“ ปฏิจจสมุปบาท ”
...พุทธทาสภิกขุ
...สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
สิ่งที่เรียกว่า“ชีวิต” เป็นกระแส
ไหลไป เนื่องกัน เปลี่ยนแปลงไป
เรียกว่า“ปฏิจจสมุปบาท” ไม่มีตัวตนที่แท้จริง
.
.... “ สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มันมีกระแส โสตะ...โสตะ หรือ โสดา แปลว่า กระแส หมายความว่า เนื่องกันและไหลไป เนื่องกัน เปลี่ยนแปลงไป เนื่องกันด้วยการเปลี่ยนแปลงไป อย่างนี้เรียกว่า กระแส - โสตะ,
.... จะต้องรู้จักกระแสแห่งชีวิตโดยตรง ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไรกันก่อน ถ้าว่าจะเอากันตามธรรมดาสามัญ ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรนัก นอกจากทำมาหากิน หาประโยชน์ หาความร่ำรวย หาอำนาจวาสนา แล้วมันก็จะพอ แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการที่มันประณีตละเอียดสุขุมมากกว่านั้น คือ กระแสของชีวิตที่เยือกเย็น เราต้องรู้มากกว่าที่ชาวบ้านคนเดินถนนเขารู้กัน จึงมีการศึกษาสิ่งที่ควรจะรู้ ก็คือ สิ่งที่เป็นหัวข้อที่เราศึกษาเล่าเรียนกันนั่นแหละ แต่ว่าเป็นชั้นลึก เรียกว่า “ปรมัตถ์” จะแจกออกไปให้เห็นชนิดที่ถูกต้องและเพียงพอสัก ๕ หัวข้อ
.... ขอให้ฟังให้ดี จำไว้ให้ได้ คือคําว่า “ธาตุ” ธา-ตุ ธาตุตามธรรมชาติ แล้วธาตุก็ปรุงให้เกิดมี “อายตนะ” อายตนะภายในด้วยภายนอกด้วย อายตนะก็ปรุงให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์” ขันธ์ทั้ง ๕ ในสิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั้นมีกระแสแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นเรื่องข้อที่ ๔ ใน ปฏิจจสมุปบาท นั้นมีสิ่งเลวร้ายอยู่โดยเฉพาะ คือ “ความทุกข์” ..ความทุกข์
.... ดังนั้น เราจึงต้องเรียนกัน ๕ หัวข้อเป็นอย่างน้อย เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ แล้วก็ เรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ เรื่องทุกข์
.... บางคนอาจจะคิดว่า โอ๊ะ! จู้จี้ พิรี้พิไร อะไรก็ไม่รู้ ไม่อยากจะสนใจ มันก็ไม่รู้ ถ้าเมื่อไม่อยากจะสนใจมันก็ไม่รู้ แลเห็นว่าเป็นเรื่องครึคระ เป็นเรื่องของชาววัด ก็ยังไม่ต้องการจะรู้ ก็เลยไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” หรือ กระแสทางดำเนินของสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายอบรมนวกภิกษุในพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๓ ณ สวนโมกขพลาราม หัวข้อเรื่อง “การควบคุมกระแสแห่งชีวิต” พิมพ์ในหนังสือชุดหมุนล้อธรรมจักร เล่มชื่อว่า “กระแสชีวิต” หน้า ๘๖-๘๗
---------------------------------------
.
จะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทไม่ให้เกิดทุกข์
คือ..อย่าโง่เมื่อมีผัสสะ (เมื่ออารมณ์กระทบ)
.
…. “ปฏิจจสมุปบาท” นั่นแหละ คือเรื่องตัวชีวิตตัวเรา แล้วก็ถูกให้ความหมายผิดๆว่า “ตัวกู ตัวกู” แต่ที่ถูกนั้นไม่ใช่ตัวกู เป็นเพียง“กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท” เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ - ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ คือธาตุทั้ง ๖ มันทําให้เกิดอัตตภาพร่างกายนี้ขึ้นมา แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งกระแสของปฏิจจสมุปบาทตามกฎของธรรมชาติ ถ้ารู้จักตัวเองหรืออัตภาพของตัวเองเพียงเท่านี้ ก็จะดับทุกข์ได้ เป็นความจริงที่ลึกซึ้ง เพราะว่าเมื่อเห็นความจริงข้อนี้แล้ว มันดับทุกข์ได้นี่...
…. ทีนี้ มันก็มีปัญหาอยู่ที่ว่า จะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร ก็คือว่า อย่าให้โง่เมื่อผัสสะ #จะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ให้เกิดความทุกข์ก็คือ“อย่าโง่”เมื่อผัสสะ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ และผัสสะ และจะมีเวทนา นั่นนะ ตรงที่ผัสสะนะ ควบคุมไว้ได้อย่าให้มันโง่ ให้มันเป็นผัสสะฉลาด ผัสสะฉลาดเรียกว่า “วิชชาสัมผัส” คือสัมผัสด้วยวิชชา ถ้าไม่อย่างนั้นมันโง่ เป็นอวิชชา ก็เรียกว่า “อวิชชาสัมผัส”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาทที่ควรศึกษา” บรรยายเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๔ จากหนังสือ “ปฏิจจสมุปบาทที่ควรศึกษา” หน้า ๒๗, ๓๑
---------------------------------------
.
“ปฏิจจสมุปบาท” แสดงให้เห็นอะไร?
สิ่งทั้งหลาย คือกระแสเหตุปัจจัย
มิใช่มีตัวตนที่เที่ยงแท้เป็นจริง
“ หลักปฏิจจสมุปบาท
แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์
เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างเป็นกระแส
ในภาวะที่เป็นกระแสนี้
ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่างๆ ได้
คือ
.
… สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์
เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน
… สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์
… สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย
… สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว
… สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน
… สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกําเนิดเดิมสุด
.
…. พูดอีกนัยหนึ่งว่า
อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นรูปต่างๆ
มีความเจริญ ความเสื่อม เป็นไปต่างๆ นั้น
แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่า
เป็น “กระแส” หรือ “กระบวนการ”
ความเป็นกระแส
แสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ
รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบ
ทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน
กระแสดําเนินไปแปรรูปได้
เพราะองค์ประกอบต่างๆไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน
ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มีมันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ เหตุปัจจัยต่างๆสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกันจึงคุมรูปเป็นกระแสได้ ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกันแสดงถึงความไม่มีต้นกําเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย
…. พูดในทางกลับกันว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนแท้จริง ก็ต้องมีความคงที่ ถ้าสิ่งทั้งหลายคงที่แม้แต่ขณะเดียว ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นกระแสไม่ได้ เมื่อไม่มีกระแสแห่งปัจจัย ความเป็นไปในธรรมชาติก็มีไม่ได้ และถ้ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างใดในท่ามกลางกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทําให้สิ่งทั้งหลายปรากฏโดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ดําเนินไปได้ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน และสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน
…. ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า “อนิจจตา” ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า “ทุกขตา” ภาวะที่ไร้ตัวตนที่แท้จริงของมันเอง เรียกว่า “อนัตตตา”
…. ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นภาวะทั้ง ๓ นี้ในสิ่งทั้งหลาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนปรากฏรูปออกมาเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ
…. สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏมี จึงเป็นเพียงกระแสความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกสั้นๆ ว่า “กระบวนธรรม” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคําแปลของคําบาลีที่ท่านใช้ว่า “ธรรมปวัตติ” ( ธมฺมปฺปวตฺติ )
…. ภาวะและความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีแก่สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งในโลกฝ่ายวัตถุ ทั้งแก่ชีวิตที่ประกอบพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรม โดยแสดงตัวออกเป็นกฏธรรมชาติต่างๆ คือ
… ธรรมนิยาม กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล
… อุตุนิยาม กฎธรรมชาติฝ่ายอนินทรียวัตถุ
… พีชนิยาม กฎธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุรวมทั้งพันธุกรรม
… จิตตนิยาม กฎการทํางานของจิต และ..
… กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเป็นเรื่องที่จริยธรรมจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง
…. เรื่องที่ควรย้ำเป็นพิเศษ เพราะมักขัดกับความรู้สึกสามัญของคน คือ ควรย้ำว่า กรรมก็ดี กระบวนการแห่งเหตุผลอื่นๆ ทุกอย่างในธรรมชาติก็ดี เป็นไปได้ก็เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง (เป็นอนิจจัง) และไม่มีตัวตนของมันเอง (เป็นอนัตตา) ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยง มีตัวตนจริงแล้ว กฎธรรมชาติทั้งมวลรวม ทั้งหลักกรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น กฎเหล่านี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีมูลการณ์หรือต้นกําเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น
.
ความหมายของ เหตุ และ ปัจจัย
เบื้องแรกควรเข้าใจความหมายของถ้อยคําเป็นพื้นไว้ก่อน
ในที่ทั่วไป หรือเมื่อใช้ตามปกติ คําว่า “เหตุ” กับ “ปัจจัย” ถือว่าใช้แทน กันได้
แต่ในความหมายที่เคร่งครัด ท่านใช้ “ปัจจัย” ในความหมายที่กว้าง แยกเป็นปัจจัยต่างๆ ได้หลายประเภท ส่วนคําว่า “เหตุ” เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความหมายจํากัดเฉพาะ กล่าวคือ
…. “ปัจจัย” หมายถึง สภาวะที่เอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เปิดโอกาส เป็นที่อาศัย เป็นองค์ประกอบร่วม หรือเป็นเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะให้สิ่งนั้นๆเกิดมีขึ้น ดําเนินต่อไป หรือเจริญงอกงาม
…. ส่วนคําว่า “เหตุ” หมายถึง ปัจจัยจําเพาะ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดผลนั้นๆ
…. “เหตุ” มีลักษณะที่พึงสังเกต นอกจากเป็นปัจจัยเฉพาะ และเป็นตัวก่อให้เกิดผลแล้ว ก็มีภาวะตรงกับผล (สภาวะ) และเกิดสืบทอดลําดับ คือตามลําดับก่อนหลังด้วย
…. ส่วน “ปัจจัย” มีลักษณะเป็นสาธารณะ เป็นตัวเกื้อหนุนหรือเป็นเงื่อนไข เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้ว อีกทั้งมีภาวะต่าง (ปรภาวะ) และไม่เกี่ยวกับลําดับ (อาจเกิดก่อน หลัง พร้อมกัน ร่วมกัน หรือต้องแยกกันไม่ร่วมกันก็ได้)
…. ตัวอย่างเช่น เม็ดมะม่วงเป็น “เหตุ” ให้เกิดต้นมะม่วง และพร้อมกันนั้น ดิน น้ำ อุณหภูมิ โอชา (ปุ๋ย) เป็นต้น ก็เป็น “ปัจจัย” ให้ต้นมะม่วงนั้นเกิดขึ้นมา
…. มีเฉพาะเหตุคือเม็ดมะม่วง แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่พร้อม หรือไม่อํานวย ผลคือ ต้นมะม่วงก็ไม่เกิดขึ้น”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับเดิม” หน้า ๙๑-๙๓ , ๑๙๘
# ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม. #