.
คนเราสังหารตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ คือ ปล่อยให้ใจรั่ว ใจที่รั่วก็เปรียบเหมือนภาชนะที่รั่ว เก็บน้ำไม่อยู่ มีแต่จะไหลซึมออกหมด แม้แต่ล้อรถที่รั่ว ก็กลายเป็นของไร้ค่า ถ้าเราไม่ปะรอยรั่วนั้นให้อยู่ก่อน ของที่รั่วจึงสังหารตัวมันเอง โดยทำให้คุณค่าและราคาน้อยลง ใจที่รั่วก็ย่อมสังหารผู้เป็นเจ้าของเอง เพราะใจรั่วเก็บความดีไว้ไม่ได้ หักห้ามไม่อยู่ กระเสือกกระสนเข้าหาความชั่วตลอดเวลา หากเราปล่อยให้รั่วนาน ๆ โดยไม่รีบเยียวยาเสียแต่แรก ใจก็จะแตก คนใจแตกเป็นดังที่พวกเราเห็นกันอยู่แล้ว เราย่อมทราบดีว่าเขามีสภาพอย่างไร ไม่มีใครอยากเป็นคนใจแตก ด้วยเหตุนี้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนไว้ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ถอดความเป็นภาษาไทยว่า การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงมือทำ (อะไร ๆ ก็ตาม) เป็นสิ่งประเสริฐ เพราะการใคร่ครวญว่าดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรนั้น เป็นทางป้องกันไม่ให้ใจรั่ว
.
ชีวิตคนเราเปรียบเหมือนรถ มีเบรก มีพวงมาลัย และมีคันเร่ง คันเร่งเป็นตัวนำชีวิตให้พุ่งไปข้างหน้า ไม่เกียจคร้านงอมืองอเท้า ให้มีความมานะอดทนขยันในการหาเลี้ยงชีพ คือมีฉันทะ ความพอใจในงานที่กระทำ วิริยะ ความเพียรพยายามทำงานนั้นให้สำเร็จ จิตตะ รู้จักคิดไตร่ตรองกับงานที่กระทำอยู่ วิมังสา รู้จักแก้ปัญหาด้วยปัญญารอบคอบ เบรก เป็นตัวคอยยับยั้งเมื่อจะมีความชั่วเกิดขึ้น เช่นอย่างเมื่อเราหาทรัพย์สินมาได้ แล้วหากใจคิดอยากจะไปเล่นการพนัน ไปเที่ยวกลางคืน ก็ให้มีสติคอยยับยั้งไม่ให้ทำอย่างนั้น เพราะเป็นอบายมุขทางแห่งความเสื่อม พวงมาลัย เป็นตัวคอยนำไปในทางที่ถูก เช่น นำไปคบบัณฑิตแทนไปคบพาล นำไปทำบุญทำกุศลแทนไปเที่ยวโรงหนังโรงละคร นำไปเข้าห้องเรียนแทนไปจับกลุ่มนั่งคุยตามใต้ต้นไม้ อย่างนี้เป็นต้น
.
ผู้ประสงค์ความสุขจึงควรรู้จักตัวเอง รู้ว่าภายในตัวเองมีอำนาจลึกลับอะไรบ้าง ที่จะคอยชักจูงชักนำเราไปในทางเสื่อมเสีย และจะแก้อำนาจลึกลับนี้ด้วยอาวุธชนิดใด ผู้ที่รู้จักตัวเองดี ย่อมได้เปรียบผู้ที่ไม่รู้ เพราะเขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ ธัมมะคู่แข่งขันฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น