่านทั้งหลาย มันเป็นการทำลาย ราคะ ความรักให้พินาศไปจากจิต เป็นอารมณ์ที่จะเข้าถึง พระอนาคามี
ถ้าพิจารณาว่าร่างกายนี้ มีสภาพเป็นอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด เป็นต้น อย่างนี้เป็นการพิจารณา ธาตุ ๔ ด้วย แล้วก็เป็นการพิจารณาอาการ ๓๒ ไปในตัว ถ้าเห็นว่ามันสกปรก ได้ชื่อว่ามี อสุภกรรมฐาน ประกอบ ถ้าพิจารณาอย่างนี้เป็นการตัด ราคะ ความรักที่ปรากฏในจิต
แต่ว่าองค์สมเด็จพระธรรมสามิสรได้สอนกับพระโมคคัลลาน์ว่า มุ่งเฉพาะ วิปัสสนาญาณ เป็นสำคัญ
องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงแนะนำว่า
“เมื่อร่างกายเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ และธาตุ ๔ นี้มันเป็นเราจริงๆ หรือ มันเป็นของเราจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเรามีในธาตุ ๔ ธาตุ ๔ มีในเรา นั่งพิจารณาดูว่าธาตุ ๔ เป็นเราเป็นของเราจริง หรือว่าเราเป็นธาตุ ๔ ธาตุ ๔ เป็นเราจริง”
คำว่าเรามีความปราถนาไหมที่จะให้มันแก่ มีใครเคยนั่งพิจารณาใคร่ครวญบนบานศาลกล่าวเจ้าพ่อ เจ้าแม่ที่ไหนก็ตามหรือเทพเจ้าที่ไหนก็ตามว่า
“เจ้าประคุณ! ขอให้ร่างกายฉันแก่เร็วๆ เถิด…”
อย่างนี้มีบ้างไหม หรือว่าภาวนาไว้ว่า
“เจ้าประคุณเอ๋ย! ขอให้ร่างกายของเรามีโรคภัยไข้เจ็บหนักๆ มันจะได้ไม่ต้องทำงานกับเขา”
อย่างนี้มีบ้างไหม หรือว่าบนบานศาลกล่าว หาผู้วิเศษมาเสกให้ร่างกายนี้ตายไวๆ ความปรารถนาอย่างนี้มีใครบ้างในโลก นอกจากคนที่มีความทุกข์เข้ามาบีบคั้นจริงๆ หรือว่าตายหนีหนี้ ตายเพราะโกรธคนรัก ตายประท้วงในชีวิตของบุคคลอื่น ประท้วงความคิดเห็นของบุคคลอื่น นี่เป็นเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของคนที่มีสัญญาวิปลาส ทว่าคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์น่ะ เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น
นี่แหละ บรรดาท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระจอมไตร (ถ้าว่าเรามาพิจารณามาอย่างนี้น่ะ) สมเด็จพระชินสีห์สอนทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาร่วมกัน เห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ธาตุนํ้า ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ นี่เป็นสมถภาวนาในเรื่องของ ธาตุ ๔
เห็นว่าธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ไม่ใช่เป็นแท่งทึบ นี่เป็นการพิจารณาอาการ ๓๒ ในร่างกายที่เรียกกันว่า กายคตานุสสติ
เห็นว่าธาตุ ๔ เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม นี่เป็น อสุภกรรมฐาน
เห็นว่าธาตุ ๔ นี้ ในที่สุดมันก็จะต้องตายเป็น มรณานุสสติกรรมฐาน
