วันหนึ่ง หลวงปู่ดู่ท่านมองไปที่ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งแล้วเอ่ยขึ้นว่า "ข้าตายแล้วต้องลงนรก" พอลูกศิษย์ได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจเรียนถามท่านในทันทีว่า"หลวงปู่จะตกนรกได้อย่างไร ในเมื่อหลวงปู่บำเพ็ญคุณงามความดีมามากออกอย่างนี้"
หลวงปู่ตอบกลับไปว่า "ข้าก็จะลงนรก เพื่อไปเตะพวกแกขึ้นมาน่ะสิ"
คำเตือนของหลวงปู่นั้น ชวนให้ศิษย์ทั้งหลายต้องมานึกทบทวนตัวเองว่าการที่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ครูบา อาจารย์นั้นก็มิใช่เป็นหลักประกันว่าจะไม่ลงนรก ตรงกันข้าม หลวงปู่ท่านได้พูดเตือนทำนองเดียวกันนี้หลายครั้งหลายหน เพราะช่องทางทำบาปของคนเรามีมากเหลือเกิน จนท่านเอ่ยว่า คนเราเป็นอยู่โดยบาปทั้งนั้น เพียงแต่ผู้ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ก็บาปน้อยหน่อย
หลวงปู่ท่านเป็นแบบอย่างที่หาได้ยากในเรื่องความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นหนี้สงฆ์ ถึงขนาดว่าก่อนที่ท่านจะมรณภาพไม่กี่วัน ท่านได้บอกช่องลับกับโยมอุปัฏฐากให้ทราบ เพื่อว่าจะได้สามารถเปิดประตูเข้ากุฏิท่านในกรณีฉุกเฉินได้ โดยไม่ต้องไปงัดประตู อันเป็นการทำลายของสงฆ์ ซึ่งในที่สุดก็มีเหตุให้ได้เปิดประตูกุฏิท่านผ่านทางช่องลับนั้นจริงๆ ในเช้าตรู่ของวันอังคารที่ 17 มกราคม 2533 อันเป็นวันที่ท่านละสังขาร
นอกจากนี้ ท่านยังได้พูดเตือนอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราอาจมองข้าม เป็นต้นว่า เอ่ยปากใช้พระหยิบโน่นหยิบนี่ ไม่ยกเว้นแม้กรณีขอให้พระท่านหยิบซองให้เพื่อจะใส่ปัจจัยถวาย การหยิบฉวยของสงฆ์ไปใช้ส่วนตัว การพูดชักไปในทางโลกในขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนาธรรม การส่งเสียงรบกวนผู้ที่กำลังปฏิบัติภาวนา การขายพระกิน ซึ่งเรื่องหลังนี้ ท่านพูดเอาไว้ค่อยข้างรุนแรงว่า ใครขายพระกิน จะฉิบหาย สมัยท่านยังมีชีวิต ท่านจะพูดกระหนาบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร ทานไม่ให้พูดคุยกัน จะทำกิจอันใดอยู่ ก็ให้มีสติ พยายามบริกรรมภาวนาไว้เรื่อยๆ เรียกว่าเกลี่ยจิตไว้ให้ได้ทั้งวัน เมื่อถึงคราวนั่งภาวนา จิตจะได้เป็นสมาธิได้เร็ว เวลาจิตจะโลภ จะโกรธ จะหลง ก็จะได้รู้ได้เท่าทัน
ดังที่หลวงปู่สอนว่า การตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเท่านั้น จึงจะช่วยให้เราห่างจากนรกได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องคอยสอบทานตัวเองอยู่เสมอๆ ว่าเราเข้าวัดเพื่ออะไร เพื่อความเด่นความดัง หวังลาภสักการะ หวังเป็นผู้จัดการพระ ผู้จัดการวัด ฯลฯ หรือเพื่อมุ่งละโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นตัวก่อทุกข์ก่อโทษข้ามภพข้ามชาติไม่รู้จักจบจักสิ้นที่มีอยู่ในใจ เรานี้
ปฏิปทาที่จะช่วยให้เราปลอดภัย และห่างไกลจากนรกคือ การเกรงกลัวและละอายใจในการทำบาปกรรม หรือสิ่งที่จะทำจิตใจเราให้เศร้าหมองขุ่นมัว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับหมู่คณะโดยไม่จำเป็น หากแต่ควรมุ่งเน้นการปฏิบัติภาวนาเป็นหลัก เป็นผู้พร้อมรับฟังคำตักเตือนของผู้อื่น โดยเฉพาะคำตักเตือนจากครูบาอาจารย์ อย่างที่ทางพระท่านสอนว่า ให้อดทนในคำสั่งสอน คิดเสียว่าท่านกำลังดุด่ากิเลสของเราอยู่
ท่อนซุงทั้งท่อน ถ้าไม่ได้ขวานช่วยสับช่วยบาก ไม่ได้กบไสไม้ ช่วยทำพื้นไม้หยาบๆ ให้เกลี้ยงเกลาขึ้น ไม่ได้กระดาษทรายช่วยขัดให้ไม้เรียบเนียน ไม่ถูกดัดถูกประกอบ ก็คงไม่กลายมาเป็นเครื่องเรือนเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจของเราที่หยาบอยู่ หากไม่ได้รับการขัดเกลาหรืออบรมจากครูอาจารย์ไม่ได้รับการอบรมด้วยธรรมของ พระพุทธเจ้า จิตใจนั้นก็ย่อมเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้
ครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์ได้โอกาสเรียนถามหลวงปู่ว่า "หลวงพ่อครับ ที่ว่าธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมนั้น ธรรมที่ว่านั้นท่านหมายถึงธรรมเรื่องใดครับ" เมื่อสิ้นเสียงคำถาม หลวงพ่อท่านก็ตอบในทันทีว่า "กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต"
ซึ่งคำสอนของท่านข้างต้น ก็เป็นการตอบให้ชัดอีกครั้งว่า อานิสงส์แห่งการประพฤติความดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจนี้แหละ จะกลับมารักษาเราไม่ให้ตกไปสู่โลกที่ชั่ว จึงเป็นหลักประกันที่ช่วยให้เราห่างไกลจากนรก อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถเข้าใกล้หลวงพ่อด้วยการเพิ่มพูนคุณธรรมความดีให้ ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อว่าในที่สุดจะได้ไม่ต้องรบกวนหลวงปู่ให้ต้องลำบากลงนรกมาสงเคราะห์ ศิษย์ ดังที่ท่านปรารภด้วยความห่วงใย ตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่..
พระผู้จุดประทีปกลางดวงใจ
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