จะแนะนำหลักในการนั่งสมาธิ ของท่านผู้ที่มาใหม่ยังไม่เคยทำ พอให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
๑. ให้ตั้งใจว่าเรื่องราวอะไรทั้งหมด เราจะไม่เก็บมาคิดนึก จะนึกถึงแต่พุทธคุณอย่างเดียว คือ "พุทโธ"
๒. ตั้งสติกำหนดนึถึงลมหายใจเข้าว่า พุท ออกว่า โธ หรือจะนึก พุทโธๆ อยู่ที่ใจอย่างเดียวก็ได้
๓. ทำจิตให้นิ่ง แล้วทิ้งคำภาวนา "พุทโธ" เสีย ให้สังเกตแต่ลมที่หายใจเข้าออกอย่างเดียว เหมือนกับเรายืนเฝ้าดูวัวของเราอยู่ที่หน้าประตูคอก ว่าวัวที่เดินเข้าไปและออกมานั้น มันเป็นวัวสีอะไร สีดำ แดง ขาว ด่าง วัวแก่หรือวัวหนุ่ม เป็นลูกวัวหรือวัวกลางๆ แต่อย่าไปเดินตามวััวเข้าไปด้วย เพราะมันจะเตะขาแข้งหักหรือขวิดตาย ให้ยืนดูอยู่ตรงหน้าประตูแห่งเดียว หมายความว่า ให้จิตตั้งนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องเคลื่อนไหวไปกับลม
ที่ว่าให้สังเกตลักษณะของวัวก็คือให้รู้จักสังเกตว่า ลมเข้าสั้นออกสั้นดี หรือลมเข้ายาวออกยาวดี ลมเข้ายาวออกสั้นดี หรือลมเข้าสั้นออกยาวดี ให้รู้ลักษณะของลมว่าอย่างไหนเป็นที่สบาย ก็ทำไปอย่างนั้นเรื่อยไป
ต้องทำให้ได้อย่างนี้ทั้ง ๓ เปราะ คือ เปราะแรกภาวนา พุทโธๆ ตั้งใจนึกด้วยสติหรือด้วยใจ เปราะที่สอง ให้สติอยู่กับลมเข้า พุท ลมออก โธ ไม่ลืมไม่เผลอ และเปราะที่สาม จิตนิ่ง ทั้ง พุทโธ เสีย สังเกตแต่ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว
๔. เมื่อทำได้เช่นนี้ ใจของเราจะนิ่ง ลมก็นิ่งเหมือนกับขันน้ำที่ลอยอยู่ในโอ่ง น้ำก็นิ่งขันก็นิ่ง เพราะไม่มีใครไปกด ไปเอียง ไปกระแทกมัน ขันนั้นก็จะลอยเฉยเป็นปกติอยู่บนพื้นน้ำ เหมือนกับเราขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดเขาสูงๆ หรือขึ้นไปลอยอยู่เหนิือเมฆ ใจของเราก็จะได้รับแต่ความสุขเยือกเย็น นี้ท่านเรียกว่าเป็น มหากุศล คือเป็น ยอด แก่น หรือรากเง่า ของกุศลทั้งหลาย
เมื่อดวงจิตของเราสงบ บุญต่างๆ ก็จะไหลเข้ามารวมอยู่ในดวงจิตของเรา คือความดีแล้วความดีในดวงจิตนั้นก็จะขยายตัวออกมาครอบทางกาย กายของเราก็จะหมดจากบาป ออกมาครอบทางวาจา ปากของเราก็จะหมดจากบาป ทางกายกรรมคือตาที่เราเคยสร้างบาปมา ทางหูที่เราเคยสร้างบาปมา และมือที่เราเคยสร้างบาปมา ฯลฯ ความดีที่เกิดจาการภาวนานี้มันจะขยายมาล้างตา มาชำระหู มาล้างมือ กายที่บาปด้วยสัมผัส บุญก็จะขยายมาล้าง ทีนี้กาย วาจา ตา หู จมูก ปาก และส่วนอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลายของเรา ก็จะเป็นของสะอาดหมด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น