เห็นว่าธาตุ ๔ นี้มีอาการไม่เที่ยงเกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีความเสื่อมไปเป็นปกติ ถ้าจิตเราเข้าไปเกาะ ว่ามันเป็นเราเป็นของเราก็เป็นทุกข์ ในที่สุดมันก็ต้องสลายตัวที่เรียกว่า อนัตตา ไม่เป็นสิ่งที่เราควรจะยึดจะถือมัน ว่ามันเป็นเราเป็นของเรา อย่างนี้เป็น วิปัสสนาญาณ เราก็ว่ากันทีเดียวหลายๆ อย่าง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
“โมคคัลลาน์ เธอเห็นว่าธาตุ ๔ ทั้งหมดนี้เป็นเธอหรือ…”
พระโมคคัลลาน์ ก็ทรงทูลตอบว่า
“ไม่ใช่พระเจ้าข้า”
พระองค์ก็ถามว่า
“หรือเพราะว่าธาตุ ๔ มีในเธอ เธอมีในธาตุ ๔”
ท่านก็ตอบว่า
“ไม่ใช่พระเจ้าข้า”
พระองค์ก็ถามอีกว่า
“ในเมื่อธาตุ ๔ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในธาตุ ๔ ธาตุ ๔ ไม่มีในเรา เราควรจะยึดถือว่ามันเป็นเรา เป็นของเราต่อไปหรือ…”
พระโมคคัลลาน์ ก็กราบทูลว่า
“ไม่ใช่พระเจ้าข้า”
พระองค์จึงกล่าวว่า
“โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงวางภาระในธาตุ ๔ นี้เสีย จงคิดเสียว่าธาตุ ๔ นี้ เป็นแต่เพียงเรือนร่างที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ธาตุ ๔ นี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นเราจริงมันก็ต้องไม่แก่ เพราะว่าเราไม่อยากให้มันแก่
แล้วธาตุ ๔ นี้เป็นเราเป็นของเราจริง มันก็ต้องไม่ป่วย เพราะว่าเราไม่อยากให้มันป่วย ธาตุ ๔ มันเป็นเราเป็นของเราจริง มันก็ต้องดึงไว้ได้ คือ มันจะไม่ตาย เพราะเราไม่ต้องการให้มันตาย โมคคัลลานะเธอเห็นหรือยังว่าธาตุ ๔ นี้มันไม่ใช่เรา”
พระโมคคัลลานะ ก็กราบทูลว่า
“เห็นแล้วพระเจ้าข้า”
พระองค์ก็ถามต่อว่า
“เมื่อเห็นแล้วเธอมีความรู้สึกว่าอย่างไร?…”
พระโมคคัลลานะ ก็กราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าธาตุ ๔ นี้ เป็นสภาพเรือจ้างสำหรับที่ขี่ไปเพื่อข้ามมหาสมุทรเท่านั้น เมื่อบุคคลใดข้ามเรือจ้าง เรือลำใหญ่ เรือลำเล็กก็ตามที ที่เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม ที่มีความเก่าครํ่าคร่าลงไปทุกวัน เมื่อขึ้นมหาสมุทรฝั่งโน้นได้แล้วตามความประสงค์ ก็ไม่มีบุคคลใดที่จะมีความห่วงใยในเรือลำนั้นฉันใด…
เวลานี้จิตใจของข้าพเจ้า ก็มีความรู้สึกอย่างนั้นว่าธาตุ ๔ นี้ มีสภาพเหมือนกับพาหนะ สำหรับก้าวไปข้ามฝั่ง คือ “โอฆะ” ได้แก่กิเลส ที่จะดึงจิตใจข้าพระพุทธเจ้า ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน “วัฏฏสงสาร”
เพราะว่าจิตใจของคนนั้นท่านยังมีความหลงอยู่ในความโลภ อยากจะสะสมทรัพย์สินว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ยังมีความหลงในรูปโฉมโนมพรรณ ร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ยังผูกพันในความโกรธ ความพยาบาท ยังมีความหลงใหลใฝ่ฝันว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันจะทรงตัว..
อย่างนี้ก็มีอุปมาเหมือนกับ คนที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทร ในที่สุดก็จะถูกสัตว์ร้ายในน้ำกัดกินให้สิ้นวายปราณไปฉันใด ก็เหมือนกับจิตใจของบุคคลทั้งหลาย ที่กำลังคิดอยู่ว่า ร่างกายนี้มันเป็นเราเป็นของเรา ร่างกายของบุคคลอื่นที่เนื่องกับเรา เป็นของเรา เลยเห็นว่าทรัพย์สินทั้งหลายในโลก มันเป็นเราเป็นของเรา เรากับมันจะไม่จากกัน ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ อันเป็นร่างกายที่จิตใจเกาะอยู่ก็ดี ร่างกายของคนและสัตว์ก็ดี หรือว่าทรัพย์สินทั้งหลายในโลกก็ดี ทั้งหมดทั้งหลายนี้ไม่เป็นสิ่งที่เราจะยึดถือ เป็นสรณะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อถึงกาลถึงสมัยมันก็ต้องสลายตัวไป ถ้ามันไม่สลายก่อนเราก็สลายก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแล้วว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จิตใจของข้าพระพุทธเจ้าเบาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า…”
เมื่อพระโมคคัลลาน์ กราบทูกลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้ สมเด็จพระมหามุนีจึงได้ตรัสว่า
“โมคคัลลานะ กิจใดที่เธอมีความปรารถนาไว้ว่า เธอต้องการแดนอมตะ คือแดนที่ไม่ตาย เธอก็ถึงแล้ว คนที่ยังเกิดแล้วก็ต้องตายอยู่ ก็เพราะว่ายังหลงใหลใฝ่ฝันในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ถ้าเราปล่อยขันธ์ ๕ ได้เมื่อไร ขณะนั้นชื่อว่า กิจที่จะต้องตายไม่มีแล้ว…”
องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสอีกว่า
“โมคคัลลานะ เมื่อกิจใดที่พึงจะมีในพระพุทธศาสนา กิจนั้นเธอเข้าถึงแล้ว และเธอก็จบกิจแล้ว…”
นี่หมายความว่า องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสว่า พระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์แล้วในกาลนั้น
พระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า
“กิจอื่นในศาสนานี้ไม่มีต่อไป จบกันเพียงเท่านี้”
เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสอย่างนั้น พระโมคคัลลาน์ก็เห็นด้วย เพราะเวลานั้นอารมณ์ใจของท่านเบา การที่จิตเข้าถึงอรหัตผลน่ะ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนและพระโยคาวจรทั้งหลาย คนนั้นมีอารมณ์เบา คำว่าอารมณ์หนักเกาะนั่นเกาะนี่ ห่วงนั่นห่วงนี่ แม้แต่ชีวิตินทรีย์ ย่อมไม่มีสำหรับท่านพระอรหันต์
และขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน และภิกษุสามเณรทั้งหลาย อ่านแล้วก็จำๆ แล้วก็หมั่นคิด จิตของท่านจะตัดลงไปทีละน้อยๆ อย่าเพิ่งประณามตัวของเราเอง ว่ามันไม่สามารถจะทำได้ จงคิดไว้เสมอว่า ท่านทั้งหลายที่เป็นพระอริยเจ้าได้ ท่านก็มีอาการ ๓๒ เหมือนเรา พูดได้ เดินได้เหมือนเรา แต่ทว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีความไม่ประมาทในชีวิต มีความคิดที่จะตัดที่จะละอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดอารมณ์จิตก็ชิน ชินแล้วก็ปรากฏว่า จิตก็ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้
สำหรับเวลานี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ในการพูดเท่านี้หวังว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจ เพราะว่าเราฟังกันมาเป็นปกติ ต่อแต่นี้ไป ขอให้ทุกท่านตั้งกายให้ดำรงจิตให้มั่น จะอยู่ในอิริยาบถใด คือในอิริยาบถทั้ง ๔ จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนอนก็ได้ แล้วใคร่ครวญพิจารณาภาวนาไปในพระกรรมฐานตามอัธยาศัยของท่าน จนกว่าจะได้เห็นเวลาอันสมควร ท่านเห็นว่าสมควรเมื่อไรก็เลิกได้ตามอัธยาศัย การแนะนำแบบนี้ไม่จำกัดเวลา ถือว่าเป็นความดี เอาละ สำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดี
ภาพ หลวงพ่อกับหลวงปู่ธรรมชัย วัดทุ่งหลวง
โพสต์โดย เด็กวัดหลวงตาแสง
ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น